ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 27, 2016 13:40 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง จากที่ต่างประเทศมีคำสั่งซื้อข้าวเพื่อบริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,399 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,974 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.73

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,339 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,227 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.56

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 23,150 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,950 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.70

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 676 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,098 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 685 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,235 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.31

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 519 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,501 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 512 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,115 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.37

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 370 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,190 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,268 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.33

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 361 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,869 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 3646 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,949 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.37

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 384 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,689 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 378 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,374 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.59

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.6475 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มสูงขึ้นหลังจากที่ฟิลิปปินส์ได้อนุมัติโควตานำเข้าข้าวให้แก่เอกชน โดยสามารถนำเข้าข้าวจากต่างประเทศได้ ซึ่งมีเอกชนยื่นขอโควตานำเข้าข้าวเวียดนาม จำนวน 294,020 ตัน ขณะที่สภาพอากาศในช่วงนี้ไม่เอื้ออำนวยต่อการเก็บเกี่ยวข้าว ทำให้อุปทานข้าวมีจำกัด จึงส่งผลให้ราคาข้าวขาว 5% เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงขึ้นจาก 335-340 เหรียญสหรัฐต่อตัน มาอยู่ที่ 338-340 เหรียญสหรัฐต่อตัน (เอฟโอบี)

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม รายงานว่า การส่งออกข้าวของเวียดนามลดลงอย่างหนัก แตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2559 เวียดนามส่งออกข้าวแล้ว 4.5 ล้านตัน มูลค่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 26 และร้อยละ 22 ตามลำดับ

จากรายงานการประเมินผลของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท พบว่าปริมาณการส่งออกข้าวของปีนี้ มีอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 ขณะที่บริษัทส่งออกส่วนใหญ่ไม่สามารถส่งออกได้ตามเป้าและมีแนวโน้มที่ประเทศ จะส่งออกข้าวไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 5.7 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ปรับลดลงต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ที่ส่งออกข้าว ได้ 6.5 ล้านตัน โดยยอดส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 409,000 ตัน แต่ในช่วงใกล้สิ้นปี (เดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน) ยอดการส่งออกลดลงเหลือเพียง 300,000-320,000 ตัน

นอกจากนั้น ประเทศกำลังเสียตลาดสำคัญ โดยเฉพาะจีนที่เป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุด ซึ่งในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ส่งออกปริมาณ 1.6 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พบว่า ปริมาณลดลง 400,000 ตัน และมูลค่าลดลง 120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา การส่งออกข้าวไปยังตลาดฟิลิปปินส์ ปริมาณรวม 350,000 ตัน มูลค่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่ปริมาณ 600,000 ตัน และมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สมาคมอาหารเวียดนามระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากตลาดข้าวของเวียดนามหลายแห่ง ได้ดำเนินการจัดการอย่างเข้มงวดกับกิจกรรมการนำเข้า-ส่งออก ขณะที่เวียดนามกำลังเสียเปรียบด้านราคาในตลาดของฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และกานา

ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกิ่นเธอ (Can Tho University) กล่าวกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่า เวียดนามจำเป็นต้องปฏิรูปภาคส่วนข้าวทั้งหมด รวมทั้งปรับปรุงการผลิต คุณภาพข้าว และเครือข่ายจัดจำหน่าย เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในเดือนตุลาคม 2559 เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 378,880 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.8 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน ที่ส่งออกปริมาณ 517,585 ตัน และลดลงร้อยละ 55.4 เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ส่งออก 849,383 ตัน โดยในเดือนตุลาคม 2559 ตลาดส่งออกที่สำคัญ ประกอบด้วย ตลาดเอเชีย จำนวน 264,148 ตัน ตลาดแอฟริกา จำนวน 72,954 ตัน ตลาดอเมริกา จำนวน 5,875 ตัน ตลาดยุโรปและเครือรัฐเอกราช (Europe and CIS countries) จำนวน 11,641 ตัน และตลาดออสเตรเลีย จำนวน 24,262 ตัน ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคม 2559 เวียดนามส่งออกข้าวขาว 5% จำนวน 46,115 ข้าวขาว 15% จำนวน 29,942 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 18,486 ตัน ข้าวหอม (Jasmine rice) 105,027 ตัน ข้าวเหนียว 104,701 ตัน ข้าวขาว 10%, 100% และข้าวชนิดอื่นๆ รวมจำนวน 74,609 ตัน

ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

กัมพูชา

สำนักงานบริการพิธีการส่งออกข้าว (The Secretariat of One Window Service for Rice Export; SOWS-REF) รายงานว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2559 กัมพูชาส่งออกข้าว 58,168 ตัน ลดลงร้อยละ 3.08 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ที่ส่งออก 60,016 ตัน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ส่งออก 48,748 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤศจิกายน 2559) กัมพูชาส่งออกข้าวประมาณ 479,689 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญในช่วง 11 เดือนแรก ได้แก่ ประเทศจีน 107,091 ตัน ฝรั่งเศส 70,271 ตัน โปแลนด์ 60,073 ตัน เนเธอร์แลนด์ 24,510 ตัน มาเลเซีย 33,582 ตัน สหราชอาณาจักร 18,092 ตัน เป็นต้น โดยในปี 2558 กัมพูชาส่งออกข้าวรวม 538,396 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.1 เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ส่งออกจำนวน 387,061 ตัน

โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ ประเทศในภูมิภาคยุโรปและเอเชีย เช่น จีน 116,639 ตัน ฝรั่งเศส 75,257 ตัน โปแลนด์ 58,410 ตัน มาเลเซีย 54,914 ตัน เนเธอร์แลนด์ 58,410 ตัน อิตาลี 24,049 ตัน สาธารณรัฐเชค 22,597 ตัน เบลเยี่ยม 19,921 ตัน สหราชอาณาจักร 18,557 ตัน เยอรมนี 13,076 ตัน สเปน 10,382 ตัน โปรตุเกส 10,312 ตัน สิงคโปร์ 5,587 ตัน บรูไน 2,100 ตัน อินโดนีเซีย 1,000 ตัน เป็นต้น

ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

องค์การอาหารแห่งชาติ (the National Food Authority; NFA) ได้อนุมัติโควตานำเข้าข้าวให้แก่เอกชน จำนวน 641,080 ตัน เป็นการนำเข้าจากประเทศไทย เวียดนาม ปากีสถาน และอินเดีย ซึ่งต่ำกว่าปริมาณสูงสุดที่กำหนดไว้ที่ 805,200 ตัน โดยจะต้องนำเข้าให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

ทั้งนี้ NFA ได้อนุมัติให้บริษัทเอกชนและกลุ่มสหกรณ์การเกษตร นำเข้าข้าวจากประเทศไทย จำนวน 284,780 ตัน เวียดนาม 294,020 ตัน ปากีสถาน 56,140 ตัน และอินเดีย 6,140 ตัน

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the Philippine Statistics Authority; PSA) รายงานว่า สต็อกข้าว ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 มีประมาณ 3.3 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอสำหรับบริโภค 97 วัน (คำนวณจากความต้องการ บริโภควันละประมาณ 32,560 ตัน) มากกว่าระดับที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 90 วัน โดยปริมาณสต็อกข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.42 เมื่อเทียบกับ จำนวน 2.286 ล้านตันในเดือนตุลาคม 2559 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.28 เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ส่งออกจำนวน 3.107 ล้านตัน

ทั้งนี้ สต็อกในคลังขององค์การอาหารแห่งชาติ (The National Food Authority; NFA) มีประมาณ 0.546 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 22.92 เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่จำนวน 0.708 ล้านตัน (คิดเป็นร้อยละ 16.53 ของสต็อกข้าวทั้งหมด และเพียงพอสำหรับการบริโภค 16 วัน) ซึ่งเป็นข้าวที่นำเข้าร้อยละ 79.56 ของปริมาณทั้งหมด โดยสต็อกข้าวของ NFA เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2559 ร้อยละ 7.49 ขณะที่สต็อกในคลังของเอกชน (Commercial warehouses) มีประมาณ 1.079 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ปริมาณ 0.882 ล้านตัน หรือร้อยละ 22.3 (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.67 ของสต็อกข้าวทั้งหมด และมีเพียงพอสำหรับการบริโภค 32 วัน) และเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2559 ร้อยละ 36.92 ส่วนสต็อกในภาคครัวเรือน (Household stocks) มีประมาณ 1.677 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.59 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่จำนวน 1.517 ล้านตัน (คิดเป็นร้อยละ 50.8 ของสต็อกข้าวทั้งหมด และมีเพียงพอสำหรับการบริโภค 49 วัน) และเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2559 ร้อยละ 69.32

ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 19 - 25 ธ.ค. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ