ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และ ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) ได้ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์การการผลิตข้าว พบว่า ปัจจุบันผลผลิตข้าวโลกล้นตลาด ส่งผลทำให้ราคาข้าวในตลาดตกต่ำ โดยปริมาณผลผลิตข้าวโลกในปี 2559/60 จำนวน 483.8 ล้านตันข้าวสาร ใช้ในการบริโภคประมาณ 478.4 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการบริโภคน้อยกว่าผลผลิตที่ได้ในปีเดียวกัน (ภาพที่ 1)
สำหรับอุปทานข้าวโลกในแต่ละปี นอกจากจะประกอบด้วยผลิตข้าวในปีนั้น ๆ แล้ว ยังรวมจำนวนสต๊อกข้าวปลายปีที่ผ่านมาด้วย ซึ่งกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้รายงานว่าในปี 2558/59 โลกมีสต็อกข้าวอยู่จำนวน 116.3 ล้านตัน โดยในปี 2559/60 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ก่อนหน้าร้อยละ 4.6 เป็น 121.7 ล้านตัน ดังนั้น หากรวมปริมาณการผลิตข้าวของโลกเข้ากับจำนวนสต็อกข้าวปลายปีแล้ว จะทำให้ขนาดของอุปทานข้าวโลกสูงกว่าความต้องการบริโภคอยู่มาก และสต็อกที่มีการสะสมจำนวนมากจากด้านอุปทานจะเป็นแรงกดดันราคาข้าวในตลาดโลกให้มีแนวโน้มลดต่ำลง
ด้านราคาข้าวในตลาดโลก พบว่า ปัจจุบันข้าวไทยยังคงมีราคาโดยเฉลี่ยที่สูงกว่าข้าวจากหลายประเทศ ได้แก่ เวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน ประมาณร้อยละ 13 -16 ในขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยมีราคาที่สูงกว่าข้าวตลาดบนของสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 16 และมีราคาเฉลี่ยที่ต่ำกว่าข้าวบาสมาติของปากีสถานเล็กน้อย และเมื่อพิจารณาในช่วงปี 2554-2559 พบว่า แนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์ข้าวภายในประเทศหลังผลผลิตข้าวเปลือกในฤดูการเก็บเกี่ยวปลายเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2559 ออกมาพร้อมกัน พบว่า ในปี 2559/60 ปริมาณผลผลิตข้าวของไทย จำนวน 17.00 ล้านตันข้าวสาร ใช้บริโภคในประเทศ ประมาณ 13.30 ล้านตันข้าวสาร จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีการบริโภคน้อยกว่าผลผลิตที่ได้ในปีเดียวกันมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2555/56
ส่วนสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกนาปี ที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาลดลง จากผลผลิตภายในประเทศออกมาพร้อมกัน ประกอบกับฤดูการเก็บเกี่ยวเพื่อหนีน้ำท่วมทำให้ข้าวมีความชื้นสูงโดยราคาข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15 % ที่เกษตรกรขายราคาอยู่ที่ 6,700 – 7,200 บาทต่อตัน ขณะที่ราคาขายให้กับโรงสีอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000 – 6,500 บาทต่อตัน ขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าว ความชื้นและความแห้งของข้าว ทั้งนี้ข้าวหอมมะลิที่ทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิต คาดได้ว่าราคาอาจจะตกมาที่ 9,000-9,500 บาทต่อตัน
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ได้แก่ 1) เห็นชอบการทบทวนโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60 โดยให้เป็นไปตามกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบไว้แล้ว เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 2) เห็นชอบการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ปีการผลิต 2559/60
จากมาตรการความช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60ในข้อ 3 สามารถวิเคราะห์ความช่วยเหลือเกษตรกรออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เข้าร่วมโครงการฯ และกลุ่มที่ไม่เข้าร่วมโครงการฯ พบว่า กรณีตัวอย่างราคาข้าวหอมมะลิตลาด 11,000 บาทต่อตัน เกษตรกรที่ปลูกข้าวหอมมะลิและเข้าร่วมโครงการ ฯ จะได้รับเงินเป็นสินเชื่อเพื่อชะลอการขายจาก ธ.ก.ส.ตันละ 9,500 บาท (ต้นข้าว 36 กรัมขึ้นไป) ระยะเวลาคืนเงินไม่เกิน 5 เดือน ไม่มีดอกเบี้ย และได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉางตันละ 1,500บาท ตามโครงการชะลอการขายข้าวเปลือกนอกจากนี้ชาวนาจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวอีกตันละ 2,000 บาท (คำนวณจากการจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่) ตามโครงการให้ความช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ รวมเป็นเงินที่ชาวนาจะได้รับทั้งสิ้น 13,000 บาท ต่อตันข้าวเปลือก
สำหรับเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ อันเนื่องจากไม่มียุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกและต้องขายข้าวเปลือกเอง ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลตามโครงการให้ความช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ตันละ 2,000 บาท เพิ่มเติมจากราคาข้าวเปลือกที่ขายได้ เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนหากราคาข้าวในตลาดมากกว่า 9,500 บาทต่อตัน จะทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับเงินรวมมากกว่า 13,000 บาทต่อตัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับราคาตลาด ณ ขณะนั้นด้วย
ในภาพรวมศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร(KOFC) ได้เสนอแนะมาตรการระยะสั้น และระยะยาว ไว้ดังนี้
1. พัฒนาคุณภาพข้าว ในด้านการปรับปรุงพันธุ์ เหมาะสมตามความต้องการของตลาด ผู้บริโภค
2. เพิ่มมูลค่าข้าว (Value Added) เช่น การแปรรูป การจัดทำผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ บรรจุภัณฑ์ให้มากขึ้น
3. ขยายช่องทางการตลาด การค้าทั้งในและต่างประเทศให้มากขึ้น ดังเช่น ในขณะนี้ที่เกษตรกร/กลุ่มเกษตร นำข้าวเปลือกไปสีข้าวขายกันเอง โดยไม่ผ่านคนกลาง
รัฐบาลควรมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง การตลาดให้สะดวก รวดเร็วขึ้น เพื่อสนับสนุนช่องทางการตลาดให้กับสินค้า/ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวในรูปแบบต่าง ๆ อีกทั้งการให้มีการลงทุนการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งยกระดับราคาได้ด้วยการคิดนวัตกรรมเครื่องมือเครื่องจักรทางการเกษตรใหม่ๆ เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตภาพซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน
********************************************
ข้อมูล : ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--