1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60
(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)
(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)
(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)
(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)
(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)
(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)
(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)
(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)
(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)
(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)
(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)
(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)
(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)
(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)
(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)
(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิที่เกษตรกรขายได้ ราคาลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ ที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรบางพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวในช่วงฝนตก ส่งผลให้ข้าวมีความชื้นสูง
1.2 ราคา
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,378 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,722 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.54
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,408 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,555 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.94
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 23,475 บาท
ราคาลดลงจากตันละ 23,775 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.26
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,400 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,500 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.87
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 725 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,222 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 727 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,348 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.28
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 491 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,081 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 521 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,165 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.76
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 369 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,837 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 370 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,900 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 365 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,698 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 28 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 381 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,255 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 382 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,319 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.26
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.7892 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วง 7 สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศจีนมีความต้องการข้าวที่ส่งออกไปทางแนวชายแดน ขณะที่ผลผลิตข้าวในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงได้รับความเสียหายจากภาวะฝนที่ตกหนัก ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาข้าวขาว 5% เอฟโอบี ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 350-355 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นจาก 345-350 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
รายงานข่าวจากเว็บไซต์พนมเปญโพสต์ ระบุว่า ในเร็วๆ นี้ประเทศกัมพูชาและอินโดนีเซียเตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (เอ็มโอยู) ในโควตาการส่งออกข้าวระหว่างสองประเทศ นางแซง โซฟารี โฆษกกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา เปิดเผยว่า การทำเอ็มโอยูระหว่างประเทศกัมพูชาและอินโดนีเซียในขณะนี้มีความพร้อมทุกอย่าง มีการตกลงกันระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการ ซึ่งโควตาใหม่ที่กัมพูชาเสนอเป็นการเพิ่มโอกาสการส่งออกข้าวของประเทศเพื่อเป็นตลาดจัดหาข้าวแห่งใหม่ของโลกในราคาที่ยุติธรรม ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในปี 2558 กัมพูชามีกำลังการผลิตข้าวที่มีการเก็บเกี่ยวอย่างถูกต้อง ไว้ในโกดังประมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเข้าใจผิดของสื่อมวลชนท้องถิ่นที่อ้างว่ารัฐบาลเจรจาส่งออกข้าว 1 ล้านตัน ไปยังประเทศมาเลเซีย โดยข้อมูลที่ถูกต้องนั้นมีเพียงโครงการที่ร่วมกับประเทศอินโดนีเซียรายเดียวเท่านั้น
นายเฮียน วันหาร ผู้ช่วยเลขานุการกระทรวงเกษตรกัมพูชา กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการลงนามเอ็มโอยูกับอินโดนีเซีย เพื่อเป็นการประกันราคาข้าวให้กับกัมพูชา แต่ยังคงต้องแข่งขันด้านคุณภาพและราคากับประเทศไทยและเวียดนาม ซึ่งจากความตั้งใจที่จะส่งออกข้าว 1 ล้านตัน เป็นกลยุทธ์หนึ่งของรัฐบาล แต่ยังต้องพิจารณาความสามารถในการแข่งขันในตลาดด้วย ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา กัมพูชามีการส่งออกข้าวเพียง 5 แสนตัน “เป้าหมายส่งออกข้าว 1 ล้านตัน ของกัมพูชา คือ ความท้าทาย เพราะต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านต้นทุนการผลิต ด้านพลังงานไฟฟ้า คุณภาพของข้าว และการขนส่งโลจิสติกส์” นายเฮียนกล่าว
นายฮุน หลัก รองประธานสหพันธ์ข้าวแห่งกัมพูชา (ซีอาร์เอฟ) กล่าวว่า แผนการส่งออกข้าวของรัฐบาลอาจจะไกลตัวเกินไป ด้วยเป็นไปได้ยากในการผลักดันการส่งออกข้าวให้ได้ถึง 1 ล้านตัน ในทุกๆ ปี เนื่องจากความไม่พร้อมในปริมาณการส่งออกดังกล่าวที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี ที่มา หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
กรมศุลกากรเมียนมาร์ (Myanmar's Customs Department) รายงานว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2559/60 เมียนมาร์ส่งออกข้าวไปจีนประมาณ 335,366 ตัน มูลค่า 123.093 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในจำนวนนี้เป็นการส่งผ่านทางแนวชายแดน จำนวน 316,033 ตัน มูลค่า 115.929 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ เมียนมาร์มีด่านชายแดนที่ติดกับประเทศจีน 4 แห่ง คือ ด่าน Muse ในรัฐ Shan, ด่าน Lwejel ในรัฐ Kachin, ด่าน Chin Shwehaw ในรัฐ Shan และด่าน Kanpite Tee ในรัฐ Kachin โดยที่ด่าน Muse ในรัฐ Shan ถือเป็นด่านที่ใหญ่ที่สุด และมีปริมาณการค้ามากที่สุด โดยในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2559/60 เมียนมาร์ส่งออกข้าวแล้วประมาณ 401,367 ตัน มูลค่า 145.158 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
หน่วยงานด้านสถิติของอินเดีย (Directorate General of Commercial Intelligence and Statistics) รายงานว่า การส่งออกข้าวในช่วง 5 เดือนแรก (เมษายน-สิงหาคม) ของปีงบประมาณ 2559/60 มีปริมาณรวม 4.784 ล้านตัน มูลค่า 2,502.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558/59 ที่มีการส่งออก 4.663 ล้านตัน มูลค่า 2,653.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นการส่งออกข้าว
บาสมาติปริมาณ 1.775 ล้านตัน มูลค่า 1,399 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558/59 ที่มีการส่งออก 1.679 ล้านตัน มูลค่า 1,560 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติปริมาณ 3.008 ล้านตัน มูลค่า 1,104 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558/59 ที่มีการส่งออก 2.984 ล้านตัน มูลค่า 1,093 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 24 - 30 ตุลาคม 2559--