1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ด้านการผลิต ปีการผลิต 2560/61
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (1) ถึง (3) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (4) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบโครงการที่ (5) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (6) ถึง (8) และเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เห็นชอบโครงการที่ (9) และ (10)
(1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)
(2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) (กข.)
(3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (กข.)
(4) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 (ธ.ก.ส.)
(5) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (กข.)
(6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)
(7) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว และปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี (ธ.ก.ส.)
(8) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (ธ.ก.ส.)
(9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 (กสก.)
(10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 (พด.)
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากต่างประเทศมีคำสั่งซื้อข้าวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นช่วงที่มีการส่งมอบข้าวระหว่างรัฐต่อรัฐกับบังคลาเทศด้วย
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,007 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,636 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.19
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,491 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,286 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.47
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 30,350 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 30,000 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.17
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,650 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,875 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.89
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,001 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,368 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 56 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 406 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,128 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 412 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,345 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.46 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 217 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 391 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,643 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 396 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,827 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.26 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 184 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 421 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,613 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 424 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,734 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.71 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 121 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.3352 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้จัดทำแผนการขยายตลาดข้าวไทยในปี 2561 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการนำหารือกับ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ ที่กำกับดูแลกรม โดยเน้นการขยายตลาดข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ได้แก่ การผลักดันให้จีนรับมอบข้าวภายใต้สัญญาจีทูจี 1 ล้านตันแรก ปัจจุบันยังเหลือการส่งมอบอีก 6 แสนตัน ให้ครบโดยเร็ว และจะผลักดันการเจรจาให้จีนซื้อข้าวอีก 1 ล้านตันที่ 2 ภายใต้เอ็มโอยูสินค้าเกษตรไทย-จีน
ทั้งนี้ นอกจากจีนแล้วจะเน้นการเจรจาขายให้กับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา บังกลาเทศ อิรัก อิหร่าน และไนจีเรีย เป็นต้น และยังมีแผนที่จะร่วมกับภาคเอกชนในการจัดกิจกรรมขยายตลาดเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดเป้าหมาย เช่น ฮ่องกง จีน การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า เพื่อแนะนำข้าวไทยและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมข้าวไทยที่เยอรมันนี ในงานแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์ Biofach 2018 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในงานแสดงสินค้านานาชาติ Gulfood 2018 การจัดคณะผู้แทนเพื่อขยายความร่วมมือด้านการค้าข้าวกับสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม แอฟริกาใต้ และไอวอรี่โคสต์ โดยเฉพาะเวียดนามจะมีการหารือเพื่อเพิ่มความรวมมือในด้านการค้าข้าวด้วย
“ปีหน้าการทำตลาดข้าวไม่มีแรงกดดันมาก เพราะขณะนี้สต็อกข้าวที่เคยเป็นแรงกดทับตลาดไม่มีเหลือแล้วที่เหลืออยู่ก็ไม่ใช่ข้าวสำหรับคนบริโภค คาดว่ากรมจะทำตลาดได้ง่ายขึ้น โดยการขยายตลาดข้าว นอกจากจะมุ่งผลักดันส่งออกข้าวคุณภาพดี ข้าวอินทรีย์ ข้าวสีชนิดต่างๆ แล้ว ยังจะให้ความสำคัญกับการผลักดันส่งออกผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าวด้วย” นายอดุลย์กล่าว
นอกจากนี้ กรมจะร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายข้าวไทยร่วมกับห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ตในตลาดสำคัญทุกภูมิภาคทั่วโลก เช่น จีน ไต้หวัน สเปน เยอรมนี อิตาลี อังกฤษ สหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโก คิวบา เปรู และชิลี เป็นต้น ส่วนภายในประเทศจะเข้าร่วมจัดนิทรรศการและการประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในงานต่างๆ เช่น งานแสดงสินค้า อาหารระดับนานาชาติ (ไทยเฟกซ์) งานไทยไรซ์ เฟสติวัล งานวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ และงานออร์แกนิก แอนด์ เนเจอรัล เอ็กซ์โป 2017 เป็นต้น
สำหรับแนวทางการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลที่เหลืออยู่ 2.03 ล้านตัน คณะกรรมการและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้ให้แนวทางในการระบายมาแล้ว โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดระบายได้ในช่วงต้นปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2560/61 หมดแล้ว และข้าวที่จะระบายก็ไม่มีผลกระทบต่อตลาด เพราะเป็นข้าวที่ใช้ในอุตสาหกรรม ไม่ใช่อาหารคน
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ขณะนี้ไม่มีข้าวเพื่อการบริโภคของคนหรือข้าวดี เหลืออยู่ในสต็อกรัฐบาล หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีการอนุมัติขายข้าวกลุ่ม 1 หรือข้าวเพื่อการบริโภคปริมาณ 5 หมื่นกว่าตันให้กับกรมราชทัณฑ์ไปหมดแล้ว ทำให้ขณะนี้เหลือแต่ข้าวที่ระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมเท่านั้น แบ่งเป็น ปริมาณ 1.5 ล้านตัน เป็นข้าวกลุ่ม 2 หรือข้าวที่ต้องระบายเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มิใช่คนบริโภค และกลุ่ม 3 อีกประมาณ 5 แสนตัน เป็นข้าวที่ต้องระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มิใช่คนและสัตว์บริโภค
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การระบายข้าวในกลุ่ม 2 และ 3 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีหน้า เพราะต้องรอให้ผลผลิตข้าวนาปีฤดูกาล 2560/61 ที่ขณะนี้กำลังทยอยออกสู่ตลดาหมดก่อน โดยคาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกนาปีจะเริ่มลดน้อยลงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2561 คาดว่าจะสามารถเริ่มระบายข้าวในสต็อกรับบาลที่เหลือออกมาได้ และไมน่าจะกระทบกับราคาข้าวในตลาด เพราะเป็นข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มิใช่ข้าวเพื่อการบริโภคปกติ
ด้านราคาส่งออกข้าวไทยล่าสุด โดยราคาส่งออกข้าวขาว 5% ตันละ 412 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าราคาข้าวชนิดเดียวกันของเวียดนามที่ส่งออกตันละ 390 ดอลลาร์สหรัฐ อินเดียส่งออกตันละ 390 ดอลลาร์สหรัฐ และปากีสถานส่งออกตันละ 372 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนข้าวนึ่งของไทยส่งออกที่ตันละ 437 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าอินเดียที่ส่งออกตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
เวียดนาม
ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่อนข้างทรงตัวท่ามกลางอุปทานข้าวในประเทศลดลงหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูการผลิตฤดูร้อน (the summer-autumn crop) สิ้นสุดลง ขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศก็ลดลงด้วย เนื่องจากผู้ซื้อยังไม่ต้องการซื้อข้าวในขณะนี้เพราะราคายังสูงเกินไป โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ประมาณ 395 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ใกล้เคียงกับราคา 395-398 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 374,771 ตัน ลดลงร้อยละ 22.4 เมื่อเทียบกับ จำนวน 483,107 ตัน ในเดือนตุลาคม แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 เมื่อเทียบกับจำนวน 318,007 ตันในเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ทางด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในเดือนตุลาคม 2560 เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 492,753 ตัน ลดลงร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับจำนวน 560,559 ตัน ในกันยายน 2560 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 เมื่อเทียบกับจำนวน 378,880 ตัน ในเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา
โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในเดือนตุลาคม 2560 ประกอบด้วย ตลาดเอเชียจำนวน 404,157 ตัน ตลาดแอฟริกาจำนวน 64,110 ตัน ตลาดอเมริกาจำนวน 3,057 ตัน ตลาดยุโรปและเครือรัฐเอกราช (Europe and CIS countries) จำนวน 3,255 ตัน และตลาดออสเตรเลียจำนวน 18,174 ตัน ทั้งนี้ในเดือนตุลาคม 2560 เวียดนาม ส่งออกข้าวขาว 5% จำนวน 71,610 ตัน ข้าวขาว 10% จำนวน 863 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 16,187 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 2,434 ตัน ปลายข้าวขาว 100% จำนวน 18,545 ตัน ข้าวหอม (Jasmine rice) 176,739 ตัน ข้าวเหนียว 62,813 ตัน และข้าวชนิดอื่นๆ จำนวน 62,813 ตัน
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
อิตาลี
รัฐบาลอิตาลีร้องแก่คณะกรรมาธิการยุโรป งัดมาตรการเซฟการ์ดป้องกันการนำเข้าข้าวกัมพูชา หวั่นเกิดความไม่สมดุลทางการค้า
สำนักข่าวท้องถิ่นพนมเปญโพสต์ รายงานว่า ประเทศอิตาลี และอีก 6 ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมาธิการยุโรป พิจารณาใช้มาตรการปกป้อง หรือเซฟการ์ด คลอส ของสหภาพยุโรป เพื่อจำกัดการนำเข้าข้าวจากราชอาณาจักรกัมพูชา รวมถึงสร้างกำแพงการนำเข้าสินค้าเพื่อป้องกันความไม่สมดุลทางการค้า
ทั้งนี้ รัฐบาลอิตาลีได้เสนอคำร้องอย่างเป็นทางการแก่คณะกรรมาธิการยุโรป เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมี วัตถุประสงค์เรียกร้องให้จำกัดการนำเข้าข้าวจากกัมพูชา เนื่องจากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเพิ่มขึ้น เป็น 2 เท่า โดยในปี 2559 ยุโรปนำเข้าข้าวจากกัมพูชามูลค่า 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการส่งออกข้าวภายใต้ โครงการสิทธิพิเศษปลอดภาษีและปลอดโควตาสินค้านำเข้าทุกชนิด ยกเว้นอาวุธยุทโธปกรณ์ ทำให้กัมพูชาไม่ต้องเสีย ภาษีในการส่งออกข้าวไปยังยุโรป
นายฮุน หลัก รองประธานสหพันธ์ข้าวแห่งกัมพูชา หรือซีอาร์เอฟ เปิดเผยว่า การยื่นคำร้องของอิตาลีครั้งนี้ ไม่ใช่ ครั้งแรกที่อิตาลีพยายามเพิ่มข้อกำหนดในการส่งออกข้าวของกัมพูชาไปยังสหภาพยุโรป โดยกลุ่มยุโรปมักมีคำร้องเกี่ยวกับ การนำเข้าข้าวจากกัมพูชาทุกปี แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อกัมพูชา เนื่องจากกัมพูชาส่งออกข้าวหอมเมล็ดยาว แตกต่างกับ ชนิดข้าวของอิตาลี ซึ่งเชื่อว่าประเด็นทางการเมืองจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของกัมพูชา ขอให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอย่ากังวล
นายจันทร สุเฮง กรรมการบริหาร บริษัท เฮชซีซี กรุ๊ป กล่าวว่า สภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ดีในกัมพูชา จะทำให้คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปไม่กีดกันกัมพูชาตามข้อเรียกร้องของอิตาลี ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการจำกัดการส่งออกข้าวของกัมพูชาไปยังสหภาพยุโรปจริงก็ยังไม่กระทบต่อตลาด ด้าน นายลอง เข็มวิเชฐ โฆษกกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวว่า ไม่กังวลกับคำร้องของอิตาลี โดยมองว่าประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาการเมืองของสหภาพยุโรปไม่เกี่ยวข้องกับกัมพูชา
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 11 – 17 ธันวาคม 60 --