นครพนม อีกแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์ที่น่าจับตา ดึงการรวมกลุ่ม รุกตลาดนำการผลิต
สศท. 3 ระบุ จังหวัดนครพนม มีเกษตรกรปลูกข้าวที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ 996 ราย พื้นที่ปลูก 11,660 ไร่ พร้อมเดินหน้าสร้างผลิตภัณฑ์แบรนด์สินค้าข้าวอินทรีย์ ดึงกลวิธีตลาดนำการผลิตมาปรับใช้ ย้ำความร่วมมือจากทุกภาคส่วนคือหัวใจสำคัญ สู่การเป็นฐานการผลิตข้าวอินทรีย์มาตรฐานของประเทศ
นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 จังหวัดอุดรธานี (สศท.3) ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตข้าวอินทรีย์ของจังหวัดนครพนม ปี 2560 พบว่า จังหวัดนครพนมมีเกษตรกรปลูกข้าวที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ 996 ราย พื้นที่ปลูก 11,660 ไร่ ประมาณการผลผลิต 5,052 ตัน โดยเกษตรกรได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประเทศไทย (มกษ.) มีจำนวน 133 ราย พื้นที่ปลูก 796.50 ไร่ และได้รับมาตรฐานอินทรีย์ต่างประเทศ ได้แก่ EU USDA JAS และ COR จำนวน 863 ราย พื้นที่ปลูก 10,864 ไร่ ส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวมะลิแดง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรสร้างแบรนด์สินค้าข้าวอินทรีย์ รวมทั้งดึงกลวิธีการตลาดนำการผลิตมาปรับใช้ และย้ำความร่วมมือจากทุกภาคส่วนคือหัวใจสำคัญ สู่การเป็นฐานการผลิตข้าวอินทรีย์มาตรฐานของประเทศ
ด้าน นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันจังหวัดนครพนมมีผลิตภัณฑ์ข้าวสารอินทรีย์จากวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ มากมาย อาทิ วิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวตำบลบ้านผึ้ง (แบรนด์ ข้าวสุข) วิสาหกิจชุมชนพึ่งตนเองบ้านหนองสะโน (แบรนด์ พญาหงส์) วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร (แบรนด์ เพชรไพศาล) และวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวบ้านฝั่งแดง (แบรนด์ ข้าวคุณแม่) นอกจากข้าวสารอินทรีย์บรรจุถุงยี่ห้อต่าง ๆ แล้ว จังหวัดนครพนมยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวอินทรีย์ด้วย เช่น จมูกข้าวผง ซีเรียวข้าว ข้าวเกรียบ น้ำข้าวไรซ์เบอร์รี่ แชมพูข้าว สบู่น้ำนมข้าว เครื่องสำอางเซรั่มข้าวไรซ์เบอร์รี่ โดยมีช่องการตลาดและการจัดจำหน่ายสินค้าตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น งานแสดงสินค้า ร้านค้าเพื่อสุขภาพ ร้านค้าประจำกลุ่ม ตลาดสีเขียวภายในจังหวัด ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ตัวแทนจำหน่าย และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ
ทั้งนี้ จังหวัดนครพนมได้เปิดเผยถึงความสำเร็จในการดำเนินงานที่ผ่านมาโดยยึดหลัก “ตลาดนำการผลิต” ผ่านความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง 7 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐบาล ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ศาสนา สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม และประชาชน โดยเริ่มจากการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์รวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็งและยกระดับจากเกษตรอินทรีย์วิถีชาวบ้านสู่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับรองมาตรฐาน มีการสร้างแบรนด์สินค้าของตนเอง มีการเชื่อมโยงตลาดและสร้างเครือข่ายธุรกิจ และเน้นทำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกอย?งต?อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สำหรับแผนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในระยะถัดไปของจังหวัดได้มีการกำหนดไว้ในแผนการพัฒนาจังหวัดปี 2561-2564 โดยเน้นยกระดับการผลิตข้าวอินทรีย์ให้ได้การรับรองมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรจังหวัดนครพนมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวหอมมะลิให้ได้มาตรฐานอินทรีย์ และโครงการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดข้าวหอมมะลิแบบครบวงจร พร้อมทั้งเพิ่มการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ผู้บริโภคตระหนัก รู้จัก และยอมรับผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิจังหวัดนครพนมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ปี 2560 จังหวัดนครพนมยังได้รับงบประมาณก่อสร้างโรงสีข้าวอินทรีย์ขนาด 80 ตัน พร้อมอุปกรณ์การตลาด สำหรับการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ตามแผนการพัฒนาจังหวัดปี 2561-2564 เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง สศก. โดย สศท. 3 จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ตามยุทธศาสตร์ที่ 4 ของยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 ต่อไป
*********************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 จังหวัดอุดรธานี
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร