1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60
1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต
(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)
(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)
(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)
(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)
(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)
(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)
(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)
(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)
2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด
(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)
(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)
(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)
(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)
3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน
(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)
(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)
(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)
(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตมีคุณภาพดี ประเทศผู้ซื้อจึงมีความต้องการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่อง
1.2 ราคา
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,498 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,399 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.73
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,348 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,339 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.12
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 23,150 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,950 บาท ราคาราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.7444 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
รายงานข่าวจากสำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงมะนิลา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอาหารแห่งชาติฟิลิปปินส์ (National Food Authority Philippines) หรือ เอ็นเอฟเอ ได้ประกาศผลการจัดสรรโควตานำเข้าข้าวครั้งแรกซึ่งเป็นโควตาสำหรับปี 2560 แบบประเทศที่มีข้อตกลงร่วม (Country Specific Quota) โดยพบว่า มีผู้นำเข้าฟิลิปปินส์ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าข้าวจากไทยทั้งหมด 100 ราย รวมปริมาณ 2.77 แสนตัน ขณะเดียวกันยังมีเวียดนามที่ได้รับการจัดสรรโควตาปริมาณรวม 2.83 แสนตัน ปากีสถาน 2.71 หมื่นตัน และอินเดีย 6.140 ตัน รวมปริมาณการจัดสรรตามโควตาให้แต่ละประเทศ 5.94 แสนตัน
นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรโควตาอีก 5 หมื่นตัน ให้สำหรับประเทศอื่นๆ (Omnibus) ซึ่งเอ็นเอฟเอได้ประกาศผลการจัดสรรแล้ว พบว่า มีผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาตนำเข้าจากไทยเพิ่มเติมอีก 2 ราย ปริมาณ 7,080 ตัน ส่งผลให้ภาพรวมไทยได้โควตา 2.84 แสนตัน ขณะที่เวียดนามได้เพิ่มเติมอีก 1.02 หมื่นตัน รวมเวียดนามได้โควตา 2.93 แสนตัน และปากีสถานได้เพิ่มเติมอีก 2.89 หมื่นตัน รวมปากีสถานได้โควตา 5.6 หมื่นตัน
ทั้งนี้ การจัดสรรโควตาข้าวของฟิลิปปินส์นั้น มีการกำหนดมาตรการนำเข้าข้าวที่ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เป็นแบบจัดสรรโควตานำเข้าขั้นต่ำ Minimum Access Volume (MAV) ปริมาณ 8.05 แสนตัน ณ อัตราเรียกเก็บภาษีนำเข้าในโควตา 35% หากนอกโควตาจะมีอัตราเรียกเก็บภาษีนำเข้า 50% โดยจะจัดสรรโควตาผ่านภาคเอกชนเป็นรายปี ซึ่งจะจัดสรรให้เอกชนสามารถนำเข้าจากประเทศที่มีข้อตกลงร่วมจำนวนทั้งหมด 7.55 แสนตัน ได้แก่ ไทย 2.93 แสนตัน เวียดนาม 2.93 แสนตัน ปากีสถาน 5 หมื่นตัน อินเดีย 5 หมื่นตัน จีน 5 หมื่นตัน ออสเตรเลีย 1.5 หมื่นตัน และเอลซัลวาดอร์ 4,000 ตัน ส่วนอีก 5 หมื่นตันที่เหลือ สามารถนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ได้
อย่างไรก็ตาม แม้ฟิลิปปินส์จะมีการจัดสรรโควตาดังกล่าวทุกปี แต่ยังพบว่ามีการนำเข้าข้าวจากไทยน้อย เนื่องจากผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์อ่อนไหวด้านราคา แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ชาวฟิลิปปินส์มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับร้านอาหารไทยในฟิลิปปินส์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การจัดสรรโควตาดังกล่าวเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทย ที่ขยายปริมาณส่งออกข้าวมายังฟิลิปปินส์มากขึ้น ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะข้าวขาวที่ฟิลิปปินส์ปลูกได้ รวมถึงข้าวสีและข้าวคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ ด้วย
สำหรับการส่งออกข้าวไปตลาดฟิลิปปินส์ ปี 2557 ปริมาณ 353,044 ตัน ปี 2558 ปริมาณ 821,088 ตัน และช่วง 10 เดือนแรกปี 2559 (ม.ค.-ก.ย.) ปริมาณ 166,706 ตัน ส่วนการส่งออกข้าวโดยรวมของไทยช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปริมาณ 8.7 ล้านตัน มูลค่า 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ที่มา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกข้าวไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 ธันวาคม 2559 (ข้อมูลไม่เป็นทางการ) พบว่า ไทยส่งออกข้าวปริมาณ 9.2 ล้านตัน อินเดียส่งออกข้าวได้ 9.5 ล้านตัน และเวียดนามส่งออกข้าว 4.5 ล้านตัน ทำให้คาดการณ์ว่า ปี 2559 อินเดียจะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ค่อนข้างแน่นอนแล้ว แม้ว่ามีการคาดการณ์จนถึงสิ้นปีนี้ ไทยจะส่งออกข้าวได้เกินเป้าหมาย 9.5 ล้านตัน อยู่ที่ 10 ล้านตันก็ตาม
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบต่อการส่งออกข้าวช่วงปลายปีไปจนถึงต้นปี 2560 คือ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า แต่เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งแล้วยังอ่อนค่าน้อยกว่า โดยเฉพาะเวียดนามที่ค่าเงินปัจจุบันได้อ่อนค่าลงไป 8-9% แต่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไป 2-3% ทำให้ราคาส่งออกข้าวเวียดนามห่างจากไทยมากขึ้น โดยราคาส่งออกข้าวขาว 5% ไทยส่งออกที่ 370 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ราคาส่งออกข้าวชนิดเดียวกันของเวียดนามส่งออกที่ 340-345 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือห่างกันประมาณ 30-40 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน
นอกจากนี้ “มีการคาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวเวียดนามในปีหน้า ที่จะออกสู่ตลาดช่วงเดือนมีนาคมจะทอยอยออกมามาก ซึ่งจะมีผลต่อการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง หากราคาข้าวไทยห่างกับเวียดนามจะทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวจากเวียดนามแทน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ไทยจะมีการระบายข้าวในสต็อกซึ่งเป็นข้าวเก่าออกมาประมาณ 3 ล้านตัน โดยราคาข้าวเก่าของไทยกับข้าวใหม่ของเวียดนามน่าจะใกล้เคียงกันที่ 300-350 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ที่จะไปขายแข่งขันในตลาดแอฟริกาได้ โดยในปี 2560 สมาคมฯ ยังมองการส่งออกข้าวไทยอยู่ที่ประมาณ 9.5 ล้านตัน”
ที่มา หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
เวียงจันทน์ไทม์ส รายงานว่า ลาวได้เริ่มขายข้าวให้กับจีนในปี 2558 โดยกระทรวงการเกษตรของลาวคาดการณ์ว่า ในปี 2559 ตัวเลขส่งออกข้าวเหนียวและข้าวเก่าจะอยู่ที่ราว 4,200 ตัน และจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8,000 ตัน ในปี 2560 เนื่องจากความต้องการจากตลาดจีนเพิ่มสูงขึ้นในเดือนมีนาคม 2558 บริษัท Xuanye (Lao) Co., Ltd ได้รับการอนุมติจากคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ให้เป็นผู้ส่งออกข้าวจากประเทศลาวมายังประเทศจีน แต่เพียงผู้เดียว โดยให้โควตาที่ 8,000 ตัน ผลิตภัณฑ์ข้าวหลักๆ นั้นมาจากจังหวัดสะหวันนะเขต ภายใต้แผนการส่งเสริมการลงทุนในชื่อ 2+3 Investment Promotion Scheme ซึ่งภายใต้แผนการนี้ เกษตรกรจะมีส่วนร่วมในแง่ของที่ดินและแรงงาน ขณะที่บริษัทจะจัดหาเงินทุนความช่วยเหลือทางเทคนิคและตลาด ส่วนความท้าทายที่สำคัญของเกษตรกรลาวก็คือ ต้นทุนสินค้าและการขนส่งที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
การเปิดตลาดจีนถือเป็นการยกระดับบทบาทของกระทรวงเกษตรและป่าไม้ของลาวในการส่งเสริมข้าวลาว ให้เห็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้มาตรฐานสากล กระทรวงฯ ยังได้ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อปลูกข้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสำหรับส่งออกไปยังจีน โดยให้ความสำคัญกับน้ำ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และฤดูกาล การเปิดตัวตลาดข้าวอินทรีย์ของลาวในประเทศจีนถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับข้าวลาวในการเข้าถึงตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งจะเป็นการรับประกันตลาดให้กับเกษตรกรชาวลาว และช่วยขจัดความยากจนในลาว
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2543 ลาวส่งออกข้าวกว่า 300,000 ตันต่อปี ไปยังเวียดนาม ไทย จีน และประเทศอื่นๆ ลาวมีแผนผลิตข้าวประมาณ 5 ล้านตันภายในปี 2563 เพื่อรับประกันความมั่นคงด้านอาหารในประเทศ สำหรับในปีงบประมาณนี้ การผลิตข้าวของลาวอยู่ที่ 4.12 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.35 ล้านตันในปี 2560
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ), สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 26 ธ.ค.59 - 1 ม.ค. 60--