1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60
1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต
(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)
(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)
(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)
(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)
(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)
(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)
(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)
(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)
2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด
(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)
(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก(ธ.ก.ส.)
(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว(ธ.ก.ส.)
(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)
3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน
(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)
(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)
(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)
(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวแล้วก็ตาม
1.2 ราคา
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,266 บาท ลดลงจากตันละ 9,267 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.02
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,568 บาท สูงขึ้นจากตันละ 7,489 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.05
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 22,550 บาท ลดลงจากตันละ 22,830 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.23
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,950 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 691 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,273 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 684 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,235 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.02
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 530 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,617 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 526 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,593 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.76
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 380 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,348 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 377 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,326บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.80
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 371 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,032 บาท/ตัน)
ราคาสูงขึ้นจากตันละ 368 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,008บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.82
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 389 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,664 บาท/ตัน) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.1267 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2559/60 ประจำเดือนมกราคม 2560 ว่าจะมีผลผลิต 480.016 ล้านตันข้าวสาร (715.8 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 472.387 ล้านตันข้าวสาร (704.2 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.61 จากปี 2558/59
บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2559/60 ณ เดือนมกราคม 2559 ว่าผลผลิต ปี 2559/60 จะมี 480.016 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2558/59 ร้อยละ 1.61 การใช้ในประเทศจะมี 477.768 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.54 การส่งออก/นำเข้าจะมี 40.780 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.75 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 120.207 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.21
โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล เมียนมาร์ กัมพูชา อียิปต์ อียู กายานา เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา อินเดีย ปากีสถาน ปารากวัย และอุรุกวัย
สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แองโกลา จีน ไอเวอรี่โคสต์ อียู กินี เฮติ อิรัก เคนย่า เม็กซิโก โมแซมบิค เนปาล ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล และสหรัฐอาหรับเอมิเรส ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล คิวบา อินโดนีเซีย อิหร่าน ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา
ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์
2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
ภายใต้ข้อตกลงการส่งออกข้าว เวียดนามต้องการเพิ่มปริมาณส่งออก 3 ล้านตัน ไปยังฟิลิปปินส์เป็นระยะเวลา 2 ปี สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ซึ่งที่ผ่านมา ไทยและเวียดนามได้รับอนุญาตส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์ด้วยวิธีการซื้อขายระหว่างรัฐบาล และภายใต้ข้อตกลงนี้ บริษัท เซาท์เทิร์นฟู้ด คอเปอเรชั่น และบริษัท นอร์ทเทิร์นฟู้ด คอเปอเรชั่น ยังคงเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ โดยกำหนดที่จะซื้อขายครั้งแรกในช่วงเดือนมกราคมนี้ ซึ่งที่ผ่านมาช่วงปี 2554-2559 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากเวียดนาม 5 แสนตัน ถึง 1.5 ล้านตัน โดยมูลค่าการส่งออกของเวียดนาม คิดเป็นร้อยละ 17 ถึง 24 ของมูลการส่งออกในอาเซียน
นอกจากนี้ ประเทศคู่แข่งที่สำคัญของเวียดนาม เช่น ไทย อินเดีย ปากีสถาน กัมพูชา และเมียนมาร์ มีการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดส่งออก จึงเป็นผลดีต่อเวียดนามที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกและทำให้ข้าวของเวียดนามเป็นที่รู้จักในตลาดโลก ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์คาดหวังว่าจะนำเข้าข้าวจากต่างประเทศลดลง แต่ยังคงให้ความสำคัญกับข้าวจากกัมพูชา ไทย และเวียดนาม ทำให้ผู้ส่งออกเวียดนามจำเป็นที่จะต้องเอาชนะประเทศคู่แข่งให้ได้ ขณะที่ไทยมีแผนที่จะระบายข้าวในสต๊อกประมาณ 9 ล้านตัน ให้หมดก่อนสิ้นปี 2560 ขณะที่ สปป.ลาวมีช่องทางการส่งออกข้าวไปจีน และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของ สปป.ลาว
ที่มา: Rice Outlook Redefining Rice Industry
เมียนมาร์ต้องการขายข้าวให้กับปากีสถานด้วยระบบการซื้อขายระหว่างรัฐบาล โดยเมียนมาร์มองว่าปากีสถานสามารถเป็นเป้าหมายใหม่ที่จะส่งออกข้าว นอกจากนี้ รัฐบาลเมียนมาร์เตรียมที่จะประกาศยกเลิก คำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศเพื่อปกป้องชาวนาของตนที่มีต้นทุนการผลิตสูง และเข้มงวดการลักลอบส่งออกข้าวทางชายแดนไปยังจีน ส่งผลให้การส่งออกข้าวไปยังจีนลดลงและกระทบต่อราคาข้าวในประเทศที่ปรับตัวลดลงด้วย รัฐบาลจึงเร่งช่วยเหลือด้วยการแทรกแซงราคา เพราะตลาดส่งออกข้าวของเมียนมาร์กว่าร้อยละ 80 คือ จีน โดยแหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ของเมียนมาร์ ระบุว่า ถึงแม้ว่าราคาข้าวจะฟื้นตัว แต่ระดับราคายังคงต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องยกเลิกคำสั่งซื้อข้าวหลายรายการ
ปัจจุบัน เมียนมาร์ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีด้านการเกษตร อีกทั้งยังต้องแข่งขันกับประเทศที่เป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ เช่น ไทย เวียดนาม กัมพูชา อินเดีย และปากีสถาน ดังนั้นการขายข้าวให้กับปากีสถานจึงเป็นทางออกหนึ่งที่จะลดการพึ่งพาการส่งออกไปจีน นอกจากนี้ ช่วงเดือนตุลาคม 2559 ที่ได้มีการลงนามในข้อตกลง (MoU) กับอินโดนีเซียนั้น จะทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวของเมียนมาร์เพิ่มขึ้น 300,000 ตัน ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เมียนมาร์สามารถส่งออกข้าวไปจีนผ่านทางชายแดนได้ 34,126 ตัน สูงขึ้นจากสัปดาห์แรกของเดือนเดียวกันที่ส่งออกได้ 8,826 ตัน นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา เมียนมาร์สามารถส่งออกข้าวไปสิงคโปร์ ยุโรป แอฟริกา รัสเซีย และบราซิล ปริมาณรวม 767,753 ตัน
ที่มา: Rice Outlook Redefining Rice Industry
ถึงแม้ว่าข้าวจะไม่ใช่อาหารหลักของชาวนามิเบีย แต่รัฐบาลของนามิเบียกลับมีความกระตือรือร้นเป็นอย่างยิ่งที่จะเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร จากผลงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ปริมาณผลผลิตจะเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำของนามิเบีย แต่ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งส่งผลต่อผลผลิตข้าว ซึ่งปัญหาดังกล่าว คณะผู้แทนของนามิเบีย นำโดย เอกอัครราชทูต Anne Namakau Mutelo ได้ไปเยือนสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute : IRRI) เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับผลงานวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยที่เกี่ยวกับภัยแล้ง โดย Anne Namakau Mutelo กล่าวว่า เราได้เรียนรู้มากมาย ได้เห็นว่ามีคนจากหลายเชื้อชาติมาทำงานที่นี่เพื่ออนุรักษ์ข้าว เพิ่มปริมาณผลผลิต และทำให้มั่นใจว่าโลกจะมีความมั่นคงด้านอาหาร นาย Rector Mutelo ประธานบริหารระบบไบโอแมทริกซ์(Biometric system) ของนามิเบีย กล่าวว่า นี่คือข้าวแห่งสหประชาชาติ เราวางแผนที่จะทำข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยของนามิเบียกับสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ เพื่อสร้างบัณฑิตปริญญาโท อาจารย์ และนักศึกษา ตลอดจนบุคคลากรด้านการเกษตรให้กับประเทศ
Heritha Nankole Muyoba จากบริษัทที่ปรึกษา อาร์เอ็มซี (RMZ Consulting) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนด้านการศึกษาและธุรกิจของนามิเบีย ที่ได้ร่วมมือกับเกษตรกร กล่าวว่า สิ่งที่สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศจะเสนอให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวของนามิเบีย คือ พันธุ์ข้าวที่ทนแล้งและทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และยังกล่าวถึงผลตอบแทนที่ได้จากพันธุ์ข้าวเหล่านี้ในธนาคารพันธุ์ข้าวระหว่างประเทศ(International Rice Genebank) นอกจากนี้ เราได้เห็นระบบฐานข้อมูลและวิธีการเก็บรักษาพันธุ์ข้าวต่างๆและได้วางแผนที่จะสร้างธนาคารพันธุ์ข้าวของนามิเบียเอง ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากศูนย์ และการที่คณะผู้แทนของนามิเบียไปดูงานในครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่จะได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ
ที่มา: Rice Outlook Redefining Rice Industry
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 16 - 22 ม.ค. 60--