สศก. ลงพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ชูสหกรณ์บ้านหนองครก กับแนวทางช่วยเกษตรกรสวนยาง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 31, 2017 11:21 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. ลงพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ชูสหกรณ์บ้านหนองครก กับแนวทางช่วยเกษตรกรสวนยาง

รองเลขาธิการ สศก. ลงพื้นที่สำรวจและเยี่ยมเยียนเศรษฐกิจการเกษตรอาสาที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดตรัง แนะให้ชูสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก ตำบลหนองปรือ เป็นตัวอย่างสหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จ ในการนำนวัตกรรมแปรรูยางพารา ช่วยเกษตรกรชาวสวนยางสร้างรายได้มาโดยตลอดจากการแปรรูปเป็นน้ำยางข้นใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหมอนยางพารา

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา (สศท.9) พร้อมตรวจเยี่ยม และมอบถุงยังชีพให้กับเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอห้วยยอด และอำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง โดยได้เข้าเยี่ยมชมผลการดำเนินงานของโรงงานผลิตหมอนที่แปรรูปมาจากยางพาราของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก ตำบลหนองปรือ พร้อมด้วยสหกรณ์จังหวัดตรัง (นางสมจิต ส่องสว่าง) ในครั้งนี้ด้วย

สำหรับสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก เป็น 1 ใน 5 ของสหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานและบริหารจัดการของประเทศ เนื่องจากเป็นโรงงานผลิตหมอนที่แปรรูปมาจากผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ใช้วัตถุดิบน้ำยางสดจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ที่อยู่ในพื้นที่มาแปรรูปเป็นน้ำยางข้น และใช้น้ำยางข้นเป็นวัตถุดิบในการผลิตหมอน โดยหมอน 1 ใบ ใช้น้ำยางข้น 2 กิโลกรัม

เครื่องจักรสามารถผลิตหมอนได้เต็มประสิทธิภาพวันละ 500 ลูก มีการนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ก่อให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางผู้ประสบภัยน้ำท่วมเกิดความมั่นใจว่า หลังจากน้ำลด จะสามารถสร้างรายได้ โดยการกรีดยางป้อนเป็นวัตถุดิบ ให้กับสหกรณ์กองทุนการทำสวนยางหนองครก แปรรูปเป็นผลิตหมอนยางพาราได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรงงานผลิตหมอนที่แปรรูปมาจากยางพารา ควรมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น หมอนข้าง หรือหมอนรองคอ ที่ประชาชนโดยทั่วไปนิยมใช้เวลาในการเดินทาง หรือผลิตผลิตภัณฑ์แยกตามกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน หากเป็นหมอนสำหรับเด็กต้องให้ขนาดเล็กลง และมีสรรที่ดึงดูดความสนใจ เป็นต้น เพื่อเป็นการขยายตลาด และนำยางพาราเป็นวัตถุดิบไปใช้ได้มากขึ้น ถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง และเป็นกลไกที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราในประเทศให้มากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของสถานการณ์น้ำท่วมนั้น ขณะนี้ ภาครัฐทุกหน่วยงาน ไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว และเร่งให้การเยียวยาและฟื้นฟูหลังน้ำลดอย่างต่อเนื่อง

*********************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ