ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 8, 2016 15:40 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการข้าวในตลาดโลกชะลอตัว

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,541 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,378 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 8.92

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,295 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,408 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.54

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 23,210 บาท ราคาลดลงจากตันละ 23,475 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.13

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,230 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,400 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.49

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.7707 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงมีแผนที่จะขยายตลาดส่งออกข้าวโดยเตรียมที่จะเดินหน้าโรดโชว์ต่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ของปี 2560 รวม 20 คณะ เพื่อเร่งรัด หาตลาดส่งออกข้าวใหม่ๆ ทั้งในลักษณะแบบจีทูจี หรือ แบบรัฐต่อรัฐ โดยมีแผนที่จะเดินทางไปมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน อิหร่าน อิรัก แอฟริกา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการส่งมอบข้าวในสต็อกภายใต้จีทูจีให้กับบริษัท COFCO ของจีนที่ลงนามในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา จำนวน 100,000 ตัน และเหลืออีก 900,000 ตัน ที่จะทยอยส่งมอบให้ภายหลัง นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังดำเนินการขายข้าวแบบจีทูจีกับรัฐบาลต่างประเทศเพิ่มเติมอีกประมาณ 2,555,000 ตัน ทั้งนี้ ในจำนวนดังกล่าว ประกอบด้วย บริษัท COFCO ของรัฐบาลจีน จำนวน 1 ล้านตัน หน่วยงาน NFA ฟิลิปปินส์ จำนวน 500,000 ตัน หน่วยงาน BULO อินโดนีเซีย 655,000 ตัน อิหร่าน อยู่ระหว่างการประสานงาน และบังกลาเทศ กำลังประสานการจัดทำ MOU เพื่อซื้อข้าวไทยเป็นการประกันความมั่นคงทางอาหาร

นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการขายข้าวแบบ B2B หรือ แบบธุรกิจกับธุรกิจ ระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายนนี้ มีผู้แทนการค้าจากจีน ฮ่องกง อาเซียน สหรัฐฯ แคนาดา และยุโรป เดินทางมาเจรจาการค้าที่ประเทศไทยประมาณ 150 บริษัท ขณะที่ผู้ค้าข้าวไทยมีจำนวน 69 ราย โดยได้ขอความร่วมมือผู้ค้าข้าวไทยห้ามตัดราคาขายกันเอง เมื่อมีผู้ซื้อให้ความสนใจข้าวไทยเป็นจำนวนมาก

ส่วนประเภท B2C หรือการค้าระหว่างธุรกิจกับประชาชนนั้น สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ จะจัดกิจกรรม Thai Select รายภูมิภาค เพื่อรณรงค์บริโภคข้าวไทยไร้ Gluten เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในประเทศต่างๆ ให้มากขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับห้าง Tesco ในประเทศอังกฤษ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย โดยเน้น Theme ข้าวไทย ซึ่งปัจจุบัน TESCO มีการลงทุนใน 12 ประเทศทั่วโลก และมีสาขากว่า 6,900 สาขา รวมทั้งทำกิจกรรมส่งเสริมการขายกับห้าง Highend อื่นๆ ในต่างประเทศ

สำหรับปี 2560 ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม คณะผู้แทนการค้าจะเดินทางไปขายข้าวที่จีนและฮ่องกง และในเดือนกรกฎาคม มีแผนจัดคณะไปยุโรป ตะวันออกกลาง ส่วนช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม มิถุนายน กรกฎาคม มีแผนไปสหรัฐอเมริกา แคนาดา และช่วงวันที่ 7-10 มีนาคม 2560 มีแผนไปญี่ปุ่น นอกจากนี้ ในช่วงกลางปี 2560 มีแผนที่จะไปตลาดอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

พร้อมกันนี้ นางอภิรดีได้เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาหารบังกลาเทศ (H.E. Advocate Md. Qamrul Islam, MP) ได้เข้าพบหารือการต่ออายุบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการซื้อขายข้าว (MOU) ระหว่างไทย-บังกลาเทศ และความร่วมมือทางอาหาร ซึ่งทางบังกลาเทศต้องการจะต่ออายุบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว ที่ได้สิ้นผลบังคับใช้ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ทั้งนี้ การต่ออายุบันทึกความเข้าใจดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวของบังกลาเทศจากไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยไทยมีประวัติส่งออกข้าวไปยังบังกลาเทศสูงสุดปริมาณ 350 ตัน บังกลาเทศ นับเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพทางด้านการค้าและการลงทุนของไทย เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน หินปูน ผลผลิตทางการเกษตร ปอกระเจา ยาสูบ และทรัพยากร ทางทะเล ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 4 จะเป็นเวทีของภาครัฐสองฝ่ายในการหารือประเด็นการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นเวทีในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ ทางเศรษฐกิจของ 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยบังกลาเทศ เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 44 ของไทยในระดับโลก และเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดียและปากีสถาน ตามลำดับ ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554-2558) การค้ารวมมีมูลค่าเฉลี่ย 965.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในปี 2558 การค้ารวมมีมูลค่า 902.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 การค้ารวมมีมูลค่า 322.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ประมาณร้อยละ 9.60 โดยในปี 2558 ไทยส่งออกสินค้าไปบังกลาเทศมีมูลค่า 858.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าสินค้าจากบังกลาเทศมีมูลค่า 44.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เม็ดพลาสติก ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ ปูนซีเมนต์ เหล็ก ด้าย และเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เป็นต้น ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า, www.ryt9.com

กัมพูชา-เวียดนาม

นายปัน สรศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา และนายจั่น ตวน อันห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยเรื่อง การลดภาษีศุลกากรระหว่าง 2 ประเทศ ในสินค้าหลายประเภทเพื่อกระตุ้นการค้าขาย โดยภายใต้ข้อตกลงนี้ กัมพูชาจะเปิดให้นำเข้าสินค้าเวียดนาม 29 ประเภท ได้โดยไม่เก็บภาษี ขณะที่เวียดนามจะไม่เก็บภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าจากกัมพูชา 39 ประเภท ซึ่งรวมทั้งการส่งข้าวปีละ 300,000 ตัน และใบยาสูบแห้ง 3,000 ตัน ในปี 2559 และ ปี 2560

นางเสือง โซฟารี โฆษกของกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ร่วมในการยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของ 2 ประเทศ และจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกของทั้ง 2 ประเทศ เพราะจะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนผู้บริโภคจะได้ซื้อสินค้าในราคาที่เป็นธรรมมากขึ้น

ขณะที่ เมืองฮานอยได้เป็นเจ้าภาพในการประชุมซีแอลเอ็มวี ครั้งที่ 8 พร้อมกับการประชุมครั้งที่ 7 ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่าง กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) และการประชุมในเวทีเศรษฐกิจโลก หรือ เวิลด์อีโคโนมิก ฟอรั่ม ออน แม่โขง [The World Economic Forum on Mekong (WEF-Mekong)] โดยในปี 2558 มูลค่าการค้าระหว่างเวียดนามและกัมพูชา มากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ห่างจากเป้าหมายที่วางไว้ถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 31 ต.ค. – 6 พ.ย. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ