ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 14, 2016 10:53 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาด แต่ความต้องการข้าวในตลาดโลกชะลอตัวต่อเนื่อง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,123 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,541 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.90

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,051 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,295 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.34

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 23,150 บาท ราคาลดลงจากตันละ 23,210 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.26

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,030 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,230 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.78

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.7283 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนตัวเล็กน้อยหลังจากที่ขยับสูงขึ้นในช่วงสั้นๆ เมื่อสัปดาห์ก่อน เนื่องจากการเก็บเกี่ยวข้าวในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงได้สิ้นสุดลง ขณะที่ความต้องการข้าวจากประเทศจีนมีการซื้อเพื่อส่งออกไปทางแนวชายแดน ทั้งนี้ ราคาเอฟโอบีข้าวขาว 5% อยู่ที่ 350 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน อ่อนตัวลงจากระดับ 350-355 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางด้านผู้ค้าข้าวระบุว่า ช่วงนี้ผู้ซื้อได้หันไปสนใจข้าวจากไทยและเวียดนาม ที่ราคาอ่อนตัวลง ขณะที่ผู้ส่งออกเวียดนามกำลังจับตามองสถานการณ์ในฟิลิปปินส์หลังจากผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหายจากพายุใต้ฝุ่น

กระทรวงเกษตร (the Ministry of Agriculture and Rural Development) รายงานว่าในเดือนตุลาคมเวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 368,000 ตัน มูลค่า 164 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 เวียดนามส่งออกข้าวไปแล้วประมาณ 4.2 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 21.1 และร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เวียดนามส่งออกไปจีนประมาณ 1.35 ล้านตัน มูลค่า 613.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 23 และร้อยละ 13.9 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่การส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซียมีจำนวน 359,400 ตัน มูลค่า 142.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ประเทศกาน่าจำนวน 387,700 ตัน มูลค่า 189.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.2

เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่มูลค่าส่งออกไปยังประเทศที่สำคัญ เช่น ฟิลิปปินส์ ลดลงร้อยละ 47.8 มาเลเซีย ลดลงร้อยละ 47.4 สิงคโปร์ ลดลงร้อยละ 34.6 สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 32 ไอวอรี่โคสต์ ลดลงร้อยละ 25.2 และฮ่องกง ลดลงร้อยละ 11.4 เป็นต้น

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา และกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของเวียดนามได้ลงนามใน บันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างสองประเทศในสินค้าหลายประเภทเพื่อกระตุ้นการค้าภายใต้ ข้อตกลงนี้ โดยกัมพูชาจะเปิดให้นำเข้าสินค้าจากเวียดนาม 29 ประเภท ที่ไม่เสียภาษี ขณะที่เวียดนามจะไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากกัมพูชา 39 ชนิด ในจำนวนนี้มีการส่งข้าวปีละ 300,000 ตันด้วย

กระทรวงเกษตรฯ รายงานว่า แม้ว่าเวียดนามจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 7 ล้านตันต่อปี แต่ยังต้องนำเข้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ในประเทศ ทั้งนี้เป็นผลจากการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเวียดนามมีไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูก

มีจำกัดเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกใช้ในการปลูกข้าว โดยในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2559 เวียดนามนำเข้าอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์(ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง) ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากอาร์เจนตินา สหรัฐอเมริกา และจีน มูลค่ารวม 2,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ดังนั้น รัฐบาลเวียดนามจึงมีนโยบายรณรงค์ให้เกษตรกรในพื้นที่เขตภูเขาในภาคเหนือลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 4.175 ล้านไร่ ภายในเวลา 5 ปี และหันมาเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทน (ตามคำตัดสินของนายกรัฐมนตรีเวียดนามเลขที่ 915/Q-TTg ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2559) โดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุน ดังนี้

(1) ค่าใช้จ่ายในการซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เกิน 3 ล้านดอง/เฮคเตอร์/ฤดูการเพาะปลูก

(2) จัดอบรมวิธีการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนพื้นที่ปลูกข้าวให้แก่เกษตรกร

(3) สนับสนุนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการพาณิชย์ เพื่อเป็นเงินทุนให้เกษตรกรซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ และ เครื่องมือในการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มา Oryza.com, สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

เมียนมาร์

ทางการเมียนมาร์กำลังพยายามที่จะเจรจากับทางการจีนเพื่อขอเพิ่มโควตาส่งออกข้าวไปยังจีน ทั้งทางด่าน ชายแดนและทางเรือ รวมปีละประมาณ 400,000 ตัน โดยคาดว่าจะมีการเจรจาหาข้อสรุปในเร็วๆ นี้ พร้อมทั้งรายงาน ในปีงบประมาณ 2559/60 (เมษายน 2559-มีนาคม2560) ข้อมูล ณ วันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการส่งออกไปแล้วประมาณ 634,990 ตัน มูลค่าประมาณ 184 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นข้าวสารประมาณ 401,370 ตัน มูลค่าประมาณ 141 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และข้าวหักประมาณ 233,620 ตัน มูลค่าประมาณ 39 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

กัมพูชา

นายเชง อุดดรา อธิบดีสถาบันมาตรฐานข้าวกัมพูชา เผยว่า ขณะนี้มีการร่างมาตรฐานข้าว 8 สายพันธุ์ พร้อมกับเงินสนับสนุนจากผู้บริจาคหลายราย ภายใต้โครงการสนับสนุนการพัฒนาการค้า แต่เงินจำนวนนี้เพียงพอสำหรับกระบวนการพัฒนาพันธุ์ข้าวแค่เพียงครึ่งเดียว พร้อมกล่าวว่า มาตรฐานข้าวใหม่เสร็จสมบูรณ์และพร้อมสำหรับการพิจารณาแล้ว แต่ต้องการความคืบหน้ามากกว่านี้เกี่ยวกับการทดสอบข้าวในห้องปฏิบัติการ การจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และการเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับมาตรฐานนี้

ร่างมาตรฐานดังกล่าว ระบุลักษณะเฉพาะของข้าวทุกพันธุ์ เช่น รูปร่าง ผิวสัมผัส กลิ่น และองค์ประกอบในการทำอาหาร ทั้งยังระบุข้อกำหนดด้านสุขอนามัย การบรรจุภัณฑ์ และตราสินค้าไว้ด้วย ซึ่งขณะนี้มาตรฐานข้าว 3 พันธุ์ ได้แก่ ผกาลำดวน, ผกาจันเซงซาร์ และข้าวมาตรฐานทั่วไป เสร็จสมบูรณ์แล้วแต่ยังไม่บังคับใช้ เนื่องจากเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดคือ ต้องสร้างมาตรฐานให้ได้ 11 พันธุ์ เพื่อระบุคุณภาพข้าวสำหรับการส่งเสริมการส่งออก และหน่วยงานต้องการเงินเพิ่มเติมเพื่อให้ครบตามเป้าหมายให้เร็วที่สุด

นายฮุน ลัค รองประธานสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา ให้ความเห็นว่าการพัฒนามาตรฐานข้าวระดับชาตินั้น มีบทบาทสำคัญในการรักษาชื่อเสียงและทำให้การระบุข้าวพันธุ์พื้นเมืองกัมพูชา ทั้งระดับธรรมดา ปานกลาง และคุณภาพสูง ง่ายขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับใช้มาตรฐานเหล่านี้เกิดผล เจ้าหน้าที่จะต้องศึกษาเพื่อการบังคับใช้อย่างจริงจัง ซึ่งอาจใช้เวลาสักระยะหนึ่งก่อนที่มาตรฐานเหล่านี้จะเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ ที่มา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

อินโดนีเซีย

กระทรวงเกษตร รายงานว่าผลผลิตข้าวในปี 2559 นี้ คาดว่าจะมีประมาณ 79.14 ล้านตันเพิ่มขี้นร้อยละ 5 จากจำนวน 75.4 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาประธานาธิบดีของอินโดนีเซียปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะมีการนำเข้าข้าวในช่วงนี้ และคาดว่าจะไม่มีการนำเข้าจนถึงปลายปีหน้า ซึ่งก่อนหน้านี้ทางการอินโดนีเซียรายงานว่า สต็อกข้าวในปัจจุบันมีเพียงพอสำหรับการบริโภคไปจนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2560 ดังนั้นจึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะนำเข้าข้าวในช่วงนี้

ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 7 - 13 พ.ย. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ