ไขบทวิเคราะห์ผลกระทบเศรษฐกิจภาคเกษตรไทย ผ่าน พ.ร.ก. จัดการคนต่างด้าวปี '60

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 20, 2017 14:11 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ไขบทวิเคราะห์ผลกระทบเศรษฐกิจภาคเกษตรไทย ผ่าน พ.ร.ก. จัดการคนต่างด้าวปี '60

ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) โดย ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานภาคเกษตรไทย ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร

จากข้อมูลพบว่า ปี 2554 – 2560 ของช่วงไตรมาส 1 (Q1) แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2554 มีจำนวนแรงงานภาคเกษตร 14.88 ล้านคน และลดลงมาเป็น 11 ล้านคนในปี 2560 (Q1) แต่นอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น จาก 23.58 ล้านคน ในปี 2554 เป็น 26.4 ล้านคนในปี 2560 (Q1) อีกทั้งแรงงานภาคเกษตรที่มีอยู่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) เพิ่มขึ้น ประกอบกับแรงงานภาคการเกษตรวัยหนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษาเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช ค่าจ้างแรงงาน จึงเป็นเหตุให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตและทดแทนแรงงานของไทย

อย่างไรก็ตาม การจัดการแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามฤดูกาลและมาเช้าเย็นกลับยังไม่สามารถกำหนดเป็นกฎกระทรวงได้อย่างชัดเจน จึงเกิดปัญหาในการจัดการแรงงานภาคการเกษตร เป็นแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายหรือไม่ได้จดทะเบียนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้มีการลักลอบเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน การเดินทางเข้าออกสามารถทำได้ง่าย จึงส่งผลทำให้เกิด พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวขึ้นมา

ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) ได้ติดตามถึงสถานการณ์แรงงานต่างด้าวที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตรไทย พบว่า แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในไทย ณ เดือน มิถุนายน 2560 มีอยู่ทั้งสิ้น 1.56 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเข้าเมืองตามมาตรา 9 พิสูจน์สัญชาติเดิม (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์) 904,377 คน (ร้อยละ 58.03) รองลงมาคือ มาตรา 9 นำเข้าตาม MOU จำนวน 439,785 คน (ร้อยละ 28.22) มาตรา 9 ทั่วไป จำนวน 101,818คน (ร้อยละ 6.53) และประเภทอื่นๆ ร้อยละ 7.55 แรงงานต่างด้าวสัญชาติที่ได้รับการจดทะเบียนมากที่สุด ได้แก่ เมียนมาร์ 982,467 คน รองลงมา คือ กัมพูชา 257,284 คน และ ลาว 108,908 คน

หากพิจารณาถึงแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในภาคเกษตร มีจำนวน 248,281 คน เป็นแรงงานภาคเกษตรและปศุสัตว์ 149,799 คน และแรงงานประมง 98,482 คน โดยแบ่งเป็นแรงงานที่ได้รับอนุญาตทำงานในราชอาณาจักร กิจการประมง 17,655 คน กิจการแปรรูปสัตว์น้ำ 80,827 คน เป็นแรงงานประมงทะเลจดทะเบียนใหม่ (1 เม.ย. - 19 มิ.ย. 58) จากการขึ้นทะเบียน ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (OSS) ทั่วราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เป็นการรวมกฎหมาย 2 ฉบับเป็นฉบับเดียว คือ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และ พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 โดยเติมส่วนที่ขาดและแก้ส่วนที่บกพร่อง เพื่อให้ครอบคลุมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้ทั้งระบบ สามารถแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น เพิ่มการคุ้มครองต่างด้าวถูกเอาเปรียบ เพิ่มโทษนายจ้างทำผิดกฎหมาย อาทิ รับคนต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำหรือรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000 – 800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน นอกจากนี้ ผู้ที่มีพฤติกรรมการค้ามนุษย์ เช่น ยึดใบอนุญาตทำงานหรือเอกสารสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบจาก พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ต่อภาคเกษตรไทย พบว่า ได้เพิ่มบทลงโทษกรณีที่นายจ้างจ้างแรงงานผิดกฎหมาย ช่วยให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบมากขึ้น และเป็นการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย โดยการจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ซึ่งตามสถิติมีจำนวนคนต่างด้าวภาคเกษตรที่ได้รับอนุญาตทำงาน คงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือน มิถุนายน 2560 จำนวน 248,281 ราย (เกษตรและปศุสัตว์,ประมง) ก่อให้เกิดผลด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ 17,876.23 ล้านบาท

นอกจากนี้ ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ได้ทำการวิเคราะห์ประเด็นเพิ่มเติมด้านแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ถูกจัดเก็บข้อมูลในระบบหรือยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้น พบว่า มีประมาณ 1 ล้านราย โดยคิดเป็นแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรที่อยู่นอกระบบ (เกษตรและปศุสัตว์,ประมง) ประมาณ 17% หรือ จำนวน 170,000 ราย เมื่อได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบเศรษฐกิจภาคเกษตร จากกรณีที่แรงงานต่างด้าวภาคเกษตรที่อยู่นอกระบบเดินทางกลับประเทศหรือย้ายกลับถิ่นฐานเดิมของตนเองโดยแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 แรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรที่อยู่นอกระบบขาดไป ร้อยละ 5 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตร สินค้าพืช จำนวน 434.31 ล้านบาท รองลงมา คือ สาขาประมง 244.80 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 174.42 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 853.53 ล้านบาท กรณีที่ 2 แรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรที่อยู่นอกระบบขาดไป ร้อยละ 10 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตร สินค้าพืช จำนวน 868.62 ล้านบาท รองลงมา คือ สาขาประมง 489.60 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 348.84 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าสิ้น1,707.06 ล้านบาท กรณีที่ 3 แรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรที่อยู่นอกระบบขาดไป ร้อยละ 15 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตร สินค้าพืชจำนวน 1,302.93 ล้านบาท สาขาประมง 734.40 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 523.26 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,560.59 ล้านบาท ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 2 ระยะ ดังนี้

ระยะสั้น 1.ปรับบทลงโทษหรือขยายระยะเวลาการนำ พ.ร.ก. มาใช้เนื่องจากบทลงโทษที่เกิดจาก พ.ร.ก. นั้นค่อนข้างรุนแรงและกะทันหัน เกิดปัญหาการปรับตัวไม่ทัน ส่งผลกระทบผู้ผลิตหรือเจ้าของกิจการที่ทำการเกษตรโดยการจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย

2.ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียน ลดความซับซ้อน ยุ่งยากเพื่อให้ผู้ประกอบการและแรงงานมีความสะดวกมากขึ้น เช่น การให้บริการของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (ONE STOP SERVICE) และควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นและเร่งรัดให้นายจ้าง ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายได้ทันระยะเวลาที่ภาครัฐพิจารณาขยายให้

ระยะยาว 1. ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีการเกษตรไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน และ 2. การจัดงบประมาณในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว โดยส่วนหนึ่งได้มาจากเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ได้จากการจดทะเบียนหรือต่ออายุแรงงานต่างด้าวที่รัฐสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ให้มีเงินงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอต่อกรรมการด้านต่าง ๆ ที่จะสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้

********************************************

ข้อมูล : ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ