ผ่าผลกระทบอุกทกภัยต่อภาคเกษตร มองมูลค่าความเสียหาย ถอดแผนฟื้นฟู เยียวยาภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 9, 2017 16:03 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ผ่าผลกระทบอุกทกภัยต่อภาคเกษตร มองมูลค่าความเสียหาย ถอดแผนฟื้นฟู เยียวยาภาครัฐ

ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) โดย ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า อุทกภัย ถือว่าเป็นภัยธรรมชาติอย่างหนึ่งที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยได้ทุก ๆ ปี เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในเขตมรสุมตลอดทั้งปี อุทกภัยในปี 2554 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาลโดยเฉพาะภาคเกษตร ก่อให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply-Chain Disruption) ในหลายอุตสาหกรรมของไทยและอาจรวมไปถึงผู้ผลิตรายอื่นของอีกหลายประเทศ แม้ที่ผ่านมาพื้นที่เสียหายทางการเกษตรในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะอยู่ต่ำกว่าระดับ 5 ล้านไร่ แต่ในบางปีก็มีระดับน้ำท่วมสูงและพื้นที่การเกษตรเสียหายมากกว่า 5 ล้านไร่ เช่นปี 2551, 2553 และ 2554 โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 2554 ทำให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายมากถึง 12.22 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับความเสียหาย 1.289 ล้านราย

สำหรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2560 ผลสำรวจเบื้องต้นจากการสำรวจพบว่ามีพื้นที่การเกษตร (ด้านพืช) เสียหายโดยสิ้นเชิงประมาณ 3.41 ล้านไร่ (เฉพาะช่วงที่ 1 ช่วงภัยวันที่ 5 ก.ค.-15 ส.ค.60) หรือคิดเป็นร้อยละ 27.90 ของพื้นที่เสียหายในปี 2554 โดยสถานการณ์อุทกภัย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 – ปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่

ช่วงที่ 1 ช่วงภัยวันที่ 5 ก.ค.-15 ส.ค.60 (พายุตาลัส-เซินกา) สำรวจความเสียหายแล้ว จำนวน 43 จังหวัด เกษตรกรรวม 444,854 ราย วงเงินช่วยเหลือ 3,869.39 ล้านบาท ช่วงที่ 2 ช่วงภัยตั้งแต่ วันที่ 16 ส.ค. – 30 ก.ย.60 (พายุทกซูรี) พื้นที่ได้รับผลกระทบอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย เกษตรกรรวม 51,565 ราย และช่วงที่ 3 ช่วงภัยตั้งแต่ วันที่ 1 ต.ค.- ปัจจุบัน (หย่อมความกดอากาศต่ำ ร่องมรสุม) พื้นที่ได้รับผลกระทบอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย เกษตรกรรวม 194,692 ราย

จากการคำนวณเบื้องต้น โดยศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (ข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2560) พบมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากพื้นที่เสียหายสิ้นเชิง (ช่วงที่ 1 ช่วงภัยวันที่ 5 ก.ค.-15 ส.ค.60) ด้านพืช 3.41 ล้านไร่ ประมงพื้นที่บ่อปลา 12,253 ไร่ และด้านปศุสัตว์ สัตว์ตายและสูญหาย 60,591 ตัว คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 11,959.65 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าความเสียหายด้านพืช 11,817.04 ล้านบาท ประมง 133.68 ล้านบาท และปศุสัตว์ 8.93 ล้านบาท ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามยังมีพื้นที่ได้รับผลกระทบอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายคือ อุทกภัยช่วงวันที่ 16 สิงหาคม 2560 ถึงปัจจุบัน อีกประมาณ 1.94 ล้านไร่ ซึ่งศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร คาดการณ์ว่าจะเสียหายโดยสิ้นเชิงประมาณ 20% จึงประมาณการว่าจะทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายอีกประมาณ 2,238.57 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหายทั้ง 3 ช่วงภัยเป็น 14,198.21 ล้านบาท เมื่อประเมินผลกระทบจากมูลค่าความเสียหายของอุทกภัยที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) พบว่า ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มูลค่า 3,648.01 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.04 ของมูลค่า GDP รวมทั้งประเทศ และ 0.59 ของมูลค่า GDP สาขาเกษตร โดยผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มากที่สุดคือสาขาพืชโดยมีมูลค่าความเสียหาย 3,593.17 ล้านบาท รองลงมาเป็นสาขาประมง 53.47 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 1.38 ล้านบาท ตามลำดับ

สรุปมูลค่าความเสียหายและผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP)

ชนิด                                                     มูลค่าความเสียหาย (ล้านบาท)                                       ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อ
                                    พื้นที่เสียหายสิ้นเชิง (ช่วงที่ 1)               คาดการณ์พื้นที่เสียหายสิ้นเชิง 20%                       GDP*(ล้านบาท)

(ของพื้นที่ผลกระทบช่วงที่ 2,3)

พืช                                               11,817.04                     2,238.57                                      3,593.17
ปศุสัตว์                                                 8.93                          N/A                                          1.38
ประมง                                               133.68                          N/A                                         53.47
รวม                                              11,959.65                     2,238.57                                      3,648.01
สัดส่วนต่อGDPรวม (ร้อยละ)                                                                                                            0.04
สัดส่วนต่อGDPภาคเกษตร(ร้อยละ)                                                                                                        0.59

ที่มา: ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางการเกษตร จากการคำนวณเบื้องต้น โดยศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร, ข้อมูล ณ วันที่ 6 พ.ย. 2560
หมายเหตุ:  1. * หมายถึง มูลค่าผลกระทบ ณ ราคาที่แท้จริง (แบบปริมาณลูกโซ่)

2. N/A หมายถึง อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายและความสูญเสียและไม่สามารถคาดการณ์ได้

3. การคาดการณ์พื้นที่เสียหายสิ้นเชิง 20% อ้างอิงจากความน่าจะเป็นในอดีต

ทั้งนี้ เมื่อคราวประชุมคณะรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเนื่องจากพายุตาลัส และพายุเซนกา สำหรับการให้ความช่วยเหลือที่ผ่านมาแบ่งเป็นการช่วยเหลือฟื้นฟูและการให้ความช่วยเหลือระยะเร่งด่วน เพื่อการบรรเทาความเดือดร้อนโดยการชดเชยความเสียหายในช่วงแรกของการเกษตรภัย และการฟื้นฟื้นที่การเกษตรให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรได้หลังน้ำลดและบริหารจัดการในรูปแบบกลุ่ม (ข้อมูล ณ 6 พ.ย. 60) ดังนี้

1. การให้ความช่วยเหลือระยะเร่งด่วน แจกจ่ายพืชอาหารสัตว์ 70,815 กิโลกรัม แร่ธาตุและเวชภัณฑ์ 1,758 ชุด ในพื้นที่ 3 จังหวัดได้แก่ พิษณุโลก กาฬสินธุ์ พิจิตร ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 168 เครื่อง ในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์(8) ขอนแก่น(18) มหาสารคาม(19) นครสวรรค์(11) สุพรรณบุรี(10) อ่างทอง(4) ชัยนาท(9) สิงห์บุรี(28) อุทัยธานี(1) พระนครศรีอยุธยา(14) ปทุมธานี(14) และนนทบุรี(32) ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 30 เครื่อง ในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด(18) อุบลราชธานี(12) และแจกจ่ายพืชอาหารสัตว์ 240,190 กิโลกรัม แร่ธาตุและเวชภัณฑ์ 22,492 ชุด รวมทั้งดูแลสุขภาพสัตว์ 6,948 ตัว ในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย สุโขทัย อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา และร้อยเอ็ด

2. การให้ความช่วยเหลือฟื้นฟู เป็นการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 งบทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรกรรวม 232,192 ราย วงเงินรวม 2,149.66 ล้านบาท แบ่งเป็น ด้านพืช เกษตรกร 220,205 ราย พื้นที่ 1.88 ล้านไร่ วงเงิน 2,105.86 ล้านบาท (55%) ด้านประมง เกษตรกร 10,581 ราย พื้นที่ 9,562 ไร่ กระชัง 1,736 ตรม. วงเงิน 41.32 ล้านบาท (77%) และด้านปศุสัตว์ เกษตรกร 1,406 ราย สัตว์ตายหรือสูญหาย 52,497 ตัว แปลงหญ้า 23 ไร่ วงเงิน 2.48 ล้านบาท

3. ตามมติ ครม. ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2560 เห็นชอบและอนุมัติเรื่อง การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเนื่องจากพายุตาลัส และพายุเซินกา โดยมีความก้าวหน้าการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาฯ ครัวเรือนละ 3,000 บาท จำนวน 43 จังหวัด แบ่งเป็น

  • เกษตรกรยื่นแบบความจำนงแล้ว 1,864,965 ครัวเรือน
  • ผ่านการพิจารณาคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดแล้ว เกษตรกร 1,759,038 ครัวเรือน วงเงิน 5,363.74 ล้านบาท (94%)
  • กสก. ปม. ปศ. ได้รับเอกสารเพื่อตรวจความซ้ำซ้อนแล้ว เกษตรกร 1,480,318 ครัวเรือน วงเงิน 4,463.83 ล้านบาท (80%)
  • สป.กษ. ได้รับเอกสารเพื่อตรวจความซ้ำซ้อนแล้ว เกษตรกร 964,230 ครัวเรือน วงเงิน 2,892.69 ล้านบาท (52%)
  • สงป. ได้รับเอกสารเพื่อพิจารณาแล้ว เกษตรกร 561,485 ครัวเรือน วงเงิน 1,684.46 ล้านบาท (30%)
  • สงป. อนุมัติเงินแล้ว เกษตรกร 561,485 ครัวเรือน วงเงิน 1,684.46 ล้านบาท (30%)
  • ธ.ก.ส. โอนเงินให้เกษตรกรแล้ว เกษตรกร 538,011 ครัวเรือน วงเงิน 1,614.03 ล้านบาท (29%)

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ระยะสั้น ควรปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ การเร่งสำรวจท่อระบายน้ำ คู คลอง หนองบึง และระบบระบายน้ำที่มีอยู่ว่ามีประสิทธิภาพดีเพียงใด การก่อสร้างคันกั้นน้ำขนาดที่เหมาะสม ก่อสร้างทางผันน้ำ เพื่อผันน้ำทั้งหมดหรือบางส่วนที่ล้นตลิ่งออกไป ในชุมชนควรปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับอัตราการไหลได้อย่างเหมาะสม ระยะยาว ศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำ และอ่างเก็บน้ำ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่ที่ต้องการป้องกัน และสร้างฝายยกระดับเพื่อผันน้ำเข้าพื้นที่เก็บน้ำ การสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อบรรเทาน้ำท่วมกระจายให้ครอบคลุมพื้นที่เพื่อเก็บน้ำใช้ในฤดูแล้งและยังสามารถช่วยควบคุมการไหลของน้ำไม่ให้ไหลลงสู่พื้นที่ท้ายน้ำมากเกินไป การปรับปรุงผังเมืองให้สอดคลองกับแนวทางการระบายน้ำในสภาพปัจจุบันและแผนในอนาคต ควรนำมาตรการทางด้านกฎหมายผังเมืองรวมมาบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อลดความสูญเสีย โดยการปลูกพืชอายุสั้นทันเก็บเกี่ยวก่อนน้ำมา และส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการทำการเกษตร

********************************************

ข้อมูล : ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ