1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60
1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต
(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)
(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)
(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)
(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)
(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)
(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)
(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)
(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)
2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด
(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)
(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก(ธ.ก.ส.)
(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว(ธ.ก.ส.)
(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)
3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน
(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)
(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)
(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)
(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัว เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตส่วนใหญ่ออกสู่ตลาดแล้ว ขณะที่ตลาดยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง
1.2 ราคา
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,282 บาท สูงขึ้นจากตันละ 9,266 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,601 บาท สูงขึ้นจากตันละ 7,568 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.44
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 22,550 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,870 บาท ลดลงจากจันละ 11,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.67
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 692 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,215 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 691 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,273 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.14
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 531 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,581 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 530 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,617 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.19
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,122 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 380 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,348 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.32
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 367 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,842บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 371 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,032บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.08
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 384 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,437 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 389 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,664 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.29
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.9926 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
เวียดนามประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 ของโลก ไม่บรรลุเป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2559 ที่กำหนดไว้ 5.4 ล้านตัน โดยเป็นปีแรกในรอบ 8 ปี ที่ปริมาณการส่งออกข้าวลดลงต่ำกว่า 5 ล้านตัน
รายงานของกรมศุลกากรของเวียดนาม ระบุว่า ในปี 2559 เวียดนามมีการส่งออกข้าวทั้งหมด 4.8 ล้านตัน ลดลงเกือบ 1 ล้านตัน เมื่อเทียบกับการส่งออกในปี 2558 ทำให้ในปี 2559 เวียดนามมีรายได้จากการส่งออกข้าวเพียง 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2558 และ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2557 ซึ่งตรงข้ามกับที่เวียดนามได้คาดการณ์ไว้ว่าจะส่งออกข้าว 6.3 ล้านตัน ในปี 2557 และ 6.6 ล้านตัน ในปี 2558 เนื่องจากเวียดนามต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่งที่เป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก เช่น ไทย และอินเดีย โดยในเดือนสิงหาคม 2559 ประเทศไทยมีแผนที่จะลดสต็อกข้าวในประเทศประมาณ 9 ล้านตัน ส่งผลให้ข้าวจากเวียดนามแข่งขันได้น้อยลงในตลาดเอเชีย
โดยปริมาณอุปทานข้าวส่วนเกินจากประเทศคู่แข่งหลัก เช่น ไทย ปากีสถาน และอินเดีย รวมทั้งการนำเข้าข้าวที่น้อยลงของประเทศนำเข้าหลัก เช่น จีน และฟิลิปปินส์ ทำให้สถานการณ์การส่งออกข้าวของเวียดนามตกต่ำ ยิ่งไปกว่านั้นอินเดียยังประสบความสำเร็จในการทำสัญญาซื้อขายข้าวปริมาณมหาศาลกับนานาประเทศ เช่น จีน ฟิลิปปินส์ ตะวันออกกลาง และประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา อีกทั้งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาร์ ได้มีการผลักดันการส่งออกข้าวเช่นกัน
ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวเพิ่มเติมว่าเวียดนามมุ่งเน้นที่จะผลิตข้าวให้ได้ปริมาณมาก มากกว่าที่จะมุ่งเน้นด้านคุณภาพ ซึ่งเป็นผลร้ายมากกว่าผลดีในฐานะประเทศผู้ส่งออก นอกจากนี้ ผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามยังเสี่ยงที่จะถูกแบนจากสหรัฐอเมริกาในเรื่องข้าวปนเปื้อนยาฆ่าแมลง ความแห้งแล้ง และการหนุนของน้ำเค็มในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ทำให้ผลผลิตเสียหาย นอกจากนี้ บริเวณตอนกลางของประเทศยังประสบอุทกภัย ทำให้ผลผลิตได้รับเสียหาย
สมาคมอาหารของเวียดนาม ให้เหตุผลที่ราคาข้าวลดลง เป็นผลมาจากการที่ประเทศต่างๆ นำเข้าข้าวลดลง ได้แก่ จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยในปี 2559 เวียดนามส่งออกข้าว 1.7 ล้านตันไปยังจีน ลดลงจากปี 2558 ที่มีการส่งออกถึง 2.1 ล้านตัน ในทำนองเดียวกัน ปี 2559 เวียดนามส่งออกข้าวไปฟิลิปปินส์ 395 พันตัน ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีการส่งออก 1.1 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 คาดการณ์ว่าจีนและฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น จึงอาจจะส่งผลให้เวียดนามเพิ่มปริมาณการส่งออกได้
ที่มา : Rice Outlook Redefining Industry
สมาพันธ์ข้าวของสหรัฐอเมริกา (USA Rice Federation) เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการการเกษตรและการเงิน ภายใต้วุฒิสภาสหรัฐฯ เกี่ยวกับการให้ความสำคัญในเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ถึงสภาพทางเศรษฐกิจของเกษตรกรผู้ผลิตข้าว เจ้าของโรงสี และเศรษฐกิจของการเกษตรโดยรวมของสหรัฐฯ
นายบ๊อบ คัมมิงส์ ประธานฝ่ายปฏิบัติการของสมาพันธ์ข้าวของสหรัฐฯ กล่าวว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เจรจาต่อรองเกี่ยวกับเป้าหมายหลักของ NAFTA ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่า NAFTA เป็นปัจจัยหลักตัวเดียวที่ทำให้เกิดวิกฤตในตลาดข้าวของแคนาดา เม็กซิโก และภาคการส่งออกสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ โดยทรัมป์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงข้อตกลงทางการค้าเป็นเรื่องดี แต่เราต้องดำรงไว้ซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ และสิ่งสำคัญ คือ เราต้องสร้างงานให้กับเกษตรกร และโรงสี ตลอดจนให้ความสำคัญกับการส่งออก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสินค้าข้าวของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ การทำข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ส่งผลให้เม็กซิโกกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการส่งออกข้าวของสหรัฐฯ โดยในแต่ละปีสหรัฐฯ ส่งออกข้าวไปเม็กซิโกมากกว่า 8 แสนตัน ขณะที่ก่อนทำข้อตกลง NAFTA สหรัฐฯ ส่งออกข้าวไปเม็กซิโกต่ำกว่า 3 แสนตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด นอกจากนี้ผู้ส่งออกข้าวของสหรัฐฯ ยังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากมีคู่แข่งจากอเมริกาใต้ และเวียดนาม ส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขัน และความสำเร็จทางการค้าข้าวของสหรัฐฯ ถ้ายังอยู่ใน NAFTA ต่อไป
ที่มา : Rice Outlook Redefining Industry
เมียนมาร์ส่งออกข้าวได้ลดลง สืบเนื่องมาจากจีนชะลอการนำเข้าข้าวจากเมียนมาร์ โดยเลขาธิการสมาพันธ์ข้าวเมียนมาร์ นาย U Ye Min Aung ได้คาดการณ์ปริมาณส่งออกข้าว ในปี 2559/60 จะส่งออกได้ถึง 1 ล้านตัน แต่น้อยกว่าปี 2558/59 ที่ส่งออกได้ 1.3 ล้านตัน โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (เดือนเมษายน-ธันวาคม 2559) เมียนมาร์ส่งออกข้าวได้ 8 แสนตัน ส่วนใหญ่ส่งออกไปจีน สหภาพยุโรป และประเทศในแถบแอฟริกาตะวันตก ทั้งนี้ นาย U Ye Min Aung กล่าวว่า “เรากำลังเจรจากับรัฐบาลศรีลังกาเพื่อที่จะส่งออกข้าวไปศรีลังกา เพราะว่าพวกเขากำลังขาดแคลนเนื่องจากปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ” อย่างไรก็ตาม เมียนมาร์อาจจะส่งออกข้าวได้เพียง 1 ล้านตัน เมื่อเทียบกับ 1.3 ล้านตัน ตามที่ประมาณการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
ในส่วนของ “ข้าวฤดูมรสุม” จะเริ่มเพาะปลูกตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม และจะเริ่มเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ซีงในทางตรงกันข้าม ข้าวฤดูแล้งจะเพาะปลูกในปริมาณที่น้อยกว่า เพราะในหลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำจากชลประทาน โดยจะเริ่มเพาะปลูกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม เก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป โดย นาย U Chan Tha Oo พ่อค้าข้าวในรัฐฉาน กล่าวว่า ในปี 2559 มีบางเดือนที่สถานการณ์การส่งออกข้าวไปจีนค่อนข้างตกต่ำ โดยเฉพาะในเดือนเมษายนและตุลาคม ราคาซื้อขายข้าวกับจีนเฉลี่ยที่อยู่ 376 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่ประเทศอื่นๆ ราคาจะอยู่ที่ 300 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งนาย U Chan Tha Oo ยังกล่าวต่ออีกว่า ตลาดจีนแม้จะมีความผันผวนด้านราคา แต่ยังเสนอราคาที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ
นอกจากนี้ เหตุการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านมา มีสาเหตุมาจากปริมาณฝนที่ตกมากในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่นาข้าวกว่า 1.3 ล้านเอเคอร์ จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 20 ล้านเอเคอร์ จึงส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวลดลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ที่มา : Rice Outlook Redefining Industry
ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมข้าวของอินเดียมากกว่า 24 ราย เข้าร่วมการประชุมเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมข้าวอินเดีย โดยมองว่ารัฐบาลควรเฝ้าระวังการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าข้าว เพื่อส่งเสริมการส่งออก และตรวจสอบปริมาณสินค้าอื่นที่ถูกตีกลับจากต่างประเทศ ทั้งนี้ นาย Rajesh Srivastava ประธานของ CII Regional Committee on Food and Agriculture และ Rabo Equity Advisors กล่าวว่า การตรวจสอบย้อนกลับ เช่น ตรวจสอบย้อนไปถึงแหล่งผลิตสินค้า และติดตามไปจนถึงตลาด ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้อุตสาหกรรมข้าวเป็นสินค้าข้าวที่มีมาตรฐานสากล โดยหลายๆ ประเทศได้ดำเนินการแล้ว ส่งผลให้สามารถส่งออกข้าวได้ และป้องกันสินค้าถูกตีกลับจากประเทศผู้นำเข้า ทำให้ความเสียหายลดลง
ผู้นำกลุ่มฯ ดังกล่าว อาสาที่จะเริ่มดำเนินการในหลายมาตรการ เช่น ขับเคลื่อนการวิจัยเมล็ดพันธุ์ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริการฟาร์ม โดย นาย Devender K Singh ประธานฝ่ายบริหารสินค้าเกษตรและแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก กล่าวว่า อุตสาหกรรมข้าวนั้นมีอนาคตที่สดใส แต่จะต้องแก้ปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพก่อน โดยให้ความสำคัญกับแหล่งผลิตเพื่อคลายความกังวลใจในเรื่องของการใช้ยาฆ่าแมลงของเกษตรกร และความต้องการของตลาด โดยผู้นำกลุ่มฯ ได้ขอให้รัฐบาลช่วยในเรื่องของการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าข้าว ตั้งแต่หน้าฟาร์มจนถึงตลาด นอกจากนี้ยังขอให้รัฐบาลช่วยให้ความมั่นใจว่า เกษตรกรจะได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น และกลไกราคาเป็นไปอย่างโปร่งใส
ที่มา : Rice Outlook Redefining Industry
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 23 - 29 ม.ค. 60--