1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง จำนวน 8 โครงการ ดังนี้ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (1) ถึง (3) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (4) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (5) และเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (6)
(1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)
(2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) (กข.)
(3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (กข.)
(4) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 (ธ.ก.ส.)
(5) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (กข.)
(6) โครงการปรับพื้นที่นาและลดรอบการปลูกข้าว ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร (ด้านการผลิต) ปี 2560/61 จำนวน 3 โครงการ คือ
- โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าว (ปศ.)
- โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 (กสก.)
- โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 (พด.)
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากช่วงนี้ผลผลิตข้าวนาปีซึ่งเป็นข้าวคุณภาพเริ่มทยอยออกสู่ตลาด และต่างประเทศมีความต้องการต่อเนื่อง
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,647 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,571 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.66
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,493 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,464 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.39
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 30,550 บาท ราคาลดลงจากตันละ 30,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.65
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,600 บาท ราคาลดลงจากตันละ ละ 11,650 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.43
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 951 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,480 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 963 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,921 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.25 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 441 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 392 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,976 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 397 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,159 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.26 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 183 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 378 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,513 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 381 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,629 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.79 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 116 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 416 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,771 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 415 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,756 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 15 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.1022 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
นาย Huynh Trung Tru รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมและการค้านครเกิ่นเทอกล่าวว่า ในช่วง 3 ไตรมาส แรกของปี 2560 การส่งออกข้าวของนครเกิ่นเทอเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2559 โดยมีปริมาณข้าวส่งออก 638,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 262 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าการส่งออกข้าวของนครเกิ่นเทอจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เนื่องจากความต้องการข้าวของตลาดในภูมิภาคเอเชียยังคงเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะบังคลาเทศ อิหร่าน และจีน
ในงานประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์การนำเข้าและส่งออก นาย Tru กล่าวว่า ในช่วง 3 ไตรมาสแรกที่ผ่านมา การส่งออกข้าวของนครเกิ่นเทอมีแนวโน้มที่ดี จึงคาดว่าการส่งออกข้าวจะเพิ่มขึ้นอีกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 โดยเฉพาะบังคลาเทศ คาดว่าจะซื้อข้าวเวียดนามปริมาณ 500,000 ตัน ภายในสิ้นปี 2560 โดยในเดือนตุลาคมจะซื้อข้าวประมาณ 250,000 – 300,000 ตัน ทั้งนี้ผู้ผลิตข้าวท้องถิ่นสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการประมูลปริมาณข้าวดังกล่าวกับสมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association: VFA)
นาย Tru กล่าวเพิ่มเติมว่า ความต้องการข้าวของตลาดอื่นๆ เช่น จีน สิงคโปร์ และอิหร่านยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะคู่ค้าอิหร่านมีข้อตกลงกับผู้ส่งออกข้าวในเวียดนามเพื่อซื้อข้าวปริมาณ 100,000 ตัน โดยเริ่มการส่งออกข้าวไปยังอิหร่านครั้งแรกภายในสิ้นปี 2560 พร้อมย้ำว่า หากการส่งออกไปยังอิหร่านเป็นไปด้วยดีและยั่งยืน อิหร่านจะลงนามในสัญญาระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเกษตรกรในท้องถิ่น
ขณะที่นาย Huynh The Nang ผู้อำนวยการทั่วไปของบริษัทอาหารภาคใต้เวียดนาม (Vietnam Southern Food Corp) เคยกล่าวในรายงานเดือนสิงหาคม 2560 ของ The Saigon Time Daily ว่า ผู้ส่งออกข้าวในท้องถิ่น ได้ลงทะเบียนจัดส่งข้าวโดยทางเรือปริมาณ 5,157 ล้านตันแล้ว ส่วนปริมาณข้าวคงเหลือที่จะต้องจัดส่งอีกประมาณ 1.3 ล้านตัน
VFA คาดการณ์ว่าในปี 2560 เวียดนามสามารถส่งออกข้าวประมาณ 5.6 ล้านตัน โดย 1.8 ล้านตัน จะจัดส่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2560
ในขณะที่กรมอุตสาหกรรมและการค้านครเกิ่นเทอกล่าวในรายงานว่า นครเกิ่นเทอส่งออกข้าวมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2560 โดยบรรลุร้อยละ 75.8 ของเป้าหมายทั้งปี และเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2559
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
นายอัมราน สุไลมาน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรอินโดนีเซีย แถลงเปิดตัวโครงการประกันเกษตรกรในเมืองเคียมิส จ.ชวาตะวันตก โดยกล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์และเป็นครั้งแรกของประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมประกันสำหรับวัวและแปลงทำการเกษตรเพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากการขาดทุน หากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหรือศัตรูพืช
นายอัมรานเผยว่า โครงการประกันเกษตรกรซึ่งบริหารจัดการโดยรัฐวิสาหกิจ พีที อซูรันซี จาซา อินโดนีเซีย (จาซินโด) เป็นส่วนหนึ่งของพันธกรณีของรัฐบาลในการปรับปรุงสวัสดิการของเกษตรกร รวมทั้งช่วยเพิ่มการผลิตให้กับภาคการเกษตรด้วย
ด้านนางรินีโซมาโน รัฐมนตรีกระทรวงรัฐวิสาหกิจอินโดนีเซีย ระบุว่า โครงการประกันเกษตรกรเป็นส่วนหนึ่งในหลายโครงการของรัฐบาลที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตและสวัสดิการของเกษตรกรดีขึ้น และยังเกี่ยวข้องกับ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตร กระทรวงรัฐวิสาหกิจ และกระทรวงหมู่บ้าน ภูมิภาคด้อยโอกาสและการย้ายถิ่นฐาน และเสริมว่า โครงการอื่นๆ รวมไปถึงบัตรเกษตรกรที่ช่วยให้เกษตรกรได้รับปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ และยาฆ่าแมลงที่มาจากการอุดหนุนของรัฐบาลและโครงการผู้ประกอบการเกษตรกร
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเปิดตัวโครงการผู้ประกอบการเกษตรกรซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง สำหรับเกษตรกร 14 กลุ่ม ในเมืองเคียมิสไปแล้ว และรัฐบาลยังมีแผนจะเปิดตัวโครงการคล้ายกันในอีก 9 เมือง ของ จ.ชวาตะวันตกด้วย “โครงการนี้นอกจากทำให้บรรดาเกษตรกรได้พึ่งพาผลิตภัณฑ์การเกษตรแล้ว ยังคาดว่าจะได้รับเงินจากภาคธุรกิจเช่นกัน”
สำนักข่าวจาการ์ตา โพสต์รายงานก่อนหน้านี้ว่า ภาคเกษตรของอินโดนีเซียหันมาพึ่งการเกษตรแปรรูปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้อินโดนีเซียยังครองตำแหน่งผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายหลักของโลก
ข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียเผยว่า อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในอินโดนีเซียได้ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.39 ในปี 2559 ขณะที่ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 5.82
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
การส่งออกข้าวของกัมพูชาเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 17 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยส่งออกไปจีนภายใต้โควตาการนำเข้าที่สูงขึ้น เนื่องจากตลาดยุโรปยังคงทรงตัว
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 (ม.ค.-ก.ย.) กัมพูชาส่งออกข้าวปริมาณ 421,900 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ตามข้อมูลของรัฐบาล ขณะที่จีนตกลงที่จะรับซื้อข้าวจำนวน 200,000 ตัน นอกจากนี้ จะส่งออกไปยังฝรั่งเศสและโปแลนด์ จำนวน 53,900 ตัน และ 35,400 ตัน ตามลำดับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ The Nation
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 9 - 15 ต.ค. 60 --