1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง จำนวน 8 โครงการ ดังนี้
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (1) ถึง (3) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (4) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (5) และเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (6)
(1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)
(2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) (กข.)
(3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (กข.)
(4) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 (ธ.ก.ส.)
(5) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (กข.)
(6) โครงการปรับพื้นที่นาและลดรอบการปลูกข้าว ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร(ด้านการผลิต) ปี 2560/61 จำนวน 3 โครงการ คือ
- โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าว (ปศ.)
- โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 (กสก.)
- โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 (พด.)
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ข้าวเปลือกหอมมะลิราคาสูงขึ้น เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากคาดการณ์ว่าผลผลิตจะลดลงเพราะน้ำท่วมช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนข้าวเปลือกเจ้า ราคาค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังคงมีความต้องการข้าวนึ่งอย่างต่อเนื่อง
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,507 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,902 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.55
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,618 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,621 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.04
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 30,750 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 29,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.36
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,750 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,530 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.91
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,048 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,493 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,046 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,427 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.19 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 66 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,165 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 390 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,836 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.56 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 329 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 386 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,704 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 378 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,441 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.12 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 263 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 409 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,461 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 408 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,428 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 33 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.8605 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
สื่อเวียดนามรายงานข่าวว่า ล่าสุดรัฐบาลเวียดนามได้ประกาศแผนการปฏิรูปการผลิตข้าว “ระยะยาว” เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดส่งออกข้าวของเวียดนาม ซึ่งเป็นการวางวิสัยทัศน์ไปถึงปี 2573 โดยรัฐบาลได้ปรับปรุงแผนการส่งออกข้าวจากเดิมที่เน้น “ปริมาณ” เป็นการสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” เพราะถือว่าข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่สร้างรายได้อันดับต้นๆ ให้ประเทศ
แผนการปฏิรูปการส่งออกข้าวของเวียดนามที่หันมาเน้นทำตลาดคุณภาพ เพราะต้องการเพิ่มบทบาทให้เวียดนามขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกในตลาดข้าวลำดับต้นๆ ของโลก ทั้งนี้ ตามเป้าหมายที่รัฐบาลประกาศออกมาก่อนหน้านี้คือ ในปี 2563 เวียดนามจะส่งออกข้าว 4.5-5 ล้านตัน/ปี และจะสร้างรายได้ให้ประเทศประมาณ 2,200-2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี และตั้งแต่ปี 2564-2573 ปริมาณการส่งอกข้าวรายปีจะลดลงเหลือ 4 ล้านตัน แต่ในด้านมูลค่าจะเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะสร้างรายได้ให้เวียดนามเพิ่มเป็น 2,300-2,500 ล้านดอลลาร์/ปี
ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังปรับโครงสร้างผลิตภัณฑ์ข้าวเพื่อการส่งออก โดยจะเน้นส่งออกข้าวหอมพันธุ์พิเศษและข้าวเหนียวพันธุ์เฉพาะถิ่นอย่างข้าวจาปอนิกา ในสัดส่วนร้อยละ 40 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด ตามด้วยข้าวเหนียวและข้าวขาว สัดส่วนร้อยละ 25 และอีกร้อยละ 10 มาจากข้าวคุณภาพสูงอย่างข้าวออร์แกนิกและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าว
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้นำผลิตภัณฑ์ข้าวท้องถิ่นที่มีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาปรับใช้ในการผลิต จนทำให้ได้ข้าวคุณภาพสูงจำนวนมากมาบรรจุเป็น “วาระแห่งชาติ” ซึ่งปัจจุบันเวียดนามมีข้าวแบรนด์ท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้การส่งเสริมจากภาครัฐอยู่หลายราย โดยเฉพาะผลผลิตข้าวที่ปลูกบนพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (สามเหลี่ยมเดลต้า) มีแบรนด์ข้าวคุณภาพถึง 12 แบรนด์ พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้ประเมินแล้วพบว่า ส่วนแบ่งการตลาดข้าวของเวียดนามในตลาดแอฟริกายังต่ำอยู่ ดังนั้นจากแผนการปฏิรูปการส่งออกข้าวฉบับใหม่ล่าสุดนี้ จึงวางเป้าหมายไว้ให้ประเทศแอฟริกาเป็นตลาดส่งออกข้าวแห่งใหม่ของเวียดนามด้วย
หลังจากรัฐบาลประกาศแผนปฏิรูปการส่งออกข้าวออกมาก็ยิ่งเป็นตัวสนับสนุนรายงานของเวิลด์แบงก์ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ไปจนถึงปี 2593 จากนโยบายการบริหารประเทศที่ต่อเนื่อง และคาดว่าเวียดนามจะได้รับการเลื่อนลำดับชั้นของขนาดเศรษฐกิจเร็วที่สุด คือจากอันดับที่ 32 ของเศรษฐกิจโลก ปี 2560 เป็นอันดับที่ 29 ในปี 2573 และอันดับที่ 20 ในปี 2593
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
กระทรวงการค้าของอินโดนีเซียได้กำหนดราคาขายปลีกข้าวเกือบทุกประเภท เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าใช้จ่าย สินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นหัวใจของอาหารในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าราคาธัญพืชในปีนี้ค่อนข้างคงที่ แต่การเพิ่มมาตรการของหน่วยงานมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบราคาอาหาร ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ เนื่องจากราคาอาหารเป็นเรื่องทางการเมืองที่อ่อนไหวซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาความยากจนของประชากร มากไปกว่านั้นราคาข้าว
ยังส่งผลโดยตรงต่อการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศ พระราชกฤษฎีกาออกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาและมีผลบังคับใช้ทันที การกำหนดราคาเพดานข้าวหัก 25% หรือที่เรียกว่า “ข้าวกลาง” กิโลกรัมละ 9,450-10,250 รูเปียห์ (0.71-0.77 ดอลลาร์สหรัฐ) โดยราคาขึ้นอยู่กับสถานที่ในการจำหน่ายข้าวในประเทศ ข้อมูลจากกระทรวงการค้าแสดงให้เห็นว่า ราคาเพดานข้าวต่ำกว่าราคากลาง โดยเฉลี่ยของประเทศปี 2560 มีการผันผวนกิโลกรัมละ 10,540-10,756 รูเปียห์
ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดราคาเพดานข้าวหัก 15% หรือ ข้าวพรีเมี่ยม กิโลกรัมละ 12,800-13,600 รูเปียห์ ส่วนข้าวประเภทอื่นๆ ที่รัฐบาลพิจารณาว่าเป็นข้าวพิเศษจะได้รับการยกเว้นจากกฎหมายใหม่ สืบเนื่องจากเหตุการณ์การปราบปรามบริษัทข้าวของอินโดนีเซียเมื่อเดือนที่ผ่านมา ตำรวจได้ทำการจับกุมผู้บริหารบริษัท Indo Beras Unggul ซึ่งเป็นบริษัทอาหารในเครือของบริษัท Tiga Pilar Sejahtera Food ด้วยข้อกล่าวหาการติดฉลากสินค้าปลอม อัตราเงินเฟ้อประจำปีของอินโดนีเซียปี 2560 ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมร้อยละ 3.82 สามารถเป็นไปตามเป้าหมายของธนาคารปี 2560 ร้อยละ 3-5 รัฐบาลได้กำหนดราคาเพดานข้าวเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาข้าวที่เป็นสินค้าอาหารหลัก และส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีฐานะยากจน ซึ่งก่อนหน้านี้ราคาข้าว
มักขึ้นอยู่กับการเก็งกำไรของพ่อค้าคนกลาง ทำให้ราคาข้าวในประเทศพุ่งขึ้นสูงจนรัฐบาลต้องทำการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เพื่อช่วยลดราคาข้าวในประเทศ ส่งผลให้ประเทศมักขาดดุลการค้า อย่างไรก็ตาม ด้วยความพยายามของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ต้องการลดการพึ่งพาการนำเข้าอาหาร ส่งผลให้ภาครัฐบาลสนับสนุนเกษตรกรในด้านเทคโนโลยี เมล็ดพันธุ์ และปุ๋ย รวมถึงการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกให้แก่เกษตรกร
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 11 - 17 ก.ย. 60 --