ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 13, 2016 10:04 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตฤดูกาลใหม่เป็นที่ต้องการของตลาด ผู้ประกอบการจึงจัดหาข้าวเพื่อส่งมอบตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,857 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,724 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.53

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,175 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,149 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.37

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 23,150 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,710 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 683 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,164 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 496 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,548 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 497 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,583 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.20

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 374 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,232 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 364 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,878 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 377 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,338 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.3785 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวในปี 2559 คาดว่าจะอยู่ที่ 10 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.7 แสนล้านบาท เป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย ที่จะส่งออกได้กว่า 10.5 ล้านตัน และคาดว่าในปี 2560 ไทยจะกลับมาเป็นอันดับ 1 โดยคาดว่าจะส่งออกได้ 9.5 - 10 ล้านตัน ตามเป้าหมาย เนื่องจากขณะนี้ผลผลิตข้าวใหม่ออกมามาก ประกอบกับเทศกาลตรุษจีนเร็วขึ้น ทำให้หลายประเทศเร่งซื้อข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกข้าวหอมมะลิต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 90,000 ตัน เป็น 1.2 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ราคาถือว่าดีขึ้นเช่นกัน โดยขณะนี้ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 600 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เนื่องจากสินเชื่อชะลอการขายของภาครัฐ ทำให้ผลผลิตไม่ล้นตลาดและทำให้ราคาดีขึ้น

สำหรับราคาในประเทศขณะนี้ถือว่าปรับตัวดีขึ้น โดยข้าวขาว 5% ปรับเพิ่มจาก 10.80 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เป็น 12 บาทต่อกก. ข้าวหอมมะลิจาก 15.80 บาทต่อกก. เป็น 19-20 บาทต่อกก. ข้าวเหนียวจาก 17.50 บาทต่อกก. เป็น 21.50 บาทต่อกก. และหากสามารถเร่งระบายข้าวในสต็อกที่มีอยู่กว่า 8 ล้านตัน ได้จะช่วยให้ราคาปรับดีขึ้น

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวไทยในเดือนธันวาคม 2559 คาดว่าจะได้ถึง 8 แสนตัน เนื่องจากขณะนี้ราคาข้าวขาวของไทยปรับลดลงมาค่อนข้างมากและใกล้เคียงคู่แข่ง ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาเอฟโอบีลดลงและสามารถแข่งขันได้ แต่ไทยอาจยังไม่ได้เป็นแชมป์ส่งออกข้าวของโลก เนื่องจากอินเดียมีผลผลิตมากและส่งออกมากกว่าไทย 7 แสนตัน แต่เชื่อว่าจากการที่ข้าวหอมมะลิไทยได้รับรางวัลชนะเลิศจะดึงความเชื่อมั่นกลับมาและทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปี 2560 การส่งออกข้าวไทยคาดว่าจะได้ถึง 10 ล้านตัน

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จะจัดงานแสดงความยินดีที่ข้าวหอมมะลิไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ “ข้าวดีเด่นของโลก” ในวันที่ 8 ธันวาคม 2559 ซึ่งมีการมอบรางวัลเป็นประจำทุกปีในงาน “The World Rice Conference” โดยจะมีการเชิญสมาคมที่เกี่ยวข้อง สมาคมชาวนาไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย รวมถึงสถานทูตต่างๆ จากประเทศที่ซื้อข้าวจากไทยมาร่วมงาน เพราะถือเป็นรางวัลของประเทศและเป็นความสำเร็จของไทย ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำถึงคุณภาพข้าวที่ดีของไทยด้วย ที่มา หนังสือพิมพ์แนวหน้า, www.ryt9.com

กัมพูชา

"กัมพูชา" หนึ่งในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่มีรายได้หลักมาจากการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ "ส่งออกข้าว" ซึ่งความท้าทายใหญ่ก็คือ ขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งอย่างประเทศไทยและเวียดนามผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นๆ ของเอเชียอาคเนย์ ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี "ฮุนเซน" ต้องฝันสลายหลังพลาดเป้าส่งออกข้าว 1 ล้านตัน ซึ่งตั้งไว้ตั้งแต่ปี 2553 โดยมีปัจจัยหลักอย่างปัญหาการขาดแคลนโรงสี โกดังเก็บข้าว และเงินทุนในการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ รวมทั้งการช่วยเหลือเกษตรกร โดยปี 2558 กัมพูชาส่งออกข้าวได้เพียง 500,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของเป้าหมาย

ก่อนหน้านี้ นายกฯ ฮุนเซน เคยประกาศในเวทีการประชุมระดับนานาชาติว่าการแข่งขันอย่างหนักของผู้ส่งออกข้าวรายอื่นๆ เช่น ไทย เวียดนาม เมียนมาร์ และอินเดีย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้กัมพูชาไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยกระทรวงเกษตรของกัมพูชาประเมินว่า ปี 2559 ผลผลิตข้าวของกัมพูชาจะมากกว่า 9.2 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้กัมพูชามีข้าวส่งออกเกิน 3 ล้านตันในปี 2560

วีโอเอ แคมโบเดีย รายงานว่า นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวถึงตัวเลขประมาณการผลผลิตปีนี้ว่าสูงกว่าปีที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า หากหักปริมาณที่ใช้บริโภคภายในประเทศอาจเหลือข้าวเปลือกส่งออกถึง 5 ล้านตัน รวมทั้งแนะนำให้ชาวนาตากข้าวเปลือกให้แห้งและเก็บรักษาให้ถูกวิธี เพื่อที่จะขายข้าวได้ในราคาที่ดี พร้อมเรียกร้องให้ธนาคารอนุมัติการปล่อยกู้แก่เกษตรกรและพ่อค้าข้าว เพื่อรักษาระดับราคาในตลาดข้าว เพราะไม่เพียงแต่กัมพูชาเท่านั้นที่ประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ แต่ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นผู้ส่งออกข้าวก็กำลังเผชิญกับปัญหาราคาข้าวตกต่ำเช่นกัน ขณะที่บางประเทศอย่างเวียดนามมีแนวโน้มผลผลิตข้าวลดลงในปีนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2548 หลังเกิดภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 90 ปี

ดังนั้นปี 2559 อาจเป็นปีแรกที่กัมพูชาจะสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 1 ล้านตัน เพราะอานิสงส์จากการส่งเสริมภาคเกษตรของรัฐบาลที่ให้การช่วยเหลือชาวนา ทั้งการให้ความรู้ในการเก็บรักษาข้าวอย่างถูกวิธี รวมทั้งการที่รัฐบาลได้เชิญชวนให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มการลงทุนสร้าง "ไซโล" เก็บรักษาข้าวที่ทันสมัย และเครื่องอบข้าวไล่ความชื้น เนื่องจากกัมพูชายังประสบปัญหาขาดแคลนสถานที่เก็บข้าวที่ได้มาตรฐาน

สำหรับประเทศที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนก็คือ นักลงทุนจากจีน ในฐานะที่เป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา และเป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวกัมพูชามาโดยตลอด โดยรัฐบาลได้เจรจากับจีนในการขอเงินกู้มา สนับสนุนการลงทุนดังกล่าว

ตลาดเป้าหมายส่งออกข้าวของกัมพูชา นอกจากที่ตั้งเป้าขายข้าวให้แก่จีน 200,000 ตัน และเวียดนามอีก 300,000 ตัน เนื่องจากเวียดนามประสบภัยแล้งและรัฐบาลประเมินว่าผลผลิตอาจไม่เพียงพอ นอกจากนี้ รัฐบาลกัมพูชายังแสดงความจำนงบุกตลาด "อินโดนีเซีย" หลังจากปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาได้เจรจากับอินโดนีเซียเพื่อขายข้าว 1 ล้านตัน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ อย่างไรก็ตามทางการกัมพูชา ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ของทั้งสองประเทศ คาดว่าจะเข้าเจรจาเพื่อทำเอ็มโอยู แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับปริมาณส่งออกข้าวไปอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดหลายปีมานี้

ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชายังเดินหน้าขยายตลาดข้าวในประเทศยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่ให้สิทธิ GSP หรือสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปแก่สินค้าที่ผลิตในกัมพูชา โดยเฉพาะสินค้าการเกษตรซึ่งปัจจุบันมีเพียงประเทศโปแลนด์และเนเธอร์แลนด์ที่มีการนำเข้าข้าวและเป็นคู่ค้าลำดับต้นๆ ของกัมพูชา

โดยนายกฯ ฮุนเซนประกาศว่า "ตลาดเป้าหมายต่อไปของเราคือการบุกตลาดมุสลิม ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของอาเซียนและตลาดยุโรป จากข้อได้เปรียบในการใช้สิทธิ GSP ซึ่งจะทำให้เราสามารถยกระดับเป็นเบอร์ต้นๆ ของผู้ผลิตและส่งออกข้าวโลก"

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 5 - 11 ธ.ค. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ