ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 27, 2016 13:56 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60
1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตฤดูกาลใหม่เริ่มทยอยออกสู่ตลาด ขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังมีเข้ามาไม่มาก

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,659 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,727 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.63

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,050 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,052 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.03

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,550 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,150 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 760 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,247 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 771 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,683 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.43

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 582 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,100 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 579 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,038 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.52

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 386 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,331 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 384 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,290 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.52

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 379 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,089 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 378 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,082 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 392 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,538 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 390 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,497 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.51 หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.5357 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2559/60 ประจำเดือนกันยายน 2559 ว่าจะมีผลผลิต 481.729 ล้านตันข้าวสาร (718.2 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 471.693 ล้านตันข้าวสาร (703.2 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.13 จากปี 2558/59

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2559/60 ณ เดือนกันยายน 2559 ว่าผลผลิต ปี 2559/60 จะมี 481.729 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2558/59 ร้อยละ 2.13 การใช้ในประเทศจะมี 478.804 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.14 การส่งออก/นำเข้าจะมี 40.880 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.90 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 115.603 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.60

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล เมียนมาร์ กัมพูชา อียูเวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย ปากีสถาน ปารากวัย อุรุกวัย และไทย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แองโกลา เฮติ อิรัก เคนย่า มาเลเซีย เม็กซิโก โมแซมบิค เนปาล เซเนกัล สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล ไอเวอรี่โคสต์ คิวบา อินโดนีเซีย อิหร่าน ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยสถิติการส่งออกข้าววันที่ 1 มกราคม- 6 กันยายน 2559 ว่าอินเดียส่งออกข้าวรวม 6.9 ล้านตัน มากสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก รองลงมาคือ ไทยส่งออก 6.4 ล้านตัน เวียดนามส่งออก 3.2 ล้านตัน ปากีสถานส่งออก 2.5 ล้านตัน และสหรัฐอเมริกา 2.3 ล้านตัน ซึ่งสมาคมฯ คาดว่า ปี 2559 ไทยจะสามารถส่งออกได้ 9.4-9.5 ล้านตัน แต่จะแซงอินเดียกลับมาเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกได้หรือไม่ ต้องคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

ทั้งนี้ กรณีที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จะหารือกับผู้ประกอบการข้าวทุกกลุ่ม ทั้งผู้ส่งออก โรงสี และเกษตรกร เพื่อหารือแนวทางเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา โดยอาจออกมาตรการดูแลราคาข้าวเพิ่มเติม เพราะเป็นห่วงราคาอาจตกต่ำในช่วงที่ผลผลิตออกมากตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะเสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินตรงให้กับชาวนาตันละ 2,000 บาท เพื่อเพิ่มอำนาจซื้อ โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับกลไกตลาด อาจช่วยเหลือชาวนาที่มีพื้นที่ปลูกข้าวไม่เกิน 20ไร่/ครัวเรือน รวม 3 ล้านครัวเรือน งบประมาณ 40,000 ล้านบาท “เป็นห่วงว่าผลผลิตข้าวเปลือกปี 2559/60 ที่จะออกสู่ตลาด 30-31 ล้านตันข้าวเปลือก เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดที่ปริมาณเพาะปลูกไม่เกิน 27.7 ล้านตันข้าวเปลือก แบ่งเป็นข้าวเปลือกนาปี ปี 2559/60 ประมาณ 23-24 ล้านตัน และนาปรังปี 2560 อีก 8-9 ล้านตัน เพาะปริมาณน้ำฝนดีขึ้นทำให้ทั่วโลกมีปริมาณผลผลิตมากขึ้น ส่งผลให้การผลักดันราคาทำได้ลำบาก ส่วนการผลักดันการส่งออกต้องแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี ความต้องการยังไม่เพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตมีมากกว่าคาดการณ์”

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การดึงราคาข้าวในประเทศให้สูงขึ้น ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ เร่งระบายข้าวออกจากสต็อกรัฐบาลเพราะเป็นแรงกดดันให้ข้าวราคาลดลงมาก โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่จะออกมาในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ ซึ่งทำให้ตลาดไม่ซื้อข้าวใหม่แต่จะรอการระบายข้าวจากสต็อกของรัฐบาลซึ่งมีราคาถูก แม้การเร่งระบายข้าวจะส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดลดลง แต่จำเป็นต้องดำเนินการเพราะหากเก็บไว้นานราคาข้าวในสต็อกจะยิ่งลดลง ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เวียดนาม

สมาคมอาหารของเวียดนาม (the Viet Nam Food Association; VFA) คาดว่าในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2559 (กันยายน-ธันวาคม) เวียดนามจะสามารถส่งออกข้าวได้ประมาณ 1.6 ล้านตัน ทำให้ปีนี้เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 4.9 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้ผู้ส่งออกมีสัญญาส่งมอบข้าวที่ยังค้างอยู่ประมาณ 1 ล้านตันแล้ว ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม) เวียดนามส่งออกข้าวแล้วประมาณ 3.3 ล้านตัน มูลค่า 1.43 พันล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 13.5 และร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ด้านวงการค้าระบุว่า สินค้าข้าวที่อยู่ในมือผู้ส่งออกมีต้นทุนสูงกว่าราคาข้าวในปัจจุบัน ขณะที่แนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง จึงคาดว่าราคาข้าวในประเทศยังไม่มีสัญญาณที่จะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ แม้ว่าผู้ส่งออกจะมีการทำสัญญาขายข้าวแล้วก็ตาม

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในเดือนกรกฎาคม 2559 เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 228,222 ตัน ลดลงร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับจำนวน 335,540 ตัน ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และลดลงร้อยละ 53 เมื่อเทียบกับจำนวน 606,485 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตลาดส่งออกที่สำคัญในเดือนกรกฎาคม 2559 ประกอบด้วย ตลาดเอเชียจำนวน 213,762 ตัน ตลาดแอฟริกาจำนวน 39,948 ตัน ตลาดอเมริกาจำนวน 5,306 ตัน ตลาดยุโรปและเครือรัฐเอกราช (Europe and CIS countries) จำนวน 11,317 ตัน และตลาดออสเตรเลียจำนวน 11,889 ตัน ซึ่งแยกเป็นข้าวขาว 15% จำนวน 48,934 ตัน ข้าวขาว 5% จำนวน 45,341 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 4,686 ตัน ข้าวหอม (Jasmine rice) จำนวน 66,150 ตัน ข้าวเหนียว จำนวน 59,561 ตัน ข้าวขาว 10%, 100% และข้าวชนิดอื่นๆรวมจำนวน 57,550 ตัน ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินโดนีเซีย

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่า ในปีการตลาด 2558/59 อินโดนีเซียจะมีพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 75 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีประมาณ 73.75 ล้านไร่ ทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกในปีการตลาด 2558/59 เพิ่มขึ้นเป็น 36.2 ล้านตัน จาก 35.6 ล้านตันในปีก่อนหน้า ปริมาณผลผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนี้ ทำให้คาดว่า ความต้องการนำเข้าข้าวจะลดลงเหลือ 1.8 ล้านตัน ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีการนำเข้าประมาณ 2.0 ล้านตัน ที่มา Oryza.com

อินเดีย

กระทรวงเกษตรรายงานความคืบหน้าการเพาะปลูกข้าวฤดูการผลิตหลัก (Kharif (main) rice crop) ในปีการผลิต 2559/60 (ระหว่างเดือนมิถุนายน-ธันวาคม) ณ วันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมาว่า มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 238.75 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับ 232.34 ล้านไร่ ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

รัฐบาลอินเดียประกาศว่า ราคารับซื้อข้าวเปลือกขั้นต่ำ (the minimum support prices; MSP) สำหรับฤดูการผลิตหลัก (Kharif crops) ของปีการผลิต 2559/60 มีการเพาะปลูกในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-ธันวาคม ได้เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มเร็วกว่าทุกๆ ปี ที่มักจะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายนรัฐบาลได้ประกาศปรับเพิ่มราคารับซื้อข้าวขั้นต่ำ (MSP) ฤดูการผลิต khar

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 19 – 25 กันยายน 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ