ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 27, 2017 15:38 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯจำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก(ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว(ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาด ประกอบกับตลาดมีความต้องการส่งออกอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกปรับสูงขึ้นตาม

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,255 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,261 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.07

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,481 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,471 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.13

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 21,650 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,350 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,450 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.87

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 644 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,214 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 632 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,125 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.90 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 89 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 373 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,866 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 366 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,813 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.91 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 53 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 366 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,625 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 360 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,603 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.67 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 22 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 370 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,763 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 369 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,918 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 155 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.4941 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างทรงตัวท่ามกลางอุปทานข้าวในตลาดที่ลดลง โดยราคาเอฟโอบีข้าวขาว 5% อยู่ที่ระดับ 355-360 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่วงการค้าคาดว่า ภาวะการค้าข้าวจะกลับมาคึกคักอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวฤดูหนาว-ใบไม้ผลิ (the Winter-Spring) ที่จะมีอุปทานข้าวในตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวเวียดนามอ่อนตัวลงและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้

สมาคมอาหารของเวียดนาม รายงานว่า การส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1-28 กุมภาพันธ์ 2560 มีจำนวน 341,398 ตัน มูลค่า 143.737 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 22.3 และร้อยละ 19.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่ส่งออกได้ 439,449 ตัน มูลค่า 178.006 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2560 ที่มีการส่งออกจำนวน 332,487 ตัน มูลค่า 142.141 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 และร้อยละ 1.1

ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2560) เวียดนามส่งออกข้าวจำนวน 673,624 ตัน มูลค่า 285.704 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 21.3 และร้อยละ 17.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2559 ที่ส่งออกได้ 856,219 ตัน มูลค่า 347.834 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2560 เวียดนามตั้งเป้าส่งออกข้าวไว้ที่ 5 ล้านตัน มูลค่า 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินโดนีเซีย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรย้ำว่ารัฐบาลจะซื้อข้าวเปลือกทั้งหมดที่ผลิตโดยเกษตรกรจากทั่วประเทศ เพื่อรับประกันว่าเกษตรกรจะได้รับราคาข้าวเปลือกไม่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำ (HPP) ที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 3,700 รูเปียห์ต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 280 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (ประมาณ 9,658 บาทต่อตัน) ที่ความชื้น 25-30% ตามกฎระเบียบกระทรวงเกษตร ฉบับที่ 3/2017 ว่าด้วยแนวทางการจัดซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ซึ่งสอดคล้องกับกฎระเบียบ Presidential Regulation No. 20/2017 ว่าด้วยข้อกำหนดในการซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร หากเกษตรกรไม่สามารถขายข้าวเปลือกให้กับพ่อค้า รัฐบาลจะรับซื้อทั้งหมดผ่านการดำเนินงานของหน่วยงาน Bulog โดยไม่มีการต่อรองราคา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปั่นราคาข้าวจากนักเก็งกำไร และให้เกษตรกรได้รับราคาที่ดีที่สุดในฤดูการเก็บเกี่ยว

บริษัท PT Pupuk Indonesia บริษัทรัฐวิสาหกิจปุ๋ยของอินโดนีเซียวางแผนพัฒนาศูนย์กลางข้าวเพื่อให้ เกษตรกรมีความรู้และทักษะ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของข้าวในเมือง Indramayu ในเขตชวาตะวันตก

นาย Aas Asikin ประธานบริษัท PT Pupuk Indonesia กล่าวว่าเมือง Indramayu เป็นหนึ่งในพื้นที่ผลิตข้าวหลักของอินโดนีเซีย และเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนาศูนย์กลางข้าว ซึ่งศูนย์กลางข้าวจะประกอบด้วยสามส่วน หลักๆ ได้แก่ คลังสินค้าเกษตร ศูนย์เพาะปลูกข้าว และโรงสีข้าว โดยคลังสินค้าเกษตรจะใช้สำหรับจัดเก็บข้าว ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ และยากำจัดศัตรูพืช ศูนย์เพาะปลูกข้าวจะช่วยแนะนำเทคนิคและช่วยกระจายปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ และยากำจัดศัตรูพืชให้เกษตรกรเพื่อยกระดับผลิตการผลิต ในส่วนของโรงสีข้าวจะเข้ามาบริหารจัดการผลผลิตข้าวของเกษตรกรและยกระดับคุณภาพข้าวด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ข้าวเปลือกกลายเป็นข้าวที่มีคุณภาพสูงหรือ ระดับพรีเมี่ยมซึ่งในช่วงแรกโรงสีข้าวจะมีกำลังการผลิตข้าวชั่วโมงละ 4 ตัน และจะเพิ่มขึ้นเป็นชั่วโมงละ 12 ตัน

ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียให้ความสำคัญต่อผลผลิตข้าวในประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ โดยการสนับสนุนภาคการผลิต ได้แก่ความรู้เทคโนโลยีปุ๋ย เมล็ดพันธุ์และยากำจัด ศัตรูพืช ภาคการดำเนินการหลังการเก็บเกี่ยว ได้แก่ โรงสีข้าว และคลังเก็บข้าว รวมถึงการประกาศรับซื้อข้าวตามราคาที่กำหนดเพื่อสร้างความจูงใจให้ชาวนา เพิ่มปริมาณการผลิตและยกระดับคุณภาพข้าวเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ โดยมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการ

ที่มา : Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

เม็กซิโก

รัฐบาลเม็กซิโกตัดสินใจเปิดโควตานำข้าว 5 ชนิด รวมปริมาณกว่า 150,000 ตัน (ประมาณร้อยละ 13 ของการ บริโภคในประเทศในปี 2559) จากหลายประเทศ ได้แก่ ไทย อาร์เจนตินา อินเดีย อิตาลี อุรุกวัย เวียดนามและ สหรัฐอเมริกา เพื่อลดราคาข้าวและสอดรับกับความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจำกัดโควตาให้ผู้ประกอบการนำเข้าได้ไม่เกินรายละ 10,000 ตัน ซึ่งหลายประเทศได้ตอบรับและเตรียมพร้อมในการส่งออกข้าวไปยังเม็กซิโกอย่างรวดเร็ว เช่น เวียดนาม ที่หวังจะเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวไปยังทั่วโลก หลังจากก่อนหน้านี้ยอดส่งออกลดลงในหลายประเทศรวมทั้งเม็กซิโกที่อัตราภาษีนำเข้าข้าวเดิมสูงถึงร้อยละ 20

สำหรับประเทศไทยมีแผนจะส่งออกข้าวขาวเมล็ดยาว (long-grain white rice) ประมาณ 10,000 ตัน ตามโควตานำเข้าที่ได้รับ ซึ่งข้าวที่นำเข้าภายในโควตาดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษี ในขณะที่การนำเข้านอกโควตาจะจัดเก็บภาษีที่อัตราร้อยละ 20 โดยโควตานำเข้าปลอดภาษีดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม-31 ธันวาคม 2560 กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในปีการผลิต 2560/61 (ตุลาคม-กันยายน) คาดว่าเม็กซิโกจะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 290,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีการผลิตปัจจุบัน (2559/60) ที่คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 199,000 ตันข้าวสาร เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการอุดหนุนการขยายพื้นที่เพาะปลูก และสนับสนุนด้านเทคโนโลยี

การผลิตข้าว ขณะที่การบริโภคข้าวคาดว่าในปีการผลิต 2560/61 จะมีความต้องการบริโภคประมาณ 905,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีการผลิตปัจจุบัน (2559/60) ที่มีความต้องการบริโภคประมาณ 890,000 ตัน โดยอัตราการบริโภคข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7.4 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

ในปีการผลิต 2560/61 คาดว่าเม็กซิโกจะมีการนำเข้าข้าวประมาณ 755,000 ตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า โดยภาคเอกชนระบุว่า แนวโน้มการนำเข้าข้าวเมล็ดยาวค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างคงที่ ซึ่งข้าวจากสหรัฐฯ ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 80 ขณะที่ข้าวจากภูมิภาคเอเชียซึ่งแม้จะมีราคาถูกกว่า แต่มีอุปสรรคเรื่องการขนส่งที่ต้องใช้เวลานานประมาณ 45 วัน และยังมีความเสี่ยงที่จะถูกปฏิเสธการรับมอบสินค้า อันเนื่องมาจากปัญหาด้านสุขอนามัยพืชเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ประกอบกับผู้บริโภคเริ่มที่จะไม่นิยมบริโภคข้าวจากเอเชียที่มีลักษณะทางกายภาพที่ต่างออกไป เช่น ลักษณะของแป้ง รูปร่างลักษณะของเมล็ดข้าว รสชาติ และกลิ่น เป็นต้น

ที่มา : Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 20 - 26 มี.ค. 60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ