ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 11, 2017 13:28 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ด้านการผลิต ปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง จำนวน 8 โครงการ ดังนี้

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (1) ถึง (3) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (4) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (5) และเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (6)

(1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

(2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) (กข.)

(3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (กข.)

(4) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 (ธ.ก.ส.)

(5) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (กข.)

(6) โครงการปรับพื้นที่นาและลดรอบการปลูกข้าว ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร (ด้านการผลิต) ปี 2560/61 จำนวน 3 โครงการ คือ

  • โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าว (ปศ.)
  • โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 (กสก.)
  • โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 (พด.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้น เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการมีความต้องการข้าวเพื่อแปรรูปเป็นข้าวนึ่ง ส่งมอบให้กับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ เบนิน แอฟริกาใต้ และบังคลาเทศ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,902 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,726 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.64

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,621 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,588 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.44

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 29,750 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 27,650 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 7.59

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,530 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,370 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.41

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,046 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,427 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,029 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,947 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.65 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 480 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 390 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,836 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 386 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,734 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.04 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 102 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 378 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,441 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,371 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.80 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 70 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 408 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,428 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 392 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,031 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.08 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 397 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.9128 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เมียนมาร์

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาร์แถลงว่า รัฐบาลซึ่งนำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) เตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อส่งออกข้าวให้กับบังกลาเทศในช่วงต้นเดือนกันยายน โดยจะมีการลงนามข้อตกลงทวิภาคีระดับจีทูจีเป็นครั้งแรกของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

รัฐมนตรีพาณิชย์เมียนมาร์ระบุว่า “มีแนวโน้มว่า การลงนามเอ็มโอยูในกรุงเนปิดอว์ จะมีขึ้นหลังการเดินทางเยือนเมียนมาร์ของรัฐมนตรีพาณิชย์บังกลาเทศ ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายนนี้ และมีการตกลงกันคร่าวๆ ว่าจะส่งออกข้าวกว่า 1 ล้านตัน เนื่องจากบังกลาเทศมีความต้องการข้าวเมียนมาร์สูง และความต้องการนี้ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ” พร้อมทั้งชี้แจงว่า บังกลาเทศต้องการนำเข้าข้าวเมียนมาร์ประมาณเดือนพฤศจิกายน แต่เมียนมาร์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโควตาสำหรับบังกลาเทศก่อนเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นๆ “แม้บังกลาเทศต้องการนำเข้าข้าวในเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่ยังต้องส่งออกข้าวให้แอฟริกา สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ เช่น ศรีลังกา ซึ่งนำเข้าข้าวจากเมียนมาร์ โดยไม่ได้ทำข้อตกลงทวิภาคีระดับจีทูจี”

เมียนมาร์จะส่งออกข้าวประมาณ 300,000 ตัน ในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยจะมีการสรุปรายละเอียดการเจรจาเรื่องอัตราราคาข้าวและการจัดหาข้าวหลังจากมีการลงนามเอ็มโอยูแล้ว โดยรัฐบาลเมียนมาร์ประกาศว่า ในปีงบประมาณ 2559-2560 จะส่งออกข้าวได้ 2 ล้านตัน สำหรับปีงบประมาณนี้ สถิติอย่างเป็นทางการของกระทรวงพาณิชย์เมียนมาร์ ระบุว่า ได้ส่งออกข้าวแล้วประมาณ 1.5 ล้านตัน ทั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องรักษาปริมาณข้าวสำหรับตลาดที่มีอยู่ในขณะนี้ไปพร้อมกับพยายามขยายตลาดใหม่

ด้านเลขาธิการร่วมสมาพันธ์ข้าวเมียนมาร์ (เอ็มเอฟอาร์) ชี้แจงว่า เมียนมาร์อยู่ระหว่างเจรจากับบังคลาเทศเกี่ยวกับเอ็มโอยูสำหรับข้อตกลงทวิภาคีระดับจีทูจี ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเมียนมาร์จำเป็นต้องลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งเพื่อให้สามารถแข่งขันกับบรรดาเพื่อนบ้านที่เป็นผู้ส่งออกข้าว เช่น ไทย และเวียดนาม “จะเป็นการดี หากสร้างเสถียรภาพให้กับราคาด้วยการสร้างความหลากหลายในตลาด ขณะที่ราคาข้าวของเมียนมาร์ขึ้นอยู่กับตลาดชายแดนจีน”

ขณะที่ผู้อำนวยการบริหารของ บริษัท เมียนมาร์ อะกริบิสสิเนส พับบลิคโฮลดิง และเลขาธิการของเอ็มเอฟอาร์ กล่าวว่า เมียนมาร์เตรียมทำเอ็มโอยูเพิ่มเติมกับศรีลังกาและจีน โดยคาดว่าจะมีการลงนามกันในเดือนตุลาคมนี้

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

กัมพูชา

รายงานจากสื่อท้องถิ่นระบุว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวใหม่ 2 ชนิด คือ Japonica และ Indica จะถูกนำไปเสนอขายให้กับเกษตรกรเพื่อกระจายตลาดข้าวกัมพูชา โดยกลุ่มบริษัท Golden Rice และ Soma กำลังพิจารณานำเข้าข้าวพันธุ์นี้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น ขณะที่บริษัทส่งออกข้าวอื่นๆ เคยทดลองพันธุ์ Japonica แต่กลับมีผลผลิตข้าวต่ำเมื่อเทียบกับพันธุ์ข้าวที่มีอยู่

กรรมการผู้จัดการ บริษัท อามรไรซ์ (กัมพูชา) จำกัด กล่าวว่า ข้าวพันธุ์ Japonica สามารถปลูกได้ในบางพื้นที่ของประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะที่บริเวณพระวิหารรัตนคีรี และมณฑาคีรี เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ไม่สามารถให้ผลผลิตได้ดีหากในช่วงเวลากลางคืนอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส

ปัจจุบันกัมพูชามีเมล็ดพันธุ์ข้าวมากกว่า 30 ชนิด แต่กระทรวงเกษตรป่าไม้และประมงแนะนำเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้เพียง 10 ชนิด ให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่น

ที่มา : mekongoryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 4 - 10 ก.ย. 60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ