ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 19, 2016 13:42 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ ที่ผ่านมา เนื่องจากข้าวเปลือกมีคุณภาพดีขึ้น เพราะช่วงเก็บเกี่ยวไม่มีฝน ส่งผลให้ข้าวเปลือกมีความชื้นลดลง ประกอบกับตลาดยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,974 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,857 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.32

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,227 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,175 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.73

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 23,150 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,750 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 685 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,235 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 685 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,235 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.29

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 512 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,115 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 496 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,548 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.22

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,267 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 374 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,232 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 366 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,949 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 364 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,878 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.55

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 378 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,374 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 377 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,338 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.26

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.3801 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงมีแนวโน้มอ่อนตัวลง ท่ามกลางความต้องการข้าวจากต่างประเทศ ที่ลดลง เนื่องจากผู้ซื้อจากต่างประเทศหันไปให้ความสนใจข้าวจากไทยมากกว่า ทั้งนี้ ราคาข้าวขาว 5% (FOB) อยู่ที่ 335-340 เหรียญสหรัฐต่อตัน อ่อนตัวลงจากระดับ (FOB) 340-350 เหรียญสหรัฐต่อตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของสัปดาห์ที่ผ่านมา

สมาคมอาหารของเวียดนาม รายงานว่า การส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2559 มีปริมาณ 378,801 ตัน มูลค่า 164.955 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (FOB) โดยปริมาณและมูลค่าส่งออก ลดลงร้อยละ 50.89 และร้อยละ 43.36 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 771,312 ตัน มูลค่า 291.224 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (FOB) และเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2559 ที่มีการส่งออก 386,700 ตัน มูลค่า 167.808 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (FOB) ปริมาณและมูลค่าส่งออก ลดลงร้อยละ 2 และร้อยละ 1.7 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกข้าวช่วง 11 เดือนแรกของปี 2559 (มกราคม - พฤศจิกายน) มีปริมาณ 4.496 ล้านตัน มูลค่า 1,949 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าส่งออก ลดลงร้อยละ 22.58 และร้อยละ 17.79 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 5.807 ล้านตัน มูลค่า 2,371 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ขณะที่กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม รายงานว่าในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2559 (มกราคม - พฤศจิกายน) เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 4.54 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ปริมาณและมูลค่าส่งออก ลดลงร้อยละ 25 และร้อยละ 20.3 ตามลำดับ โดยในช่วง 10 เดือนแรก ของปี 2559 จีนยังคงเป็นประเทศที่นำเข้าข้าวเวียดนามมากที่สุดด้วยปริมาณ 1.51 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 678.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ปริมาณและมูลค่านำเข้า ลดลงร้อยละ 22.5 และร้อยละ 13.7 ตามลำดับ รองลงมา คือ กานาที่นำเข้าข้าวเวียดนาม ปริมาณ 442,200 ตัน คิดเป็นมูลค่า 217 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.6 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 33.3 ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

กัมพูชา

สำนักงานบริการพิธีการส่งออกข้าว (The Secretariat of One Window Service for Rice Export; SOWS-REF) รายงานว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2559 (มกราคม - พฤศจิกายน) กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนประมาณ 107,091 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 เมื่อเทียบกับปริมาณ 91,883 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา กัมพูชาส่งออกข้าวรวมทั้งสิ้นประมาณ 479,689 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยกระทรวงเกษตรกัมพูชา (Agriculture Ministry) ระบุว่า มีโรงสีของกัมพูชามากกว่า 50 แห่ง ที่ได้ยื่นขอขึ้น ทะเบียนเป็นผู้ส่งออกข้าวไปยังประเทศจีน และได้ผ่านการตรวจประเมินจากหน่วยงานของทางการจีนแล้ว แต่จะต้องรอการประกาศรายชื่อจากทางการจีนก่อนที่จะส่งออกไปยังประเทศจีน โดยเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผู้แทนจากหน่วยงาน AQSIQ (China’s General Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantine) ได้เดินทางมาตรวจประเมินโรงสีข้าว โดยมีโรงสีข้าว 27 แห่ง ได้ผ่านการตรวจประเมินในเบื้องต้นแล้ว ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

สหภาพยุโรป

สหภาพยุโรป (the European Union; EU) รายงานว่า การนำเข้าข้าวในปีการผลิต 2559/60 (ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2559-31สิงหาคม 2560) ที่นำเข้าในช่วงวันที่ 1 กันยายน 2559-6 ธันวาคม 2559 สหภาพยุโรปนำเข้าข้าว 279,796 ตัน ลดลงร้อยละ 0.38 เมื่อเทียบกับปริมาณ 280,868 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการนำเข้าข้าวสายพันธุ์ Japonica ปริมาณ 19,064 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 7.96 เมื่อเทียบกับปริมาณ 20,713 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ข้าวสายพันธุ์ Indica นำเข้า 260,732 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.22 เมื่อเทียบกับปริมาณ 260,155 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 1 กันยายน-6 ธันวาคม 2559 มีประเทศนำเข้าข้าว เช่น สหราชอาณาจักร 58,199 ตัน ฝรั่งเศส 47,745 ตัน เนเธอร์แลนด์ 41,632 ตัน โปแลนด์25,116 ตัน โปรตุเกส 21,597 ตัน เบลเยี่ยม 15,091 ตัน เยอรมนี13,539 ตัน อิตาลี15,541 ตัน สเปน 7,437 ตัน สวีเดน 7,862 ตัน สาธารณรัฐเชค 7,392 ตัน เป็นต้น โดยในปีการผลิต 2558/59 (กันยายน 2558-สิงหาคม 2559) สหภาพยุโรป นำเข้าข้าว 1,251,403 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับปริมาณ 1,187,042 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีการผลิต 2557/58 เป็นการนำเข้าข้าวสายพันธุ์ Japonica 100,858 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับปริมาณ 108,479 ตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2557/58 และข้าวสายพันธุ์ Indica นำเข้า 1,150,545 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับปริมาณ 1,078,563 ตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2557/58

สำหรับด้านการส่งออก สหภาพยุโรป (the European Union; EU) รายงานว่า ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2559-6 ธันวาคม 2559 มีการส่งออก 58,951 ตัน ลดลงร้อยละ 0.36 เมื่อเทียบกับปริมาณ 59,163 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการส่งออกข้าวสายพันธุ์ Japonica ปริมาณ 45,956 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 7.91 เมื่อเทียบกับปริมาณ 49,912 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ข้าวสายพันธุ์ Indica ส่งออก 12,986 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 40.37 เมื่อเทียบกับปริมาณ 9,251 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยประเทศอิตาลีถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด ซึ่งในช่วงวันที่ 1 กันยายน -6 ธันวาคม 2559 มีการส่งออกไปแล้ว 24,318 ตัน โปรตุเกส 9,414 ตัน สเปน 8,557 ตัน กรีซ 6,647 ตัน บัลแกเรีย 4,374 ตัน สหราชอาณาจักร 1,227 ตัน ทั้งนี้ ในปีการผลิต 2558/59 (1 กันยายน 2558-31 สิงหาคม 2559) สหภาพยุโรปส่งออกข้าว 236,553 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับปริมาณ 229,820 ตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2557/58 โดยเป็นการส่งออกข้าวสายพันธุ์ Japonica ปริมาณ 199,799 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับปริมาณ 195,505 ตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2557/58 ขณะที่ข้าวสายพันธุ์ Indica ส่งออกปริมาณ 36,754 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับปริมาณ 34,315 ตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2557/58 ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 12 - 18 ธ.ค. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ