ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 10, 2017 13:52 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

l มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯจำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม นบข. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 7 โครงการ ดังนี้

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2560/61 ด้านการผลิต

(1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

(2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (กข.)

(3) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่ : ข้าวอินทรีย์ (กข.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2560/61 ด้านการตลาด

(1) อบรม GMP/HACCP โรงสีติดดาว/4.0 นวัตกรรมข้าวและความรู้ด้านการตลาดและเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการโรงสี (คน.)

(2) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (คน.)

(3) โครงการสินเชื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากบางพื้นที่มีฝนตกในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยว ส่งผลให้ข้าวเปลือกมีความชื้นสูง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,118 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,230 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.21

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,487 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,459 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.38

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 21,200 บาท ราคาลดลงจากตันละ 21,650 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.08

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,350 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 647 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,108 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 59 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 374 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,779 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 35 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 368 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,574 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 34 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 371 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,677 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 34 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.1694 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

มีรายงานว่า บริษัท Vietnam Southern Food Corporation (Vinafood II) ได้ทำสัญญาขายข้าวขาว 5% จำนวน 200,000 ตัน ให้แก่มาเลเซียในราคาประมาณ 410 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเอฟโอบี มีกำหนดส่งมอบระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้

ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงท่ามกลางภาวะที่อุปทานข้าวในตลาดที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น หลังจากเข้าสู่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวฤดูหนาว-ใบไม้ผลิ (the Winter-Spring) เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา โดยราคาเอฟโอบี ข้าวขาว 5% อยู่ที่ 348-350 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงจาก 350-355 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม วงการค้าระบุว่า แม้ราคาข้าวเวียดนามจะอ่อนตัวลงแต่ผู้ส่งออกก็ยังไม่สามารถขายข้าวได้มากนัก เพราะ ยังต้องแข่งขันกันข้าวไทยที่แข่งขันด้านราคาได้ดีกว่า โดยช่วงนี้เวียดนามสามารถขายข้าวให้ประเทศจีนได้เพียงประเทศเดียวเท่านั้น

หน่วยงานด้านสถิติ (The Center for Informatics and Statistics; CIS) รายงานว่า ในเดือนมีนาคม เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 542,000 ตัน มูลค่าประมาณ 251 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ในช่วง 3 เดือนแรก เวียดนามส่งออกข้าวรวมประมาณ 1.28 ล้านตัน โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 18.1 และร้อยละ 17.3 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์) ราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 426 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญในช่วง 2 เดือนแรก ได้แก่ จีน ปริมาณ 242,400 ตัน (ร้อยละ 35.9) ฟิลิปปินส์ ปริมาณ 206,600 ตัน (ร้อยละ 24.8) เป็นต้น

ที่มา Oryza.com, สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินโดนีเซีย

สำนักข่าว Antara รายงานว่า อินโดนีเซียวางแผนที่จะส่งออกข้าวไปยังประเทศมาเลเซียประมาณ 15,000-50,000 ตัน นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะส่งออกข้าวไปยังประเทศปาปัวนิวกินีด้วย หน่วยงานด้านโลจิสติกส์ (BULOG) ได้เตรียมการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในประเทศเพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพึ่งพาตนเอง นาย Amran Sulaiman รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร กล่าวระหว่างการประชุมหารือเพื่อกระตุ้นโครงการ รับซื้อข้าวเปลือกของรัฐบาลว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์รับซื้อข้าวเปลือกวันละ 2,000 ตัน และในเดือนมีนาคมจะเพิ่มเป็น วันละ 19,000 – 20,000 ตัน โดยในปัจจุบัน BULOG มีข้าวเปลือกจัดเก็บในคลังแล้วประมาณ 1.9 ล้านตัน ซึ่งหาก ในเดือนเมษายน BULOG สามารถรับซื้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็นวันละ 30,000 ตัน จะทำให้มีสต็อกข้าวเพิ่มขึ้นอีก 2.5 – 3 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอสำหรับความต้องการบริโภคภายในประเทศไปจนถึงปี 2562

นาย Tri Wahyudi ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อของ BULOG กล่าวว่า ปีนี้มีการจัดสรรงบประมาณ 30 ล้านล้าน รูเปียห์ (หรือประมาณ 2.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่อรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในประเทศ หากงบประมาณนี้ ไม่เพียงพอ BULOG จะทำการกู้ยืมเงินจากธนาคาร

ทั้งนี้ ผลการรับซื้อข้าวในช่วง 11 สัปดาห์แรกของปี 2560 BULOG รับซื้อข้าวเปลือกกว่า 300,000 ตัน ซึ่ง ส่วนใหญ่มาจากเขตพื้นที่ชวาตะวันออก สุราเวสีใต้ ชวากลาง และชวาตะวันตก การที่ผลผลิตข้าวในประเทศเพิ่มขึ้นในปีนี้ เนื่องจากสภาพอากาศที่มีฤดูฝนยาวนาน รวมถึงการให้การสนับสนุนจากรัฐบาลด้านเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตข้าวในอินโดนีเซียเพิ่มมากขึ้นและอาจมีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ

ที่มา Oryza.com และ Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

มาเลเซีย

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในปีการตลาด 2559/60 คาดว่าผลผลิตข้าวจะมีประมาณ 1.8 ล้านตัน เนื่องจากคาดว่ามาเลเซียจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่แบบอ่อนๆ ในช่วงฤดูร้อนของปีนี้ สำหรับปี 2560/61 คาดว่าผลผลิตจะเพิ่มเป็น 1.82 ล้านตัน ขณะที่รัฐบาลจะลดเงินอุดหนุนเกษตรกร และมีเป้าหมาย ที่จะลดสต็อกข้าวลงในช่วงสิ้นปี

ทั้งนี้ ในปี 2559/60 พื้นที่เพาะปลูกข้าวในรัฐ Sabah และ Sarawak คาดว่าจะมีประมาณ 668,750 ไร่ ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายในการสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวโดยจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และจัดสรรระบบชลประทานให้เพียงพอ และกำหนดราคาอุดหนุนข้าวเปลือกขั้นต่ำไว้ที่ประมาณ 270 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ด้านความต้องการบริโภคข้าวในปี 2559/60 คาดว่าจะมีประมาณ 2.75 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 ล้านตัน ในปี 2560/61 เนื่องจากคาดว่าประชากรจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการบริโภคข้าวต่อคนต่อปีใน ปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 82.3 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจาก 81.5 กิโลกรัมในปี 2558 แม้ว่าความนิยมในการบริโภคอาหารตามแบบตะวันตกในพื้นที่เขตเมืองจะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่การบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักยังคงเป็นวิถีชีวิตของชาวมาเลเซีย

สำหรับการนำเข้าข้าวนั้น ในปี 2559 มีมูลค่าประมาณ 377 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยกว่าร้อยละ 65 เป็นการนำเข้าข้าวหอมเมล็ดยาวจากประเทศไทยและเวียดนาม และอีกกว่าร้อยละ 20 เป็นข้าวบาสมาติจากอินเดียและปากีสถาน ส่วนที่เหลือเป็นข้าวเหนียวและข้าวญี่ปุ่นที่นำมาทำซูชิ ทั้งนี้ ในปี 2559 ประเทศไทยและเวียดนามยังคง ครองส่วนแบ่งตลาดในมาเลเซียรวมกันประมาณร้อยละ 70 คิดเป็นจำนวนกว่า 675,000 ตัน

รัฐบาลมาเลเซียจะมีการเก็บสต็อกข้าวไว้ประมาณร้อยละ 20 ของความต้องการบริโภคข้าวทั้งหมด หรือ ประมาณ 300,000 ตัน ขณะที่เอกชนจะสต็อกข้าวไว้ประมาณ 190,000 ตัน โดยการนำเข้าข้าวทั้งหมดจะผ่านการ บริหารจัดการของหน่วยงาน Padi Beras Nasional หรือ BERNAS ซึ่งการระบายสต็อกข้าวจะคำนึงถึงภาวะตลาดและการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในตลาดเป็นสำคัญ โดยหน่วยงาน BERNAS จะมีหน้าที่ในการนำเข้าข้าวและจัดสรรข้าว แต่เพียงผู้เดียวไปจนถึงปี 2564

ที่มา Oryza.com และ Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 3 - 9 เม.ย. 60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ