ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 5, 2016 13:05 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ

ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

(3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

2.1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

2.2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

2.3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อเพื่อรอผลผลิตช่วงฤดูกาลใหม่ออกสู่ตลาด

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,926 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,003 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.71

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,513 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,729 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.48

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,625 บาท ราคาลดลงจากตันละ 24,910 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.14

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,200 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.31

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.3458 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย-ฟิลิปปินส์

รายงานข่าวจากระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้เปิดประมูลนำเข้าข้าวขาว 25% ปริมาณ 250,000 ตัน โดยเปิดให้ 3 ประเทศเสนอราคา ได้แก่ ไทย เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งไทยเสนอราคาต่ำสุดที่ตันละ 424.85 ดอลลาร์สหรัฐ ปริมาณ 100,000 ตัน ซึ่งเป็นราคา CIF ที่รวมค่าระวางเรือ ค่าประกันภัย ค่าขนส่งจนถึงหน้าโกดังในฟิลิปปินส์ ขณะที่เวียดนามเสนอขาย 250,000 ตัน ในราคาตันละ 425 ดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังจากฟิลิปปินส์ต่อรองราคา เวียดนามยอมลดราคาขายลงมาเหลือเท่าไทยที่ตันละ 424.8 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การเสนอราคาขายข้าวให้กับฟิลิปปินส์ในครั้งนี้ ไทยชนะการประมูลขายปริมาณ 100,000 ตัน และเวียดนามปริมาณ 150,000 ตัน ในราคาเท่ากัน

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การที่ไทยชนะการประมูลขายข้าวให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์จะเป็นผลดีต่อราคาข้าวเปลือกในประเทศ เพราะฟิลิปปินส์ต้องการให้ส่งมอบข้าวใหม่หรือข้าวนาปี ปี 2559/60 ที่กำลังทยอยออกสู่ตลาดในขณะนี้ โดยล่าสุดราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ตันละ 8,500-9,000 บาท และคาดว่าราคาจะขยับขึ้นอีกหลังจากที่มีการซื้อข้าวเปลือกในตลาดเพื่อส่งมอบ

ขณะที่สมาคมโรงสีข้าวไทย แจ้งว่า ขณะนี้ราคาข้าวสารขาว 5% ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 11.70 บาท หรือตันละ 11,700 บาท จากช่วงต้นสัปดาห์ที่ราคากิโลกรัมละ 11.50 บาท หรือเพิ่มขึ้นตันละ 200 บาท ส่วนราคาส่งออกข้าวขาว 25% ปัจจุบันไทยอยู่ที่ตันละ 381 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเวียดนามตันละ 333 ดอลลาร์สหรัฐ

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวว่า จะส่งผลให้ราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้น เพราะฟิลิปปินส์ต้องการข้าวใหม่และมีระยะเวลาส่งมอบ 2 เดือน คือเดือนกันยายนและตุลาคมนี้ ซึ่งหลังจากนี้กรมการค้าต่างประเทศจะนำออเดอร์ดังกล่าวมาให้สมาคมฯ จัดสรรให้กับสมาชิกเพื่อหาข้าวในตลาดส่งมอบ ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ตลาดข้าวเอเชียส่อแววฟื้น

ไคลด์ รัสเซลล์ คอลัมนิสต์ของสำนักข่าวรอยเตอร์แสดงทัศนะว่า ตลาดข้าวเอเชียมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดย การซื้อขายจะเริ่มเป็นไปตามกลไกอุปสงค์และอุปทานของตลาดมากขึ้น เนื่องจากตลาดข้าวไทยเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังโครงการรับจำนำข้าวของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่งผลกระทบให้ตลาดข้าวเกิดความปั่นป่วนไปก่อนหน้านี้ รัสเซลล์อ้างสภาธัญพืชนานาชาติ ว่า ผลผลิตข้าวทั่วโลกสำหรับปี 2559-2560 อยู่ที่ 484 ล้านตัน ลดลงจากคาดการณ์ในเดือนก่อนหน้านี้ที่ 487 ล้านตัน ซึ่งปริมาณข้าวดังกล่าวถือว่ามีความเหมาะสม ในขณะที่อินเดียและไทยกำลังเร่งระบายสต็อกข้าวที่อยู่ในระดับสูง

รอยเตอร์มองว่า สถานการณ์ตลาดข้าวกำลังเริ่มที่จะกลับสู่ภาวะสมดุล เนื่องจากรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันยุติโครงการรับจำนำข้าว และเริ่มระบายข้าวที่อยู่ในสต็อกจากโครงการดังกล่าว ซึ่งรายงานระบุว่ามีปริมาณสูงกว่า 20 ล้านตัน ทั้งนี้ กระบวนการระบายข้าว คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะโดยไทยวางแผนระบายข้าวอีก 1 ล้านตันในเดือนสิงหาคม ซึ่งน่าจะลดปริมาณข้าวในสต็อกลงเหลือประมาณ 8 ล้านตัน

แม้ว่าเมื่อเดือนที่ผ่านมา ราคาข้าวขวา 5% ของไทยจะลดลงถึงร้อยละ 15 อยู่ที่ 376.50 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.3 หมื่นบาท) แต่การปรับตัวลงดังกล่าวคาดว่าเป็นไปตามกลไกตลาดมากกว่า

ด้านสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดการณ์ว่า ยอดการส่งออกข้าวไทยจะอยู่ที่ 9.5 ล้านตัน ในปี 2559 ซึ่งตัวเลขการส่งออกช่วง 6 เดือนแรกของปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากความต้องการซื้อข้าว จีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ได้เพิ่มสัดส่วนการซื้อเกือบร้อยละ 23 จากปีก่อน อยู่ที่ 2.141 ล้านตัน ในช่วง 7 เดือนแรกของปี

ขณะที่ผลผลิตข้าวของจีนช่วงต้นปี 2559 ลดลงร้อยละ 2.7 อยู่ที่ 32.8 ล้านตัน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจีนจะนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด หลังจากในช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม ไทยส่งออกข้าวไปจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 31 อยู่ที่ 5.5 แสนตัน ด้านฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่อีกรายนำเข้าข้าวเพิ่มเช่นกัน โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์วางแผนซื้อข้าว 1 ล้านตัน จนถึงปีหน้า ขณะที่ราคาข้าวอยู่ในระดับไม่สูงมาก นอกจากนี้ราคาข้าวปัจจุบันของไทยยังดึงดูดผู้ซื้อในตะวันออกกลางและแอฟริกาด้วย ที่มา หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

ไนจีเรีย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงอาบูจา รายงานสถานการณ์ข้าวไทยในตลาดไนจีเรีย ซึ่งเป็นตลาดข้าวนึ่งหลักที่สำคัญของไทย ในช่วงปลายปี 2559 ถึงต้นปี 2560 คาดว่า ผลผลิตข้าวของไนจีเรียในฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้ทั้งที่เก็บเกี่ยวไปแล้วและกำลังเก็บเกี่ยวจะมีปริมาณ 2.7 ล้านตันข้าวสาร พื้นที่เพาะปลูก 15.625 ล้านไร่ และปริมาณข้าวนี้จะใช้สำหรับการบริโภคจนถึงช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวในปีหน้า ซึ่งปริมาณผลผลิตดังกล่าวยังคงเป็นปริมาณที่ไนจีเรียผลิตได้ตามปกติไม่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลได้ประกาศนโยบายเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในปี 2560 ก็ตาม ขณะที่ปริมาณการบริโภคข้าวของไนจีเรียหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีนี้จนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีหน้า คาดว่า จะมีปริมาณ 5.2 ล้านตัน ดังนั้นไนจีเรียจึงมีความต้องการนำเข้าข้าวประมาณ 2.5 ล้านตัน

สำนักงานฯ คาดว่า หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีนี้จนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีหน้า ไนจีเรียจะนำเข้าข้าวทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายประมาณ 1.5-1.8 ล้านตันเท่านั้น (เกิดอุปทานส่วนขาดประมาณ 7 แสน – 1 ล้านตัน) และในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2559 คาดว่า การนำเข้าข้าวของไนจีเรียจะชะลอตัวลงกว่าทุกปี แม้ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ที่ชาวไนจีเรียนิยมให้ข้าวเป็นของขวัญก็ตาม เนื่องจากสาเหตุเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่ห้ามผู้นำเข้าข้าวแลกซื้อเงินตราต่างประเทศจากสถาบันการเงินที่เป็นทางการของไนจีเรีย รวมทั้งการห้ามนำเข้าข้าวผ่านชายแดนทางบกของไนจีเรีย การขาดแคลนเงินตราต่างประเทศในตลาดแลกเงินที่ไม่เป็นทางการ กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย

สำหรับอุปทานข้าวที่ขาดหายไปจากตลาด นั้น ชาวไนจีเรียจะหันไปบริโภคอาหารเพื่อการดำรงชีพอื่นทดแทนข้าว เช่น ผลิตภัณฑ์แป้งและขนมปังจากมันสำปะหลัง หัวแยม (ลักษณะหัวคล้ายมันสำปะหลัง) มันเทศ เป็นต้น

สำนักงานฯ คาดว่าข้าวไทยจะถูกส่งเข้าไปในประเทศไนจีเรียในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ประมาณ 2 แสนตัน โดยเป็นการส่งผ่านประเทศเบนินมากที่สุดประมาณ 150,000 ตัน ผ่านประเทศแคเมอรูน 40,000 ตัน และไนจีเรียนำเข้าโดยตรงประมาณ 10,000 ตัน ดังนั้น ปี 2559 คาดการณ์ว่า ข้าวไทยจะถูกส่งเข้าไปในประเทศไนจีเรีย (ทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย) ประมาณ 8 แสนตัน และยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณข้าวที่นำเข้าทั้งหมดของไนจีเรียไว้ได้ สำนักงานฯ คาดว่าในช่วงต้นปี 2560 ไนจีเรียจะประสบปัญหาภาวะขาดแคลนข้าว และราคาขายปลีกสูงมาก จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ไนจีเรียจะเปิดการเจรจาซื้อข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลกับประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ในเร็วๆ นี้โดยรัฐบาลไนจีเรียได้เริ่มทาบทามประเทศผู้ส่งออกข้าวเพื่อสำรวจความพร้อมในการดำเนินนโยบายดังกล่าวร่วมกันแล้ว

ทั้งนี้ หากมีการเปิดการเจรจาการซื้อขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลกับประเทศไทย สำนักงานฯ พิจารณาเห็นว่า การซื้อขายแบบเงินสดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และทางเลือกรองลงมาคือ การทำ Barter Trade ข้าวแลกน้ำมันเพื่อป้องกันการผิดนัดชำระเงินในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันไนจีเรียมีปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มา สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงอาบูจา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 29 ส.ค. – 4 ก.ย. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ