ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 4, 2017 14:00 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ด้านการผลิต ปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง จำนวน 8 โครงการ ดังนี้

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (1) ถึง (3) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (4) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (5) และเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (6) (1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.) (2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) (กข.) (3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (กข.) (4) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 (ธ.ก.ส.) (5) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (กข.) (6) โครงการปรับพื้นที่นาและลดรอบการปลูกข้าว ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร (ด้านการผลิต) ปี 2560/61 จำนวน 3 โครงการ คือ

  • โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าว (ปศ.)
  • โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 (กสก.)
  • โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 (พด.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ลดลง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการส่งออกชะลอการสั่งซื้อข้าวตามสถานการณ์ที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาอย่างเบาบาง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,726 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,497 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.18

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,588 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,875 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.64

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 27,500 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 26,150 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.16

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,375 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,530 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.34

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,029 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,947 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 997 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,918 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.21 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,029 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 386 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,734 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 392 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,943 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.53 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 209 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,371 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 379 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,513 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.06 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 142 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 392 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,031 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 401 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,240 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.24 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 209 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.9901 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

รัฐบาลเวียดนามเตรียมปฏิรูปการผลิตข้าวระยะยาว เน้นเพิ่มมูลค่าแทนปริมาณเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการผลิตและส่งออกข้าว ด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดส่งออกข้าวเวียดนาม ระหว่างปี 2560-2563 และกำหนดวิสัยทัศน์ระยะยาวถึงปี 2573 ระบุว่า หนึ่งในเป้าหมายหลักคือ การลดปริมาณการส่งออกข้าว แต่ไปเพิ่มมูลค่าข้าวส่งออกแทน โดยคาดว่าปริมาณส่งออกข้าวรายปีจะมีประมาณ 4.5-5.0 ล้านตัน และเมื่อสิ้นสุดในปี 2563 จะสร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณ 2,200-2,300 ล้านดอลลาร์ต่อปี

จากนั้นตั้งแต่ปี 2564-2573 ปริมาณการส่งออกข้าวรายปีของเวียดนามจะลดลงเหลือราว 4 ล้านตัน ซึ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 2,300-2,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีแผนปรับโครงสร้างผลิตภัณฑ์ส่งออกข้าวด้วย

การส่งออกข้าวหอม ข้าวพันธุ์พิเศษ และข้าวพันธุ์ญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 40 ซึ่งเป็นสัดส่วนมากที่สุดของปริมาณข้าวส่งออกของเวียดนาม รองลงมาเป็นการส่งออกข้าวเหนียว และข้าวขาว ที่ปริมาณเท่ากันคิดเป็นร้อยละ 25 ขณะเดียวกันข้าวคุณภาพสูง ข้าวมูลค่าสูง ข้าวออแกนิค ข้าวคุณค่าโภชนาการสูง และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าว คิดเป็น ร้อยละ 10

นายจั่น กง ตัง รองผู้อำนวยการสถาบันนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบท สังกัดกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม ระบุว่าปัจจุบันเวียดนามยังไม่มีแผนแห่งชาติสำหรับการพัฒนาข้าวส่งออก แต่หลายจังหวัดได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพสูงหลายชนิดไปพร้อมกับปรับใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิต และ เวียดนามเคยมีข้าวที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) เช่น ข้าวไห่เฮา และข้าวเดียนเบียน เป็นต้น

ขณะที่แบรนด์ข้าวท้องถิ่นจำนวนมากต่างได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ซึ่งรวมถึงข้าวเหนียวคิญมอน ในจังหวัดหายเชือง ข้าวเหนียวดงเจือ ในจังหวัดกว๋างนิญ และข้าวหอมของจังหวัดช้อกจัง ส่วนบริษัทต่างๆ ได้พัฒนาแบรนด์สำหรับธุรกิจและผลิตภัณฑ์ข้าวของตน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวคุณภาพสูงหลายชนิดรองรับความต้องการของตลาด โดยบรรดา ผู้ส่งออกข้าวต่างพยายามมากขึ้นในการหาทางเจาะตลาดข้าวคุณภาพสูงไปพร้อมกับการเชื่อมโยงเพื่อสร้างเชนการผลิตข้าว โดยเฉพาะในแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่มีแบรนด์ข้าว 10-12 แบรนด์ผลิตโดยเอกชน

ทั้งนี้ นอกจากการพัฒนาข้าวคุณภาพสูง เวียดนามยังจำเป็นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวในตลาดข้าวดั้งเดิมและขยายตลาดส่งออกสู่แอฟริกาด้วย ขณะเดียวกันเวียดนามและอีกหลายประเทศที่ผลิตข้าวต่างประสบปัญหาหลายด้าน เช่น การแพร่กระจายของความเค็มของน้ำ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นการผลิตข้าวที่ต้องปรับให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป จึงถือเป็นความท้าทายอย่างมาก

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

กัมพูชา

รัฐบาลกัมพูชาออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งแหล่งข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ รายงานสถานการณ์ความเคลื่อนไหวสินค้าข่าวของกัมพูชา โดยนายวงศ์ไสย วิสุทธิ์ รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ประเทศกัมพูชา กล่าวในการประชุมกับผู้แทนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับข่าวและสหกรณ์การเกษตร เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2560 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. รัฐบาลกัมพูชาจะใช้มาตรการต่างๆ (ไม่ใช่มาตรการการเงิน) เข้าไปแทรกแซงราคาข้าวเปลือกให้สูงขึ้นกว่า? ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากราคาข้าวเปลือกของชาวนามีราคาต่ำกว่าราคาข้าวเปลือกของประเทศเพื่อนบ้าน

2. ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานและต้นทุนการขนส่งที่สูง ส่งผลให้ผู้รับซื้อไม่ว่าจะเป็นโรงสี พ่อค้าคนกลาง หรือ นายหน้า กดราคารับซื้อข้าวจากชาวนาเพื่อรักษาผลกำไรในการขายต่อแต่ละช่วง

3. รัฐบาลได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือเรื่องราคา โดยเข้าไปเจรจาต่อรองราคาให้กับชาวนาให้ได้รับราคาสูงขึ้น และจัดรถขนส่งข้าวให้กับชาวนาโดยไม่คิดมูลค่า

4. ทั้งนี้เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ ๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ ๓๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น?เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่เจ้าของโรงสีสำหรับการรับซื้อข้าว และสำหรับเป็นเงินกู้ในการสร้างไซโลและลานตาก ข้าวเปลือก ตามลำดับ โดยรัฐบาลมีสมมติฐานว่า ราคาข้าวควรจะดีขึ้น

5. ปัจจุบันราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ที่โรงสีรับซื้ออยู่ที่ตันละ 7,400-7,500 บาท และข้าวเปลือกขาวธรรมดา ตันละ 5,400 - 5,500 บาท

ที่มา : Phnom Penh Post, สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ

อินโดนีเซีย

รัฐบาลอินโดนีเซียยกเลิกกฎระเบียบการกำหนดเพดานราคาข้าว หลังจากมีการประท้วงของผู้ค้าปลีกและค้าส่ง โดยนาย Enggartiasto Lukita รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า กล่าวว่าจะเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดหารือถึง การแก้ไขกฎระเบียบกระทรวงการค้า No.47/2017 ว่าด้วยราคาอ้างอิงข้าวที่ซื้อจากเกษตรกร และข้าวที่จำหน่ายให้กับ ผู้บริโภค โดยนาย Lukita อ้างว่ากฎระเบียบดังกล่าวไม่ได้รับการเห็นชอบจากกระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชน

นาย Lukita สัญญาว่าจะคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในการควบคุมราคาข้าว แม้ว่ารัฐบาลจะมีอำนาจ ในการออกกฎระเบียบ แต่ต้องมีการหารือก่อนที่จะออกกฎระเบียบต่างๆ โดยได้เชิญตัวแทนจากกระทรวงเกษตร กระทรวงการค้า กรมตำรวจ คณะกรรมการกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางธุรกิจ (KPPU) ตัวแทนจำหน่าย พ่อค้า และโรงสีข้าว ซึ่งรัฐบาลจะตั้งราคาอ้างอิงข้าวโดยเร็วหลังจากการหารือบรรลุข้อตกลง

ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศยกเลิกการตั้งเพดานราคาข้าว หลังจากการประชุมหารือร่วมกันกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะมีการออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องตามมาอีกครั้ง โดยการยกเลิกกฎระเบียบดังกล่าวเป็นผลมาจากการเข้ายึดโกดังข้าวของบริษัทผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของอินโดนีเซียที่จำหน่ายข้าวคุณภาพระดับกลางและพรีเมี่ยม รวมถึงการประท้วงจากพ่อค้าข้าวที่ได้รับผลกระทบ

ที่มา : Oryza.com และ Riceonline.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 28 ส.ค. - 3 ก.ย. 60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ