1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60
1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้
(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)
(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)
(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้
(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)
(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)
(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)
(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)
(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)
2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด
(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)
(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)
(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)
(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)
3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน
(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)
(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)
(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)
(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากช่วงนี้ปริมาณการซื้อขายข้าวในตลาดต่างประเทศทรงตัว จึงส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
1.2 ราคา
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,267 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,072 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.15 ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,489 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,353 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.86
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 22,900 บาท ราคาลดลงจากตันละ 23,150 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.08
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,950 บาท ราคาราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน 3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 684 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,178 บาท/ตัน)
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 526 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,593 บาท/ตัน)
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 377 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,326 บาท/ตัน)
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 368 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,008 บาท/ตัน)
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 389 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,750 บาท/ตัน)
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.3476 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
นายจัน ตวน อันห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ประกาศยกเลิกกฎข้อบังคับมาตรา 6139 ที่กำหนดเงื่อนไขสำหรับบริษัทที่ต้องการส่งออกข้าวและจำกัดเพดานเทรดเตอร์ส่งออกข้าวไว้ไม่เกิน 150 รายแล้ว
การเคลื่อนไหวข้างต้น มีขึ้นหลังเชี่ยวชาญชี้ว่า กฎระเบียบดังกล่าวที่ประกาศใช้เมื่อ 3 ปีก่อน นอกจากจะควบคุมจำนวนผู้ส่งออกข้าวแล้ว ยังมีการกำหนดโควตาส่งออกข้าวไว้อย่างน้อย 10,000 ตันต่อปี สำหรับผู้ส่งออกแต่ละรายด้วย นั้น ทำให้บรรดาผู้ส่งออกต้องเร่งจัดหาข้าวเพื่อส่งออกให้ได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ โดยไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องคุณภาพข้าว
กฎดังกล่าว ยังทำให้บริษัทจำนวนมากที่พัฒนาแบรนด์ข้าวของตัวเองและมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวนาโดยตรง ดำเนินการในเชิงรุกและส่งออกผลิตภัณฑ์ของตัวเองโดยตรงไม่ได้ ต้องไปใช้บริการพ่อค้าคนกลางแทน ซึ่งข้อบังคับเหล่านี้ เป็นอุปสรรคสำหรับการขยายตัวของภาคส่งออกข้าวและควรยกเลิกไป
หลังการยกเลิกข้อบังคับดังกล่าวแล้ว คาดว่ากระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามจะเดินหน้าสร้างตลาดที่แข็งแกร่ง ให้ภาคธุรกิจเข้ามาลงทุนในการผลิตและการค้าข้าว เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวนาควบคู่ไปกับการส่งเสริมการส่งออกข้าวคุณภาพสูงด้วย ทั้งนี้ กระทรวงยังให้คำมั่นถึงการยกเลิกขั้นตอนการยื่นเอกสาร 15 ประเภท และกระบวนการดำเนินงานต่างๆ อีกราว 108 ขั้นตอน เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น สอดรับนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชน พัฒนาบรรยากาศการลงทุนให้ดีขึ้น และเพิ่มขีดการแข่งขันของประเทศ
ที่มา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ปี 2559 รัฐบาลกัมพูชารายงานตัวเลขการส่งออกข้าวสารไปยังจีนซึ่งมียอดรวม 127,460 ตัน เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานของสำนักเลขานุการศูนย์บริการส่งออกข้าวของกัมพูชา ที่แสดงให้เห็นว่า จีนเป็นประเทศผู้ซื้อข้าวอันดับ 1 ของกัมพูชา ตามด้วยฝรั่งเศสและโปแลนด์
นายฮวน วันหาน ปลัดกระทรวงเกษตรของกัมพูชาระบุว่า จีนเป็นตลาดหลักในการส่งออกข้าวสารของกัมพูชา โดยคาดว่าในปี 2560 จะส่งออกข้าวประมาณ 2 แสนตัน นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า ในปีที่ผ่านมากัมพูชาขายข้าวสารทั้งหมดรวม 542,144 ตัน ไปยังภูมิภาคต่าง รวม 66 ประเทศ เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน
กัมพูชาเป็นประเทศกสิกรรม เนื่องจากประชากรร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยกลุ่มประเทศอาเซียนในปีที่ผ่านมามีการผลิตข้าวสารออกสู่ตลาดรวม 9 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) คาดการณ์ตลาดข้าวกัมพูชาปี 2559 ว่า กัมพูชาจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 0.8 ล้านตันข้าวสาร ลดลงคิดเป็นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับจำนวนการส่งออกข้าว 1.1 ล้านตัน ในปี 2558 ซึ่งเป็นผลจากปัญหาด้านต้นทุนที่สูง ทำให้ไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งได้
นอกจากนี้ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรกัมพูชา เผยว่าการส่งออกข้าวของกัมพูชาเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 542.144 ตัน เพิ่มขึ้นเพียง 3,700 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.07 จากยอดส่งออกปี 2558 ขณะที่การเติบโตปี 2558 มีร้อยละ 39
โดยนายเฮียน วันฮาน ปลัดกระทรวงเกษตรยอมรับว่า การเติบโตของการส่งออกที่ลดลง ชี้ว่าแผนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันล้มเหลว รัฐบาลต้องมีแผนใหม่ นอกจากนี้นายฮุน ลัก ประธานสมาพันธ์ข้าวกล่าวว่า ปี 2559 เป็นปีที่ท้าทายยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมข้าว เพราะผู้ส่งออกท้องถิ่นต้องแข่งขันกับคู่แข่งหลายประเทศที่ขายข้าวในปริมาณมากจนล้นตลาด ขณะที่เกษตรกรกัมพูชาก็เพิ่มผลผลิตต่อไร่ไม่ได้ เพราะขาดเงินทุนและความสามารถในการเก็บรักษา
ด้านนายชง สราญ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารของอัมรู ไรซ์ กลับมองว่า “รับได้” กับผลการส่งออกข้าว แต่ยังไม่รู้สึกพอใจ เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานของกัมพูชาไม่คงที่เพราะข้าวที่ออกสู่ตลาดเมื่อต้นปี 2559 มีปริมาณน้อยมาก แต่กลับล้นตลาดในช่วงท้ายปี แม้ข้าวที่ส่งออกจะมีคุณภาพสูง แต่เมื่อระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำ กำไรในอุตสาหกรรมนี้ก็ลดลงอยู่ดี อย่างไรก็ตาม นายลัก ประเมินว่า การส่งออกข้าวปีนี้จะเติบโตหลังจากกัมพูชาทำสัญญาส่งออกข้าวกับจีนและเวียดนาม
ที่มา หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์, หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงของญี่ปุ่น (MAFF) เริ่มการประมูลข้าวนำเข้าแบบ SBS (Simultaneous Buying and Selling Tender System หรือระบบการประมูลโดยซื้อ-ขายในเวลาเดียวกัน) ประจำปีงบประมาณ 2559 อีกครั้ง หลังจากเปิดประมูลฯ ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนกันยายน 2559 และชะลอการเปิดประมูลครั้งต่อไปมากว่า 2 เดือน เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการประมูลข้าวนำเข้าแบบ SBS ที่ผ่านมา บริษัทผู้นำเข้าข้าวจากต่างประเทศของญี่ปุ่นจ่ายเงินช่วยเหลือบริษัทขายส่งข้าวนำเข้าจากต่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งสร้างความกังวลให้กับเกษตรกรญี่ปุ่นผู้ปลูกข้าวว่าข้าวนำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาถูกลงและแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศ ทั้งนี้การเริ่มประมูลข้าวนำเข้าครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดนั้น MAFF ได้ออกข้อห้ามไม่ให้ภาคเอกชนผู้เข้าร่วมการประมูลมีการจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวแล้ว
สำหรับผลการประมูลข้าวนำเข้าครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ปรากฏว่ามีการประมูลข้าวนำเข้าเป็นจำนวนทั้งสิ้น 11,384 ตัน โดยเป็นข้าวนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา (8,445 ตัน) ออสเตรเลีย (1,461 ตัน) ไทย (838 ตัน) และจีน (600 ตัน) ตามลำดับ ราคาประมูลที่ MAFF ขายให้กับบริษัทขายส่งข้าวนำเข้าฯ ประมาณ 172,173 เยน/ตัน ทั้งนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมร้านอาหาร (food service) ของญี่ปุ่นยังคงมีความต้องการข้าวนำเข้าจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินการตามแนวโน้มเศรษฐ กิจของญี่ปุ่น อนึ่ง ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) ญี่ปุ่นจะเพิ่มปริมาณโควตานำเข้าแบบ SBS ให้กับภาคีความตกลง TPP อีก 78,400 ตัน จากเดิมที่ญี่ปุ่นจัดสรรปริมาณโควตานำเข้าแบบ SBS ภายใต้WTO ประมาณ 100,000 ตัน ทั้งนี้ การประกาศถอนตัวออกจากความตกลง TPP ของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ (นายโดนัลด์ทรัมป์) ส่งผลให้การบังคับใช้ความตกลง TPP และการเปิดตลาดเพิ่มเติมในสินค้าข้าวของญี่ปุ่นดังกล่าวมีความไม่แน่นอน
ทั้งนี้ ข้าวเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวสำหรับญี่ปุ่น จึงมีการกำหนดกลไกควบคุมการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ โดยภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ญี่ปุ่นจะนำเข้าข้าวเพื่อการบริโภค (table rice) ประมาณ 10,000 ตันต่อปีภายใต้ระบบ SBS และนำเข้าเพื่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอีกประมาณ 760,000 ตันต่อปี สำหรับปี 2558 ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวภายใต้ระบบ SBS ประมาณ 29,315 ตัน เป็นการนำเข้าจากประเทศไทยประมาณ 6,276 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 12.15 ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ Nihon Keizai Shinbun คาดว่า ในภาพรวม ญี่ปุ่นยังมีความต้องการข้าวภายใต้ระบบ SBS เพิ่มอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรม food service ต้องการลดต้นทุนวัตถุดิบ โดยใช้ข้าวนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่า จึงเป็นโอกาสสำหรับการขยายตลาดข้าวนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งข้าวนำเข้าจากไทยด้วยเช่นกัน
กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงญี่ปุ่น เตรียมยกร่างมาตรฐานแป้งข้าวเจ้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ผลิตสินค้าอาหารในการเลือกใช้แป้งข้าวเจ้าได้อย่างมั่นใจ และยังเป็นการส่งเสริมการใช้แป้งข้าวเจ้าในประเทศให้มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย โดย MAFF จะจัดทำ Guideline Book และมาตรฐานแป้งข้าวเจ้าให้แล้วเสร็จเพื่อเผยแพร่ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ก่อนบังคับใช้จริงในเดือนเมษายนศกหน้า
ทั้งนี้ MAFF จะกำหนดมาตรฐานแป้งข้าวเจ้าจากคุณสมบัติต่างๆ อาทิ ขนาดของเม็ดแป้ง ปริมาณของ amylose และค่าความชื้น เป็นต้น โดยแบ่งออกเป็นมาตรฐานกลุ่มที่ 1 ซึ่งจะใช้กับแป้งข้าวเจ้าสำหรับผลิตขนมหรืออาหาร กลุ่มที่ 2 สำหรับผลิตขนมปัง และกลุ่มที่ 3 สำหรับผลิตเส้นบะหมี่ต่างๆ นอกจากนี้ จะกำหนดให้แสดงค่า non-gluten ด้วย
ซึ่งข้อกำหนดของญี่ปุ่นจะมีความเข้มข้นไม่แพ้ข้อกำหนดมาตรฐานแป้งข้าวเจ้าของประเทศอื่น
ที่มา สำนักงานส่งเสริมการค้าชนต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 9 - 15 ม.ค. 60--