สศท.7 ร่วมเวทีแผนพัฒนาจังหวัดชัยนาท ชูสินค้าโดดเด่น สร้างเอกลักษณ์ให้จังหวัด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 2, 2017 15:13 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศท.7 ร่วมเวทีแผนพัฒนาจังหวัดชัยนาท ชูสินค้าโดดเด่น สร้างเอกลักษณ์ให้จังหวัด

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ร่วมเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนแผนพัฒนาจังหวัดชัยนาm แจงทิศทางภาคเกษตรของจังหวัดที่น่าจับตา ชู 3 สินค้าโดดเด่น ส้มโอขาวแตงกวา แพะ และไก่งวง แนะแนวทางพัฒนาสินค้า และเชื่อมโยงแหล่งตลาด สู่การพัฒนาให้เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนแผนพัฒนาจังหวัดชัยนาท (พ.ศ.2561-2564) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาการผลิต แปรรูป การตลาดและระบบ Logistics สินค้าเกษตรมาตรฐาน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมธรรมจักร (501) ศาลากลางจังหวัดชัยนาท โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท (สศท.7) ได้เข้าร่วมประชุม มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท (นายเบญจพล เปรมปรีดา) เป็นประธาน และมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนภาคประชาสังคม ประธานศูนย์เรียนรู้ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรทุกอำเภอ ประธานกลุ่มระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ทุกตำบล เข้าร่วมประมาณ 100 คน

การประชุมดังกล่าว นางอัญชนา ตราโช ผู้อำนวยการ สศท.7 ได้ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “ทิศทางภาคการเกษตรจังหวัดชัยนาท” เพื่อรายงานภาวะเศรษฐกิจการเกษตร สถานการณ์การผลิต การตลาดสินค้าเกษตร รวมถึงทิศทางสินค้าเกษตรที่น่าจับตามอง ในอนาคตของจังหวัด เช่น ส้มโอขาวแตงกวา ซึ่งได้รับการรับรองขึ้นทะเบียน GI ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ (จีน ฮ่องกง สิงคโปร์) โดยควรมีการ ส่งเสริมการปลูกส้มโอให้เพิ่มขึ้นอย่างปลอดภัย มีคุณภาพ และขยายแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด

ด้านปศุสัตว์ มีสินค้าที่น่าสนใจของจังหวัดชัยนาท คือ แพะ เนื่องจากมีความต้องการของตลาดเพื่อการส่งออกไปยังจังหวัดทางภาคใต้และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และพม่า โดยควรมีการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน ส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกพืชอาหารสัตว์จะช่วยลดต้นทุน ด้านอาหารในการเลี้ยง นอกจากนี้ ยังมี ไก่งวง ที่นับเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูงโดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน

สำหรับแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรที่สำคัญ คือ การผลิตสินค้าในพื้นที่เหมาะสม (Zoning) การรวมกลุ่มเกษตรกร การส่งเสริมถ่ายทอดเทคโนโลยี/นวัตกรรม การสนับสนุนปัจจัยการผลิต สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า และการเชื่อมโยงตลาดกับแหล่งผลิต

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว นอกจากจะรับฟังคำบรรยายทิศทางภาคการเกษตรจังหวัดชัยนาทแล้ว ยังมีการแบ่งกลุ่มย่อย (ด้านพืช ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง และด้านเศรษฐกิจพอเพียง) เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ในการทบทวนแผน/โครงการ (Project Idea) ตามแผนพัฒนาจังหวัดชัยนาทอีกด้วย ทั้งนี้ แผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด จะสอดคล้องกับนโยบายในระดับต่างๆ มีการบูรณาการภารกิจของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีความเป็นเอกภาพร่วมกัน

*********************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ