1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60
1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต
(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)
(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)
(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)
(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)
(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)
(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)
(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)
(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)
2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด
(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)
(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก(ธ.ก.ส.)
(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว(ธ.ก.ส.)
(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)
3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน
(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)
(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)
(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)
(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการข้าวในตลาดโลกชะลอตัว ส่งผลให้คำสั่งซื้อใหม่ๆ มีเข้ามาไม่มากนัก
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,261 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,293 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.34
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,471 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,499 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.37
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 21,650 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,450 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวหอมมะลิไทย100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 632 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,125 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 635 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,137 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.47 และลดลงในรูปเงินบาท ตันละ 12 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 366 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,813 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 368 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,829 บาท/ตัน)ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.54 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 16 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 360 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,603 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 361 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,585 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.28 แต่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 18 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 369 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,918 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 374 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,038 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.34 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 120 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.0074 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาการส่งออกข้าวของไทยในเชิงปริมาณและมูลค่าเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วยังติดลบ เนื่องจากเดือนมกราคม 2559 มีข้าวที่ซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีที่ไทยทำสัญญากับจีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ส่งมอบข้ามปีจากปลายปี 2558 ทำให้ตัวเลขเดือนมกราคมปีที่แล้วไทยส่งออกข้าวได้เป็นล้านตัน แต่เดือนมกราคมปีนี้ไทยส่งออกข้าวได้ 8.2 แสนตัน ซึ่งถือเป็นระดับปกติและเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ และในเดือนกุมภาพันธ์คาดว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 8 แสนตัน หากส่งออกได้ระดับนี้โดยเฉลี่ยทุกเดือน มั่นใจไทยจะส่งออกข้าวในปีนี้ได้ 9.5-10 ล้านตัน (ปี 2559 ส่งออก 9.8 ล้านตัน)
"จากราคาข้าวส่งออกของไทยเวลานี้ใกล้เคียงกับคู่แข่ง ปัจจุบันราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามที่มีผลผลิต ในฤดูกาลใหม่ออกมาราคาส่งออก (เอฟโอบี) เฉลี่ย 360 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ขณะที่ข้าว 5% ของไทยเฉลี่ย 355 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนราคาข้าวนึ่งของไทยสูงกว่าข้าวนึ่งอินเดียเพียง 5- 10 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน สามารถจูงใจคู่ค้าหันมาซื้อข้าวไทยมากขึ้น เพราะคุณภาพข้าวนึ่งของไทยดีกว่า และหากกระทรวงพาณิชย์สามารถระบายข้าวในสต็อกที่เหลืออีกประมาณ 6.5 ล้านตันได้หมดโดยเร็ว คาดว่าราคาข้าวในตลาดโลกจะปรับฐานใหม่ซึ่งสูงขึ้นกว่าเดิม จากที่ผ่านมาข้าวในสต็อกรัฐบาลมีผลต่อราคาข้าวโลกไม่ขยับขึ้นมาก เพราะผู้ซื้อไม่เร่งซื้อเก็บสต็อก"
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ในการประชุมตรวจสอบประสิทธิภาพข้าวปี 2559 และแผนข้าวปี 2560 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 สมาคมอาหารเวียดนามมีความเห็นต่อประเด็นที่เคยเสนอให้รัฐบาลดำเนินโครงการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรปริมาณ 1 ล้านตัน เพื่อสนับสนุนเกษตรกรในช่วงฤดูหนาว – ฤดูใบไม้ผลิ ว่าราคาข้าวในขณะนี้ยังสูงอยู่ (5,200 – 5,500 ดองต่อกิโลกรัม) เกษตรกรเวียดนามยังมีกำไรในอัตราประมาณร้อยละ 30 จึงเห็นว่ารัฐบาลเวียดนามยังไม่จำเป็นต้องดำเนินโครงการดังกล่าว
ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามเปิดเผยว่า ปัจจุบันราคาข้าวส่งออกของเวียดนามค่อนข้างสูง ทำให้เกิดผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันกับข้าวไทย โดยข้าวขาวร้อยละ 5 ของเวียดนามมีราคา 360 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2559 ในขณะที่ข้าวไทยมีราคา 355 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ทั้งนี้ผู้นำเข้าข้าวในเอเชีย แอฟริกา และภูมิภาคตะวันออกกลางจะพิจารณาซื้อข้าวจากเวียดนาม หากราคาข้าวเวียดนามต่ำกว่าไทยประมาณ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน
สมาคมอาหารเวียดนามเปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนมกราคม 2560 บริษัทส่งออกข้าวของเวียดนามมีข้าวคงคลังอยู่ประมาณ 1 ล้านตัน สำหรับสถานการณ์การส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศยังไม่ดีเท่าไหร่นัก ในเดือนมกราคม 2560 เวียดนามส่งออกข้าวได้เพียง 325,000 ตัน ลดลงร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปี 2559 อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2560 เวียดนามจะสามารถส่งออกได้รวมทั้งสิ้นประมาณ 5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ซึ่งส่งออกได้เพียง 4.8 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นปริมาณส่งออกต่ำสุดตั้งแต่ปี 2551 ขณะที่ USDA คาดว่าในปี 2560 เวียดนามจะสามารถส่งออกข้าวได้ประมาณ 5.8 ล้านตัน รองจากอินเดียและไทย
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์
กระทรวงเกษตร (the Agriculture Ministry) ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการโรงสีกว่า 40 แห่ง ได้ยื่น ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกข้าวไปยังประเทศจีน แต่เกือบทั้งหมดยังมีมาตรฐานไม่เพียงพอตามที่ทางการจีนต้องการ โดยจะมีการเปิดรับคำร้องครั้งที่สอง หลังจากที่ในครั้งแรกมีโรงสีจำนวน 28 ราย ที่ผ่านการตรวจประเมินแล้ว
ทั้งนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า โรงสีส่วนใหญ่ยังไม่ได้เตรียมการตรวจสอบคุณภาพอย่างเพียงพอ ซึ่งกระทรวงเกษตรจะจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในเดือนนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและ เตรียมพร้อมสำหรับการตรวจประเมิน โดยในขั้นแรกทางการกัมพูชาจะส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกไปตรวจประเมิน โรงสีเหล่านี้ก่อนภายในเวลา 3 สัปดาห์หลังจากที่มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแล้ว ซึ่งทางการกัมพูชายังไม่แน่ใจว่า การดำเนินการตรวจโรงสีโดยหน่วยงานของกัมพูชาจะมีระยะเวลาดำเนินการนานเท่าใดถึงจะให้หน่วยงานของจีนเข้ามาดำเนินการตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกข้าวไปจีนได้
การตรวจประเมินในรอบแรก มีโรงสีที่ไม่ผ่านการตรวจประเมินประมาณ 40 ราย หลังจากที่ในเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา มีการตรวจประเมินโรงสีจำนวนกว่า 60 แห่ง และหน่วยงานของจีนได้ตรวจประเมินโรงสี จำนวน 28 แห่ง ซึ่งทุกแห่งผ่านการตรวจประเมินและได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนได้ แต่ขณะนี้มีเพียง 18 ราย ที่ส่งออกข้าวไปยังประเทศจีน เนื่องจากมีประสบการณ์ในการส่งข้าวไปยังประเทศจีนมาก่อน โดยก่อนหน้านี้ได้มีการหารือระหว่างหน่วยงาน COFCO ของจีน สหพันธ์ข้าวแห่งกัมพูชา (CRF) และบริษัท Green Trade ของกัมพูชา และได้ตกลงอนุมัติให้โรงสี 18 แห่งนี้ สามารถส่งข้าวไปยังประเทศจีนได้ในโควตาที่ทางการจีนกำหนดให้นำเข้าข้าวจากกัมพูชาได้ 200,000 ตัน
สำนักงานบริการพิธีการส่งออกข้าว (The Secretariat of One Window Service for Rice Export; SOWS-REF) รายงานว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 กัมพูชาส่งออกข้าวจำนวน 60,731 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 เมื่อเทียบกับ จำนวน 48,820 ตัน ในเดือนมกราคม 2560 ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับจำนวน 51,912 ตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ได้แก่ ประเทศจีน 28,004 ตัน ฝรั่งเศส 7,085 ตัน โปแลนด์ 4,376 ตัน เนเธอร์แลนด์ 2,960 ตัน สหราชอาณาจักร 3,954 ตัน และมาเลเซีย 529 ตัน เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2560) กัมพูชาส่งออกข้าวรวม 109,551 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 เมื่อเทียบกับจำนวน 95,945 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญในในช่วง 2 เดือนแรกของปี ได้แก่ จีน 46,387 ตัน ฝรั่งเศส 15,315 ตัน โปแลนด์ 9,136 ตัน เนเธอร์แลนด์ 5,179 ตัน สหราชอาณาจักร 6,386 ตัน และมาเลเซีย 1,058 ตัน เป็นต้น
ในปี 2559 ที่ผ่านมา กัมพูชาส่งออกข้าวรวม 542,144 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญในปี 2559 ที่ผ่านมา ได้แก่ จีน 127,460 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับปีก่อน) ฝรั่งเศส 78,329 ตัน โปแลนด์ 64,035 ตัน มาเลเซีย 38,662 ตัน เนเธอร์แลนด์ 28,690 ตัน และสหราชอาณาจักร 19,438 ตัน เป็นต้น
ที่มา Oryza.com, www.mekongoryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 13 - 19 มี.ค. 60 --