ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 30, 2016 11:41 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59
โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

(3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60
2.1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

2.2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

2.3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการสั่งซื้อข้าว เพราะไม่มีคำสั่งซื้อใหม่จากประเทศคู่ค้า

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,003 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,987 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.15

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,729 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,753 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.28

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,950 บาท ราคาลดลงจากตันละ 25,025 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.30

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,850 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.77

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 777 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,712 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 778 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,746 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.13

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 614 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,109 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 645 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,174 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.81

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 388 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,339 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,439 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 7.62

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 381 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,098 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 409 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,061 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 6.85

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 399 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,717 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 428 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,714 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 6.78 หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.3789 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

มีรายงานว่า กระทรวงการค้า (the Ministry of Industry and Trade) ของเวียดนามเตรียมที่จะปรับโครงสร้างการส่งออกข้าวโดยจะเพิ่มสัดส่วนข้าวคุณภาพสูง ข้าวที่มีมูลค่าเพิ่ม ข้าวอินทรีย์ และข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยรัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาในช่วงปี 2559-2563 และวิสัยทัศน์ปี 2573

ทั้งนี้ ตามร่างยุทธศาสตร์การส่งออกข้าวจะเน้นไปที่การส่งออกข้าวเมล็ดยาวที่มีคุณภาพสูง โดยมีข้าวหักเป็นส่วนผสมประมาณร้อยละ 5-10 และลดการส่งออกข้าวที่มีส่วนผสมของข้าวหักมากกว่าร้อยละ 15 โดยที่ภายในปี 2563 สัดส่วนการส่งออกข้าวคุณภาพต่ำจะต้องมีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 15

ศูนย์ข้อมูลการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (Vietnam Industry and Trade Information Center; VITIC) รายงานว่า ปีนี้ปริมาณส่งออกข้าวของเวียดนามในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาลดลงมากที่สุด

VITIC เปิดเผยข้อมูลสถิติจากกรมศุลกากรเวียดนาม (Vietnam General Department of Customs) ว่าปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามในเดือนกรกฎาคม 286,688 ตัน มูลค่า 127.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 12 และร้อยละ 85 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาปริมาณการส่งออกข้าวลดลงกว่าร้อยละ 53 ขณะที่มูลค่าลดลงร้อยละ 50 ส่งผลให้รายได้ของตลาดข้าวภายในประเทศปรับตัวลงในเดือนกรกฎาคมด้วย

ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงมีแนวโน้มอ่อนตัวลง ท่ามกลางภาวะความต้องการข้าวในตลาดที่สำคัญทั้งเอเชียและแอฟริกาค่อนข้างเบาบาง ประกอบกับอุปทานข้าวฤดูใหม่ในตลาดมีมากขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่กดดันราคาข้าวในตลาดให้อ่อนตัวลง ทั้งนี้ ราคาเอฟโอบีข้าวขาว 5% จากฤดูการผลิตฤดูร้อน (summer-autumn rice) ปรับมาที่ 350-353 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ประมาณ 12,032-12,136 บาทต่อตัน) ลดลงจาก 355 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ข้าวขาว 25% ราคา 334-340 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ประมาณ 11,483-11,689 บาทต่อตัน) ลดลงจาก 335-340 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มา Oryza.com

ฟิลิปปินส์

สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (the National Economic and Development Authority; NEDA) ระบุว่า ฟิลิปปินส์ควรจะนำเข้าข้าวเพิ่มอีก 750,000 ตัน เพื่อเป็นการประกันว่าจะมีอุปทานข้าวเพียงพอสำหรับปะชากรในประเทศ โดยรัฐบาลจะต้องเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น อันเนื่องมากจากปัญหาที่อุปทานข้าวในประเทศลดลง ทั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมการที่จะซื้อข้าวจากต่างประเทศประมาณ 1 ล้านตัน ในช่วงปีนี้ไปจนถึงปีหน้า โดยได้มีการประกาศเปิดประมูลครั้งแรกจำนวน 250,000 ตัน ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ (31 สิงหาคม) ส่วนที่เหลืออีก 500,000 ตัน อาจจะใช้วิธีเจรจาซื้อข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (the government-to-government arrangement) และอีก 250,000 ตัน จะนำเข้าภายใต้ข้อตกลงกับองค์การการค้าโลก (the minimum access volume scheme)

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the Philippine Statistics Authority; PSA) รายงานว่า ปี 2559 ผลผลิตข้าวเปลือก ในช่วงไตรมาสที่สอง (เมษายน-มิถุนายน) จะมีประมาณ 3.715 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับจำนวน 3.956 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในช่วงครึ่งแรกของปี (มกราคม-มิถุนายน) คาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกจะมีประมาณ 7.647 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับจำนวน 8.324 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่สาม (กรกฎาคม-กันยายน) คาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกจะมีประมาณ 2.964 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับจำนวน 2.552 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้ (มกราคม-ธันวาคม) คาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกจะมีประมาณ 18.135 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับจำนวน 18.150 ล้านตัน ในปีที่ผ่านมา ที่มา Oryza.com

ปากีสถาน

สำนักงานสถิติปากีสถาน (The Pakistan Bureau of Statistics; PBS) รายงานว่า ในเดือนกรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2560/61 (กรกฎาคม-มิถุนายน) ปากีสถานส่งออกข้าวประมาณ 166,203 ตัน ลดลงร้อยละ 47 เมื่อเทียบกับจำนวน 316,177 ตัน ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับจำนวน 167,113 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2558/59 (กรกฎาคม-มิถุนายน) ปากีสถานส่งออกข้าวรวม 4,262,216 ตัน (ประกอบด้วยข้าวบาสมาติ 503,037 ตัน และข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ 3,759,179 ตัน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับจำนวน 3,861,406 ตัน (ประกอบด้วยข้าวบาสมาติ 523,450 ตัน และข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ 3,337,956 ตัน) ในปีงบประมาณ 2557/58 ขณะที่มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 1,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประกอบด้วยข้าวบาสมาติ 455.249 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ 1,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับมูลค่า 2,035 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประกอบด้วยข้าวบาสมาติ 601.268 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ 1,433 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2557/58 เนื่องจากราคาข้าวในตลาดโลกลดลงประกอบกับความต้องการข้าวจาก ต่างประเทศชะลอลง

สำหรับปีงบประมาณ 2557/58 (ก.ค.-มิ.ย.) ปากีสถานส่งออกข้าวรวมประมาณ 3.86 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.76 เมื่อเทียบกับจำนวน 3.72 ล้านตัน ในปีงบประมาณ 2556/57 โดยมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 2.035 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับ 2.163 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2556/57 โดยปากีสถานส่งออกข้าวบาสมาติจำนวน 523,450 ตัน (ลดลงร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับจำนวน 667,523 ตัน ในปีงบประมาณ 2556/57) และข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ 3.34 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับจำนวน 2.73 ล้านตัน ในปีงบประมาณ 2556/57) ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 22 – 28 ส.ค. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ