เกาะติดแปลงใหญ่ต้นแบบข้าว อุดรธานี สศก. ลงพื้นที่ ศพก.เชียงเพ็ญ เก็บข้อมูลการดำเนินงาน
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่ สำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลด้านการบริหารจัดการกิจกรรมโลจิสติกส์ในพื้นที่แปลงใหญ่ต้นแบบข้าว กข. 6 ณ ศพก. ต.เชียงเพ็ญ อ.กุดจับ จ.อุดรธานี แจง พื้นที่แปลงใหญ่รวม 3,117 ไร่ เกษตรกรสมาชิก 200 ครัวเรือน มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 82,230 บาท/ปี
นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลด้านการบริหารจัดการกิจกรรมโลจิสติกส์ในพื้นที่แปลงใหญ่ต้นแบบข้าว กข.6 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตำบลเชียงเพ็ญ อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมีนายชัชวาล ท้าวมะลิ เป็นประธานกลุ่มเกษตรกรดูแลแปลงใหญ่ และมีนายเนตร นักบุญ เกษตรอำเภอกุดจับ เป็นผู้จัดการแปลงใหญ่
จากการผลการลงพื้นที่ พบว่า กิจกรรมที่กลุ่มเกษตรกรดำเนินการในแปลงใหญ่ คือ 1) การลดค่าใช้จ่าย ใช้การไถกลบตอซัง ผลิตปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยอินทรีย์ และใช้เมล็ดพันธุ์ดี 2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยการใช้ปุ๋ยสั่งตัด และ 3) การเพิ่มมูลค่า โดยการแปรรูปขายเป็นข้าวสาร รวมทั้งเริ่มส่งเสริมการผลิตพืชที่ใช้น้ำน้อย ได้แก่ ผลิตถั่วลิสง ส่งบริษัท โก๋แก่ รวมทั้งผลิตปอเทืองส่งขาย พด. เดือนละ 4 ตัน โดยพื้นที่แปลงใหญ่ที่ดำเนินการ จำนวน 3,117 ไร่ เกษตรกรสมาชิก 200 ครัวเรือน มีผลการบริหารจัดการผลผลิตในปี 2559 ที่ผ่านมา มีดังนี้
1. ข้าวเหนียว กข.6 พื้นที่ปลูก 2,000 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 600 กก./ไร่ ผลผลิตรวม 1,200,000 กก. (1,200 ตัน) รวมมูลค่า 12,890,000 บาท (ไม่รวมเก็บไว้ทำพันธุ์และบริโภค) แยกเป็น
การทำแปลงเมล็ดพันธุ์ 200 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 600 กก./ไร่ ผลผลิตรวม 120,000 กก. จำหน่ายให้เกษตรกรในพื้นที่ทำพันธุ์จำหน่าย กก. ละ 20 บาท (ศูนย์จำหน่าย กก. ละ 25 บาท) ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตเรื่องเมล็ดพันธุ์ 600,00 บาท มูลค่าผลผลิต 2,400,000 บาท
ข้าวคุณภาพ 1,800 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 600 กก./ไร่ ผลผลิตรวม 1,080,000 ตัน โดยเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน 200 ครอบครัว 1,000 คนๆ ละ 350 กก. ปริมาณข้าว 350,000 กก. และแปรรูปเพื่อจำหน่ายเป็นข้าวสาร เป้าหมายเกษตรกร ผู้ยากจนและชาวสวนยาง 500 ครัวเรือน ข้าวเปลือก 200,000 กก. แปรรูปเป็นข้าวสารได้ 120,000 กก. จำหน่าย กก. ละ 30 บาท เป็นเงิน 3,600,000 บาท รวมทั้งจำหน่ายให้โรงสีกุดจับการเกษตร จำนวน 530,000 กก. โดยโรงสีจะรับซื้อให้ในราคาสูงกว่าปกติ (ตาม MOU กก. ละ 20 สตางค์) จำหน่าย กก. ละ 13 บาท เป็นเงิน 6,890,000 บาท
2. ข้าวหอมมะลิ พื้นที่ปลูก 1,117 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 600 กก./ไร่ ผลผลิตรวม 670,200 กก. (670 ตัน) รวมมูลค่า 11,972,200 บาท แยกเป็น
- แปรรูปเป็นข้าวถุง (ข้าวกล้องและข้าวฮาง) 300,000 กก. แปรรูปได้ 180,000 บาท กก. ละ 50 บาท เป็นเงิน 9 ล้านบาท
- เก็บไว้ทำพันธุ์และบริโภคทำบุญตามประเพณี 100,000 กก.
- จำหน่ายให้โรงสีกุดจับการเกษตร 270,000 กก. โดยโรงสีจะรับซื้อให้ในราคาสูงกว่าปกติ (ตันละ 200- 500 บาท) เป็นเงิน 2,972,200 บาท
ทั้งนี้ รวมมูลค่าผลผลิตข้าวเหนียวและข้าวเจ้าหอมมะลิทั้งหมด 24,862,200 บาท มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 2,700 บาทต่อไร่ พื้นที่ 3,117 ไร่ รวมเป็นเงินค่าต้นทุน 8,415,900 บาท กำไรทั้งหมด 16,446,300 บาท เกษตรกร 200 ครัวเรือน มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 82,230 บาท/ปี ทั้งนี้ ประธานกลุ่มเกษตรกร มีความต้องการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาสนับสนุนโรงสีที่มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสีข้าวขาว แทนการการจ้างผู้ประกอบการอื่นสี และต้องการให้มีการดำเนินโครงการแปลงใหญ่อย่างต่อเนื่อง
*********************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--