ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 19, 2016 15:45 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจาก ภาวะการค้าข้าวในตลาดยังคงซบเซาจากสภาพเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ประเทศผู้ซื้อข้าวจากไทย โดยเฉพาะในตลาดแอฟริกามีคำสั่งซื้อเข้ามาไม่มาก ผู้ประกอบการจึงชะลอการรับซื้อ

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,727 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,838 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.02

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,052 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,222 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.06

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,550 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,150 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 771 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,683 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 779 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,797 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.03

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 579 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,038 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 601 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,674 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.66

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 384 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,290 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 388 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,347 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.03

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 378 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,082 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 382 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,141 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.05

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 390 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,497 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,760 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.50

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.6082 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

กระทรวงเกษตร (the Ministry of Agriculture and Rural Development; MARD) รายงานว่า เดือนสิงหาคมเวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 432,000 ตัน โดย 8 เดือนแรกส่งออกประมาณ 3.37 ล้าน ตัน ลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนแรกเวียดนามส่งออกไปจีนประมาณ 1 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36 และส่งออกไปอินโดนีเซียประมาณ 0.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีสหภาพยุโรปและเวียดนาม (the EU-Viet Nam Free Trade Agreement or EVFTA) นั้น สหภาพยุโรป (The European Union: EU) ให้โควตานำเข้าข้าวในอัตราภาษี 0% แก่เวียดนาม ปีละ 80,000 ตัน ประกอบด้วย ข้าวสาร (milled rice) จำนวน 30,000 ตัน ข้าวกล้อง (husked rice) 20,000 ตัน และข้าวหอม (fragrant rice) จำนวน 30,000 ตัน นอกจากนี้ยังจะลดภาษีนำเข้าข้าวหัก (broken rice) 50% เป็นเวลา 5 ปี ด้านผู้เชี่ยวชาญของเวียดนามได้ให้ความเห็นว่า สิทธิพิเศษทางภาษีที่เวียดนามได้จากสหภาพยุโรปในครั้งนี้ จะช่วยลดภาระทางด้านภาษีประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

เมียนมาร์

สหพันธ์ข้าวเมียนมาร์แจ้งว่า อินโดนีเซียตกลงจะซื้อข้าวจากเมียนมาร์จำนวน 300,000 ตัน มากกว่าครึ่งหนึ่งสำรองไว้เพื่อการส่งออกทั้งหมด ซึ่งมีจำนวน 500,000 ตัน หลังรัฐบาลทั้งสองประเทศได้ลงนามข้อตกลงซื้อข้าวตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 โดยในข้อตกลงเดิมนั้นเมียนมาร์ตั้งเป้าจะส่งออกข้าวให้อินโดนีเซีย 100,000 ตัน ในปีงบประมาณ 2558/59 แต่เนื่องจากเกิดอุทกภัยเป็นวงกว้างจึงทำให้ส่งออกได้เพียง 20,000 ตันเท่านั้น เว็บไซต์สำนักงานข่าวซินหัวของจีน รายงานว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559/60 เมียนมาร์ส่งออกข้าวแล้วจำนวน 400,000 ตัน ลดลง 200,000 ตัน จากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2558/59 ทั้งนี้ เมียนมาร์กำลังขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ด้วยการบุกตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และประเทศในแอฟริกา ที่มา หนังสือพิมพ์แนวหน้า

สหภาพยุโรป

สหภาพยุโรป (the European Union; EU) รายงานการนำเข้าข้าวในปีการผลิต 2558/59 (1 กันยายน-31 สิงหาคม) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558-30 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา EU นำเข้าข้าวแล้ว 1,251,403 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับจำนวน 1,187,042 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการนำเข้าข้าวสายพันธุ์ Japonica ประมาณ 100,858 ตัน ลดลงร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับจำนวน 108,479 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ข้าวสายพันธุ์ Indica นำเข้าประมาณ 1,150,545 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับจำนวน 1,078,563 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 สิงหาคม 2559 สหภาพยุโรปนำเข้าข้าวประมาณ 14,920 ตัน สหราชอาณาจักรยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ โดยช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558-30 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการนำเข้าประมาณ 272,816 ตัน ฝรั่งเศส 200,536 ตัน เนเธอร์แลนด์ 144,655 ตัน เยอรมนี 99,541 ตัน โปแลนด์92,782 ตัน อิตาลี 91,438 ตัน สเปน 73,615 ตัน เบลเยี่ยม 61,059 ตัน โปรตุเกส 53,815 ตัน เป็นต้น ในปีการผลิต 2557/58 (กันยายน-สิงหาคม) สหภาพยุโรปนำเข้าข้าวประมาณ 1.143 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.013 ล้านตัน ในปีการผลิต 2556/57 สำหรับการส่งออก สหภาพยุโรป (the European Union; EU) รายงานว่า การส่งออกข้าวในปีการผลิต 2558/59 (1 กันยายน-31 สิงหาคม) ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558-30 สิงหาคม 2559 มีการส่งออกข้าวประมาณ 236,553 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับจำนวน 229,820 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการส่งออกข้าวสายพันธุ์ Japonica ประมาณ 199,799 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับจำนวน 195,505 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ข้าวสายพันธุ์ Indica ส่งออกประมาณ 36,754 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับจำนวน 34,315 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 สิงหาคม สหภาพยุโรปส่งออกข้าวประมาณ 3,484 ตัน อนึ่ง ประเทศผู้ส่งออกข้าวในสหภาพยโรปนั้น อิตาลีถือเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558-23 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการส่งออกไปแล้ว 119,325 ตัน กรีซ 37,280 ตัน สเปน 26,401 ตัน โปรตุเกส 20,302 ตัน บัลแกเรีย 11,729 ตัน สหราชอาณาจักร 5,720 ตัน เป็นต้น ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 12 - 18 ก.ย. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ