สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลุยเมืองน่าน อีกหนึ่งถิ่นปลูกกาแฟที่สำคัญตามโครงการแปลงใหญ่ประชารัฐ ที่มีความเหมาะสมในการปลูกกาแฟทั้งพันธุ์อะราบิกาและโรบัสตา โดยปัจจุบัน จังหวัดน่าน มีพื้นที่ปลูกกาแฟจำนวนกว่า 4,500 ไร่ ผลผลิตปีละ 400 ตัน มั่นใจ จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในอนาคต และเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง
นางสาวราตรี เม่นประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการร่วมเสวนา และดูงานการเชื่อมโยงเครือข่ายกาแฟไทยจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ซึ่ง สศก.ได้เข้าร่วมเสวนาและบรรยาย เมื่อวันที่ 6 – 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ จังหวัดน่าน จัดโดยสมาคมกาแฟไทย เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกาแฟ และผู้นำเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิต และการตลาดกาแฟในปัจจุบัน
ปัจจุบัน การผลิตกาแฟพันธุ์โรบัสตาส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ทางภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร และระนอง ส่วนพันธุ์อะราบิกาอยู่ทางภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ซึ่งจากข้อมูลการผลิตปัจจุบันพบว่า มีการปลูกกาแฟโรบัสตา ในภาคเหนือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดน่าน ซึ่งเดิมเป็นแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์อะราบิกา แต่เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสตาเพิ่มขึ้นและสามารถปลูกได้ผลดี โดยปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยวและปลูกร่วมกับไม้ผล เช่น มะม่วง
สำหรับพื้นที่ปลูกกาแฟของจังหวัดน่านมีจำนวนกว่า 4,500 ไร่ ผลผลิตปีละ 400 ตัน โดยเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการปลูกกาแฟทั้งพันธุ์อะราบิกาและโรบัสตา ซึ่งการปลูกทั้ง 2 พันธุ์ จะขึ้นอยู่กับระดับความสูงของพื้นที่ โดยหากมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไป จะเหมาะสำหรับการปลูกกาแฟพันธุ์อะราบิกา เช่นที่ บ้านสันเจริญ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน แต่ถ้าพื้นที่มีความสูงไม่เกิน 700 เมตรจากระดับน้ำทะเล จะเหมาะสมสำหรับการปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสตา เช่นที่ อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ที่สามารถผลิตกาแฟได้คุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถสร้างรายได้ดีให้แก่เกษตรกร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟเพื่อทดแทนการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใน อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ซึ่งเกษตรกรมีความสนใจ พร้อมให้ความร่วมมือในการปรับเปลี่ยน นอกจากนี้ ในพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ซึ่งมีพื้นที่กว่า 15,000 ไร่ กำลังปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกาแฟซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และกาแฟยังได้ถูกบรรจุเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ของจังหวัดน่านในโครงการประชารัฐอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กาแฟจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในอนาคต และเป็นที่ต้องการของตลาดอีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาทดแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีราคาตกต่ำ และไม่ยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำยุทธศาสตร์กาแฟ ปี 2560 - 2564 โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิตโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พัฒนาเครือข่ายระหว่างกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการ พัฒนาการแปรรูป รวมถึงยกระดับคุณภาพมาตรฐานสู่สากลและภาพลักษณ์กาแฟไทย ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้ากาแฟในอาเซียน
*********************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--