ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 4, 2016 14:22 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60
1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงเก็บเกี่ยวบางพื้นที่มีฝนตก ส่งผลให้ข้าวเปลือกมีความชื้นสูง ประกอบกับต่างประเทศมีคำสั่งซื้อเข้ามาไม่มาก

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,567 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,659 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.87

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,673 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,050 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.68

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,350 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,900 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,150 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.06

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 764 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,258 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 760 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,247 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.53

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 570 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,590 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 582 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,100 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.06

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 379 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,026 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 386 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,331 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.81

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,888 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 379 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,089 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.06

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 385 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,232 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 392 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,538 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.79

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.3687 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยระบุว่า การส่งออกข้าวในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-ก.ค.) มีปริมาณรวม 5,438,898 ตัน มูลค่า 85,819 ล้านบาท (2,428 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกปริมาณ 5,192,870 ตัน มูลค่า 83,753 ล้านบาท (2.566 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการส่งออกข้าวปริมาณ 443,736 ตัน มูลค่า 7,881 ล้านบาท ทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 40 และร้อยละ 32 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2558 ที่ส่งออกปริมาณ 734,947 ตัน มูลค่า 11,610 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 มีการส่งออกปริมาณ 713,576 ตัน มูลค่า 11,466 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 38 และร้อยละ 31 ตามลำดับ ส่วนในเดือนสิงหาคม คาดว่าปริมาณส่งออกข้าวจะมีประมาณ 500,000 ตัน เนื่องจากในช่วงนี้ภาวะการค้าข้าวในตลาดยังคงซบเซา เพราะประเทศผู้ซื้อที่สำคัญโดยเฉพาะในตลาดแอฟริกายังคงมีกำลังซื้อน้อย ซึ่งเป็นผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รวมถึงนโยบายภายในประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้า ทำให้การสั่งซื้อข้าวแต่ละครั้งมีปริมาณไม่มาก ขณะที่บางส่วนเปลี่ยนไปซื้อจากแหล่งที่ราคาถูกกว่า เช่น อินเดีย เป็นต้น หรืออาจจะหันไปบริโภคธัญพืชในประเทศที่มีราคาถูกกว่าแทน

นอกจากนี้ การที่ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยราคาข้าวของไทยที่ประกาศโดย สมาคมฯ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2559 ข้าวขาว 5% ราคา 388 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (เอฟโอบี) ในขณะที่ราคาข้าวของประเทศคู่แข่งซึ่งรายงานโดยเว็บไซต์ Riceonline.com ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2559 ข้าวขาว 5% ของเวียดนามราคา 342 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (เอฟโอบี) อินเดีย 355 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (เอฟโอบี) และปากีสถาน 340 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (เอฟโอบี) ที่มา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

เมียนมาร์

เมียนมาร์กำลังเตรียมที่จะทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับอินโดนีเซียเพื่อส่งออกข้าวปีละ 500,000 ตัน ให้ประเทศในหมู่เกาะแห่งนี้ไปจนถึงปี 2562 กระทรวงพาณิชย์เมียนมาร์ แถลงว่า แต่เดิมรัฐบาลอินโดนีเซียมีแผนนำเข้าข้าวจากเมียนมาร์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 เพื่อนำไปสำรองเพิ่มเติมกรณีที่การนำเข้าข้าวจากเวียดนามและไทย ไม่เพียงพอที่จะสร้างเสถียรภาพให้ราคาจำหน่ายในท้องถิ่นได้ อย่างไรก็ตาม แผนการดังกล่าวได้เลื่อนออกไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากอินโดนีเซียมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมาร์มีแผนที่จะเดินทางไปเยือนอินโดนีเซียภายในเดือนนี้เพื่อลงนามใน MOU ดังกล่าว อินโดนีเซียถือเป็นตลาดข้าวใหม่ของเมียนมาร์ ซึ่งที่ผ่านมาร้อยละ 90 ของข้าวที่ส่งออกเป็นการส่งออกไปยังตลาดจีน ทั้งนี้ สหพันธ์ข้าวเมียนมาร์ (MRF) กำลังหาลู่ทางเพิ่มยอดขายข้าวให้อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น โดยรัฐบาลเมียนมาร์และอินโดนีเซียทำข้อตกลงแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) มาตั้งแต่ปี 2556 แต่อินโดนีเซียเพิ่งจะติดต่อขอซื้อข้าวจากเมียนมาร์ในปีที่แล้ว และภายใต้ข้อตกลงเดิมที่รัฐบาลชุดเก่าของเมียนมาร์ทำไว้กับกรุงจาการ์ตา นั้น เมียนมาร์จะส่งออกข้าวไปยังอินโดนีเซียประมาณ 100,000 ตัน ในปีงบประมาณ 2558/59 แต่เนื่องจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศ ทำให้เมียนมาร์จัดหาข้าวส่งออกไปได้เพียง 20,000 ตัน

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาร์ คาดการณ์ว่า MOU ฉบับใหม่ระหว่าง 2 ประเทศ จะสามารถช่วยให้เมียนมาร์ส่งออกข้าวได้มากขึ้นหรือมากกว่าร้อยละ 20 ของปริมาณส่งออกข้าวทั้งหมดในปีงบประมาณ 2558/59 ที่ 1.3 ล้านตัน ซึ่งลดลงจากปีงบประมาณ 2557/58 ที่เมียนมาร์มียอดส่งออกข้าวรวมที่ 1.5 ล้านตัน ข้าวเมียนมาร์นอกจากส่งออกไปยังอินโดนีเซียแล้ว ยังได้รับความสนใจจากฟิลิปปินส์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องราคา โดยนายเนย์ สิน ชิน เลขาธิการร่วม MRF กล่าวว่า สัญญาขายข้าวฉบับใหม่ที่จะมีผู้ส่งออกและผู้ซื้อภาคเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วนั้น ถือเป็นการเคลื่อนไหวในเชิงบวกสำหรับอุตสาหกรรมท้องถิ่น และถึงเวลาแล้วที่เมียนมาร์จะต้องขยายความสัมพันธ์ทางการค้าในวงกว้างเพื่อหาตลาดใหม่ๆ หลังจากพึ่งพาการส่งออกข้าวไปยังจีนมากเกินไป ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวเพื่อขยายตลาดข้าวของเมียนมาร์ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เวียดนามซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก กำลังเผชิญกับปริมาณการส่งออกข้าวที่ลดลง โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าว 3.3 ล้านตัน มูลค่า 1,430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการส่งออกที่ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า ร้อยละ 13.5 และ ร้อยละ 10 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558

แม้เวียดนามจะมีความหวังว่า ในช่วง 4 เดือนที่เหลือจะส่งออกข้าวให้ได้ 1.6 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้ยอดรวมการส่งออกข้าวอยู่ที่ 4.9 ล้านตัน แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญภายในอุตสาหกรรมชี้ว่า ปริมาณข้าวสำรองที่มีอยู่เป็นข้าวที่รับซื้อมาในราคาสูง แต่ราคาข้าวในตลาดโลกกลับปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะขายข้าวได้

นายหลำ ฮันห์ ตวน ผู้อำนวยการธินห์พัดโค ซึ่งเป็นบริษัทค้าข้าวในเวียดนาม กล่าวว่า ปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามปีนี้น่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ พร้อมชี้ว่าความพยายามของไทยที่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกในช่วงเวลาที่ความต้องการข้าวในตลาดโลกชะลอตัว เป็นหนึ่งในหลายเหตุผลที่ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกร่วงลงด้วย โดยปกติแล้ว ปริมาณข้าวที่ซื้อขายกันในตลาดโลกจะอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านตันต่อปี ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันไม่ว่าจะมาจากแหล่งจัดหาใดก็ตาม จะส่งผลกระทบต่อส่วนแบ่งตลาดของผู้ค้ารายอื่นๆ โดยในปีนี้ สมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) ตั้งเป้า

การส่งออกข้าวไว้ที่ 6.5 ล้านตัน แต่ความผันผวนของตลาดทำให้ต้องปรับเป้าหมายใหม่ลงมาอยู่ที่ 4.9 ล้านตัน แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครที่จะคาดการณ์ได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับตลาด ถ้าตลาดดีตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงสิ้นปี ก็จะทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น

ข้อมูลจาก VFA แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกข้าวผ่านด่านชายแดนไปยังจีนลดลงถึงร้อยละ 13.3 หลังจากจีนประกาศให้การค้าข้าวทุกประเภทตามชายแดนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการลักลอบนำเข้า ขณะที่ราคาข้าวในประเทศเวียดนามเองก็ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เพราะมีข้าวจากกัมพูชาเข้ามาในตลาดท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ที่มา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 26 กันยายน – 2 ตุลาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ