ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 22, 2016 13:53 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

(3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60
2.1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

2.2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

2.3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อข้าว เพื่อรอผลผลิตฤดูกาลใหม่ออกสู่ตลาด

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,987 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,012 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,753 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,717 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.42

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 25,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,950 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,610 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.70

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 778 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,746 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 774 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,795 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.52

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 645 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,174 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 642 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,226 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.47

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,439 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 432 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,955 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.78

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 409 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,061 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 418 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,471 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.15

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 428 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,714 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 441 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,267 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.95

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.3781 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2559/60 ประจำเดือนสิงหาคม 2559 ว่าจะมีผลผลิต 481.083 ล้านตันข้าวสาร (717.3 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 470.818 ล้านตันข้าวสาร (701.9 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.18 จากปี 2558/59

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2559/60 ณ เดือนสิงหาคม 2559 ว่าผลผลิต ปี 2559/60 จะมี 481.083 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2558/59 ร้อยละ 2.18 การใช้ในประเทศจะมี 478.827 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.10 การส่งออก/นำเข้าจะมี 40.630 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.46 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 113.766 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.02

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล เมียนมาร์ กัมพูชา อียูเวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย ปากีสถาน ปารากวัย อุรุกวัย และไทย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แองโกลา เฮติ อิรัก เคนย่า มาเลเซีย กานา เม็กซิโก โมแซมบิค เนปาล เซเนกัล สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล ไอเวอรี่โคสต์ อินโดนีเซีย อิหร่าน ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

อินเดีย-เวียดนาม

หนังสือพิมพ์เวียดนามอิโคโนมิคไทมส์ รายงานโดยอ้างสมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) ว่าได้ปรับลดคาดการณ์ส่งออกข้าวในปีนี้ลงร้อยละ 17 อยู่ที่ 4.75 ล้านตัน ซึ่งสุดในรอบ 8 ปี จากที่คาดการณ์ไว้ 5.7 ล้านตัน ในเดือนมิถุนายน 2559 ครั้งนี้เป็นการปรับลดการคาดการณ์ส่งออกข้าวเป็นครั้งที่ 2 ของปี เนื่องจากความต้องการซื้อข้าวจากตลาดต่างประเทศลดลงและการส่งออกข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น

บริษัทธุรกิจต่างชาติรายหนึ่งในนครโฮจิมินห์ ระบุว่า ประเทศผู้ซื้อข้าวสนใจซื้อข้าวจากเวียดนามเฉพาะช่วงที่ราคาปรับตัวลดลงเท่านั้น ขณะที่การปรับลดคาดการณ์ส่งออกข้าวไม่ได้ทำให้ต่างชาติต้องการซื้อข้าวเวียดนามมากขึ้น โดยราคาข้าวเวียดนามที่เก็บเกี่ยวช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2559 ปรับตัวลงตันละ 350-353 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.21-1.22 หมื่นบาท) จากเดิมอยู่ที่ตันละ 355 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.23 หมื่นบาท) ในสัปดาห์ก่อน

ทั้งนี้ VFA คาดการณ์ว่า ยอดส่งออกข้าวช่วงครึ่งปีหลังอาจอยู่ที่ 2.1 ล้านตัน หลังยอดส่งออกช่วงครึ่งปีแรกลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ปริมาณ 2.65 ล้านตัน

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.2559) พบว่า อินเดียส่งออกข้าว 5.8 ล้านตัน และขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งแซงไทยที่ส่งออกเป็นลำดับ 2 โดยไทยส่งออกปริมาณ 5.5 ล้านตัน สาเหตุที่อินเดียส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นผลจากการส่งออกข้าวนึ่งเป็นหลัก ซึ่งราคาข้าวนึ่งอินเดียตันละ 390 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาข้าวนึ่งไทยตันละ 470-480 ดอลลาร์สหรัฐ ห่างกันตันละเกือบ 90 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งกล่าวว่า “ปีนี้ไม่แน่นอนแล้วว่าไทยจะส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ได้หรือไม่ เพราะต้องจับตาสถานการณ์ส่งออกข้าวของอินเดียที่กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ไทยยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกข้าวทั้งปีไว้ที่ 9.5 ล้านตัน”

สำหรับกรณีที่เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณลดลงกว่าร้อยละ 20 เป็นผลจากที่จีนชะลอการนำเข้าข้าวจากเวียดนามทั้งหมด เนื่องจากราคาข้าวภายในจีนตกต่ำเพราะผลผลิตมีจำนวนมาก ทำให้สัดส่วนการส่งออกข้าวที่เวียดนามเคยส่งออกไปจีนร้อยละ 35 หายไป ส่งผลต่อตัวเลขข้าวในภาพรวมของเวียดนาม

นอกจากนี้ การส่งออกข้าวเก่าในตลาดแอฟริกาของเวียดนามถูกข้าวไทยชิงส่วนแบ่งตลาด เพราะข้าวเก่าไทยมีราคาถูกกว่าข้าวเวียดนาม โดยราคาข้าวเก่าไทยตันละ 340 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวเวียดนามตันละ 370 ดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้การส่งออกข้าวเวียดนามลดลง นายชูเกียรติ ระบุว่า “มีความเป็นห่วง หากจีนไม่นำเข้าข้าวจากเวียดนาม คาดว่าผลผลิตข้าวเวียดนามคงล้น และอาจส่งผลกระทบต่อข้าวไทยในตลาดใหม่ในส่วนการนำเข้าของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์” ที่มา หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

บรูไน-สปป.ลาว

หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์ รายงานว่า นายเปฮิน ลิม จ๊อก เซ็ง (Pehin Lim Jock Seng) รัฐมนตรีต่างประเทศและการค้าของบรูไนกล่าวแสดงความสนใจซื้อข้าวจากสปป.ลาว ระหว่างการพบปะกับนางเข็มมะนี พลเสนา รัฐมนตรีอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของสปป.ลาว ในการปะชุม 2 ฝ่าย ช่วงที่ สปป.ลาวจัดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 48 ที่นครเวียงจันทน์เวียงจันทน์ไทมส์ ระบุว่า สปป.ลาวเป็นประเทศส่งออกข้าวสำคัญประเทศหนึ่งของอาเซียน โดยส่งออกปีละ 300,000-400,000 ตันต่อปี ไปขายยังเวียดนาม จีน และบางประเทศในยุโรป อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเบลเยียม

ปัญหาสำคัญของการผลิตข้าวในสปป.ลาว ขณะนี้คือ ชาวนาส่วนใหญ่ปลูกข้าวเพื่อการบริโภคภายในครอบครัวมากกว่าจะปลูกขายและไม่นิยมนำระบบการปลูกข้าวสมัยใหม่มาใช้ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นให้ชาวนาปลูกข้าวมากขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออก

ปัจจุบันสปป.ลาวปลูกข้าวได้ 4.1 ล้านตันต่อปี มีส่วนเหลือจากการบริโภคประมาณ 1 ล้านตัน โดยรัฐบาลมีเป้าหมายเพิ่มการผลิตเป็น 5 ล้านตัน ภายในปี 2563 ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคภายในและเหลือส่งออกเวียงจันทน์ไทมส์ ระบุว่า เหตุที่ผลผลิตข้าวในสปป.ลาวเหลือจากการบริโภคในประเทศกว่า 1 ล้านตัน แต่ส่งออกได้เต็มที่ 400,000 ตัน เนื่องจากข้าวที่ชาวนาสปป.ลาวปลูกเป็นพันธุ์ข้าวที่นิยมบริโภคภายในประเทศ ไม่ใช่พันธุ์ที่นิยมในตลาดส่งออก ดังนั้นการเปลี่ยนสายพันธุ์ข้าวที่ใช้เพาะปลูกและการนำระบบการแปรรูปข้าวที่ทันสมัยมาใช้จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวของสปป.ลาว

เวียงจันทน์ไทมส์ ระบุว่า กระทรวงเกษตรและป่าไม้ ได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ กระตุ้นให้ภาคเอกชนของสปป.ลาวร่วมกันพัฒนาคุณภาพข้าว โดยทางการจะให้ความช่วยเหลือเรื่องการตลาดเพื่อแก้ปัญหาข้าวส่งออกได้น้อยนอกจากการให้ภาคเอกชนช่วยพัฒนาคุณภาพข้าวเพื่อการส่งออกแล้ว รัฐบาลยังได้ทำสัญญาการผลิตข้าวร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ ไทย เวียดนาม และจีน เพื่อพัฒนาข้าวสำหรับการส่งออก โดยคาดว่าสปป.ลาวสามารถส่งออกข้าวไปประเทศเพื่อนบ้านได้มากขึ้นจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งทำให้กำแพงภาษีหมดไป ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

ออสเตรเลีย

มีรายงานว่า ปี 2558 ออสเตรเลียประสบปัญหาภัยแล้งครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าว ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง โดยบริษัท SunRice สามารถผลิตข้าวได้เพียง 690,000 ตัน ลดลงจาก 830,000 ตัน เมื่อเทียบกับปีก่อน

สำหรับปี 2559 หน่วยงานด้านการเกษตรและทรัพยากร (The Australian Bureau of Agricultural and Resource Economics and Sciences) คาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวจะลดลงมากกว่าครึ่งของการเก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยจะเหลือเพียง 305,000 ตัน เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวของบริษัท SunRice ในเขต Riverina รัฐ New South Wales จะลดลงเหลือเพียง 300,000 ตัน จากปัญหาภัยแล้งและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น นาย Rob Gordon ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท SunRice เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เพื่อสนองความต้องการข้าวกว่า 1 ล้านตันต่อปี เป็นการขยายตลาดสินค้าพรีเมียมสู่ตลาดโลกต่อไป

ทั้งนี้ ผลผลิตข้าวของออสเตรเลียที่ลดลงจากภัยแล้ง ในขณะที่ความต้องการข้าวในประเทศสูงถึง 1 ล้านตันต่อปีจากแผนการขยายตลาดของบริษัท SunRice จะทำให้ปี 2559 ออสเตรเลียสามารถเพิ่มการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศมากขึ้น ถือเป็นโอกาสดีต่อการขยายการส่งออกข้าวไทยเพิ่มขึ้น แม้จะไม่มากนักเพราะเป็นตลาดค่อนข้างเล็ก โดยในปี 2558 ออสเตรเลียนำเข้าข้าวจากไทย 72,841 ตัน ลดลงร้อยละ 9 จากปีก่อน แต่ยังคงนำเข้าข้าวไทยเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วนร้อยละ 42.5 ของการนำเข้าข้าวของออสเตรเลียทั้งหมด และมากกว่าคู่แข่งสำคัญของไทย เช่น เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งมีสัดส่วนตลาดเพียงร้อยละ 3.5 และร้อยละ 0.9 ตามลาดับ แม้ข้าวเวียดนามและกัมพูชาจะมีราคาถูกกว่า แต่ข้าวไทยยังคงเป็นที่นิยมและมีคุณภาพสูงในกลุ่มผู้บริโภคและผู้นำเข้าออสเตรเลีย โดยคาดว่าปี 2559 การนำเข้าข้าวจากไทยจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 100,000 ตัน ที่มา สคต. ซิดนีย์

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 15 - 21 ส.ค. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ