ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 28, 2017 13:33 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ด้านการผลิต ปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง จำนวน 8 โครงการ ดังนี้

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (1) ถึง (3) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (4) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (5) และเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (6)

(1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

(2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) (กข.)

(3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (กข.)

(4) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 (ธ.ก.ส.)

(5) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (กข.)

(6) โครงการปรับพื้นที่นาและลดรอบการปลูกข้าว ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร (ด้านการผลิต) ปี 2560/61 จำนวน 3 โครงการ คือ

  • โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าว (ปศ.)
  • โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 (กสก.)
  • โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 (พด.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ลดลง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตฤดูกาลใหม่เริ่มออกสู่ตลาด ขณะที่ความต้องการข้าวจากต่างประเทศชะลอตัว

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,497 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,406 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.87

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,875 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,881 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.07

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 26,150 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 25,550 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.35

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,530 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,650 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.03

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 904 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,847 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 902 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,779 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.22 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 68 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 392 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,943 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 391 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,908 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.26 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 35 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 379 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,513 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 401 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,240 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,206 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 34 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.0169 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2560/61 ประจำเดือนสิงหาคม 2560 ว่าจะมีผลผลิต 482.590 ล้านตันข้าวสาร (719.9 ล้านตันข้าวเปลือก) ลดลงจาก 483.922 ล้านตันข้าวสาร (721.7 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือลดลงร้อยละ 0.28 จากปี 2559/60

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2560/61 ณ เดือนสิงหาคม 2560 ว่าผลผลิต ปี 2560/61 จะมี 482.590 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2559/60 ร้อยละ 0.28 การใช้ในประเทศจะมี 479.066 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.26 การส่งออก/นำเข้าจะมี 43.919 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.38 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 122.918 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.95

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล กัมพูชา จีน กายานา อินเดีย ปากีสถาน และปารากวัย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา เมียนมาร์ อุรุกวัย และสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แองโกลา คาเมรูน ไอเวอรี่โคสต์ คิวบา อียู กานา กินี เฮติ อิรัก เคนย่า โมแซมบิค ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรส ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บังคลาเทศ จีน และไนจีเรีย

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เมียนมาร์

สหพันธ์ข้าวเมียนมาร์ (The Myanmar Rice Federation) ตัดสินใจที่จะส่งออกข้าวประมาณ 300,000 ตัน ไปยังประเทศบังคลาเทศในปีงบประมาณนี้ (เมษายน 2560-มีนาคม 2561) โดยทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of understanding; MoU) เมื่อเร็วๆ นี้ คาดว่าจะส่งออกข้าวขาวจำนวนประมาณ 250,000 ตัน และข้าวนึ่งประมาณ 50,000 ตัน

กระทรวงพาณิชย์ (the Ministry of Commerce) รายงานว่า ในช่วง 4 เดือนแรก (เมษายน-กรกฎาคม) ของปีงบประมาณ 2560/61 เมียนมาร์ส่งออกข้าว (รวมต้นข้าวและปลายข้าว) แล้วประมาณ 950,000 ตัน โดยส่งไปยังประเทศจีนประมาณร้อยละ 60 ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาเป็นประเทศในแถบแอฟริกา ยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : Oryza.com และ Riceonline.com

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนตัวลงประมาณ 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เนื่องจากความต้องการข้าวจากต่างประเทศลดลง โดยข้าวนึ่ง 5% ราคาตันละ 407-410 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากตันละ 412 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสัปดาห์ก่อน วงการค้าคาดว่า การส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติในช่วงไม่กี่เดือนนับจากนี้จะลดลง เนื่องจากราคาข้าวของอินเดียอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ประกอบกับค่าเงินรูปียังคงแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี โดยแข็งค่าขึ้นนับจากช่วงต้นปีประมาณร้อยละ 6.50

ทางการรายงานความคืบหน้าของการเพาะปลูกข้าวในฤดูการผลิต Kharif (มิถุนายน-ธันวาคม) ณ วันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า มีพื้นที่เพาะปลูกแล้วประมาณ 213.49 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับจำนวน 213.48 ล้านไร่ ในช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

รัฐบาลอินเดียได้ปรับผลการพยากรณ์ผลผลิตธัญพืชทุกชนิดในปีการผลิต 2559/60 (กรกฎาคม-มิถุนายน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เป็น 275.68 ล้านตัน เนื่องจากในปีที่ผ่านมาสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมการเพาะปลูกธัญพืช โดยในส่วนของผลผลิตข้าวนั้น คาดว่าจะมีประมาณ 110.15 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.50 เมื่อเทียบกับจำนวน 104.41 ล้านตัน ในปีทีผ่านมา โดยปีที่เคยมีผลผลิตสูงสุดคือปี 2556/57 ซึ่งมีจำนวน 106.65 ล้านตัน

ที่มา : Oryza.com และ Riceonline.com

เวียดนาม

VFA กล่าวว่า ในปี 2560 เนื่องจากความต้องการข้าวของประเทศในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกข้าวของเวียดนามเพิ่มขึ้นด้วย เช่น บังกลาเทศซื้อข้าวจากเวียดนามปริมาณ 250,000 ตัน และยังอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อข้าวจากไทยปริมาณ 200,000 ตัน ศรีลังกากำลังเร่งนำเข้าข้าวจากปากีสถานและพม่าปริมาณ 55,000 ตัน พร้อมทั้งมองหาประเทศส่งออกข้าวอื่นรวมทั้งเวียดนามด้วย นอกจากข้าวที่ชนะประมูลแล้ว 250,000 ตัน ฟิลิปปินส์อาจจะนำเข้าข้าวมากขึ้น เพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหารในประเทศ นอกจากนี้ความต้องการบริโภคของจีนและอินเดียก็ส่งผลดีต่อการส่งออกของเวียดนามในอนาคตด้วย

แม้ว่าผู้ประกอบการข้าวเวียดนามสามารถเข้าถึงความต้องการดังกล่าวได้ แต่อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับ ความสามารถผู้ประกอบการข้าวเวียดนามในการแข่งขันราคากับผู้ประกอบการข้าวรายอื่นๆ รวมถึงการเก็บเกี่ยวพืช ในฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วงช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2560 ด้วย

นาย Nguyen Thanh Long ผู้อำนวยการของบริษัท Viet Rice Co., Ltd. เปิดเผยว่า หากราคาข้าวในเวียดนามเพิ่มมากเกินไป ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามจะประสบปัญหาในการเจรจาสัญญาซื้อขายข้าวแบบเชิงพาณิชย์ ในปัจจุบันราคาข้าวส่งออกของเวียดนามเท่ากันหรือสูงกว่าราคาข้าวของไทยเพียงเล็กน้อย เช่น ราคาข้าวขาว 5% ของไทยราคาตันละ 395 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่เวียดนามต้องขายในราคาตันละ 407 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ หากราคาข้าวเวียดนามไม่ปรับเปลี่ยนตามราคาของไทย เวียดนามอาจเผชิญกับปัญหาในการดึงดูดลูกค้าและการลงนามสัญญาใหม่ในอนาคต

อนึ่ง ปัจจุบันเวียดนามมีความสามารถในการผลิตปุ๋ยเพียงพอต่อความต้องการในประเทศเพียงบางชนิด จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าปุ๋ยเพื่อตอบสนองความต้องการที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งแนวโน้มความต้องการนำเข้าปุ๋ยและยาฆ่าแมลงของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นในอนาคต การจัดเก็บภาษีปกป้องชั่วคราวในการนำเข้าปุ๋ย DAP และ MAP ซึ่งใช้สำหรับพืชเกษตรหลายชนิดหรือใช้ในการผลิตปุ๋ย NPK เข้าสู่เวียดนาม ทำให้ราคาปุ๋ยสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตข้าวและพืชเกษตรอื่นๆ สูงขึ้นเช่นกัน

นาย Vu Duy Hai ผู้อำนวยการใหญ่ของ Vinacam JSC ซึ่งเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ค้าปุ๋ยในเวียดนาม เผยว่า ข้อตกลงที่ 3044 ของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนามจะทำให้จำนวนการนำเข้าปุ๋ย DAP และ MAP ลดลง แต่ราคาที่นำเข้าสูงขึ้น ดังนั้น เพดานราคาของปุ๋ยก็จะสูงขึ้นตามไปด้วยในไม่ช้า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 Vinacam ได้แจ้งกระทรวงฯ แล้วว่า บริษัทค้าปุ๋ยอย่าง Vinacam จะได้รับประโยชน์แต่เกษตรกรอาจจะได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ก็มีเหตุผลในการจัดเก็บภาษีคุ้มครองปุ๋ย DAP และ MAP ชั่วคราวนี้เช่นกัน กระทรวงฯ กล่าวว่า มาตรการปกป้องชั่วคราวนี้จะมีผลบังคับใช้สูงสุด 200 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2560 ถึง 6 มีนาคม 2561 หรือ เมื่อกระทรวงฯ พิจารณาให้มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการปกป้องอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลาเกือบ 7 เดือน ในช่วงเพาะปลูกข้าวของเวียดนาม ตั้งแต่ฤดูหนาวของปี 2560 จนถึงสิ้นฤดูใบไม้ผลิในปี 2561

ต้นทุนการผลิตข้าวจะกำหนดไว้ในจดหมายเวียนที่กระทรวงการคลังและกระทรวง เกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามออกร่วมกัน ซึ่งหากราคาข้าวสูงขึ้น อาจทำให้เกษตรกรประสบความสูญเสียหรือขาดทุนได้

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 21 - 27 ส.ค. 60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ