จับตาเส้นทางกาแฟเมืองย่าโม สศท.5 เปิดผลสำรวจการผลิต-แหล่งจำหน่ายของจังหวัด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 23, 2017 16:01 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

จับตาเส้นทางกาแฟเมืองย่าโม สศท.5 เปิดผลสำรวจการผลิต-แหล่งจำหน่ายของจังหวัด

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 เผยผลสำรวจการผลิตกาแฟ ปี 2559 จังหวัดนครราชสีมา ระบุ พื้นที่ปลูกกาแฟทั้งจังหวัดประมาณ 540 ไร่ ผลผลิตประมาณ 16.42 ตัน เฉลี่ยอยู่ที่ไร่ละ 58 กิโลกรัม ส่วนมากร้อยละ 80 เป็นพันธุ์อาราบิก้า มีแหล่งเพาะปลูกอยู่ใน 2 อำเภอ คือ วังน้ำเขียว และ สูงเนิน โดยผลผลิตทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการแปรรูป และจำหน่ายใน 3 แหล่ง คือ วิสาหกิจชุมชนกาแฟดงมะไฟ ฟลอราปาร์ค และโรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กาแฟ เป็นพืชเศรษฐกิจตัวหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูก รวมไปถึงผู้แปรรูปและผู้ค้าด้วย ซึ่งกาแฟในประเทศไทยส่วนใหญ่ปลูกพันธุ์อยู่ 2 พันธุ์ คือ โรบัสต้า (ร้อยละ 98) และอาราบิก้า (ร้อยละ 2) โดยพันธุ์อาราบิก้า ส่วนใหญ่ปลูกอยู่ทางภาคเหนือในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และน่าน ตามลำดับ โดยกาแฟที่มีชื่อเสียงของไทย คือ กาแฟดอยช้างของจังหวัดเชียงราย ที่เป็นกาแฟคุณภาพมาตรฐานเทียบเท่าสากล ส่วนพันธุ์โรบัสต้า ส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่ ภาคใต้ จังหวัดระนอง สุราษฎร์ธานี และชุมพร ตามลำดับ

ในส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา (สศท.5) ได้สำรวจปริมาณการผลิตกาแฟ ปี 2559 ร่วมกับการสำรวจ RRA ในจังหวัด ซึ่งมีพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งจังหวัดประมาณ 540 ไร่ เนื้อที่ให้ผลผลิตปี 2559 ประมาณ 280 ไร่ กาแฟที่ปลูกส่วนมากร้อยละ 80 จะเป็นพันธุ์อาราบิก้า พื้นที่ปลูกกาแฟของจังหวัดนครราชสีมา จะมีแหล่งเพาะปลูกอยู่ในพื้นที่หลัก 2 อำเภอ คือ อำเภอ วังน้ำเขียว กับอำเภอสูงเนิน โดยร้อยละ 90 จะปลูกอยู่ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว

สำหรับผลผลิตกาแฟ ปี 2559 มีประมาณ 16.42 ตัน เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ไร่ละ 58 กิโลกรัม (เมล็ดแห้ง) ซึ่งผลผลิตทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการแปรรูป และจำหน่าย โดย 3 แหล่งหลักๆ คือ 1.วิสาหกิจชุมชน กาแฟดงมะไฟ(อำเภอสูงเนิน) ซึ่งเป็นกาแฟ GI โคราชและเป็นที่รู้จักกันในชื่อแบรนด์ กาแฟโคราช 2.ฟลอราปาร์ค ซึ่งมีไร่ฟ้าประทานเป็นเจ้าของผลิต แปรรูป และจำหน่ายเอง และ 3. โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว ซึ่งมีการปลูกเอง และรับซื้อจากสมาชิกเพื่อการแปรรูป ทั้งที่เป็นผลิตกาแฟและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น ครีมขัดผิวกาแฟ เป็นต้น

ทั้งนี้ ปีถัดไป คาดว่าพื้นที่ปลูกกาแฟจะมีทิศทางแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเชื่อว่าจะเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีอนาคต ที่สดใสของจังหวัดนครราชสีมาด้วย ซึ่งหากเกษตรกรท่านใดสนใจปลูกกาแฟก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมกับผู้ผลิตและจำหน่ายทั้ง 3 แหล่งข้างต้น หรือสอบถามได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา โทร. 044 465 120 และอีเมล zone5@oae.go.th

*********************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ