ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 29, 2018 13:52 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2560/61
มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 13 โครงการ ดังนี้

(1) ด้านการผลิต มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 และวันที่ 12ธันวาคม 2560 เห็นชอบโครงการฯ ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี 2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) 3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์4) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 5) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 25616) โครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 7) โครงการขยายการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561และ 8) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ ฤดูนาปรัง ปี 2561

(2) ด้านการตลาด มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 และเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 เห็นชอบโครงการฯ ได้แก่ 1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร 2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี และ 4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

(3) ด้านการเงิน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการส่งออกต้องการข้าวเพื่อทยอยส่งมอบตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,675 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,499 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.30

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,815 ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,713 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.32

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 31,490 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 31,130 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.15

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,770 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,170 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.93

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.5027 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2560/61 ประจำเดือนมกราคม 2561 ว่าจะมีผลผลิต 484.709 ล้านตันข้าวสาร (723.2 ล้านตันข้าวเปลือก) ลดลงจาก 487.078 ล้านตันข้าวสาร (726.5 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือลดลงร้อยละ 0.49 จากปี 2559/60

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2560/61 ณ เดือนมกราคม 2561 ว่าผลผลิต ปี 2560/61 จะมี 484.709 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2559/60 ร้อยละ 0.49 การใช้ในประเทศจะมี 481.746 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.03 การส่งออก/นำเข้าจะมี 46.242 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.29 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 141.075 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.15

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล กัมพูชา จีน กายานา ปากีสถาน ปารากวัย และเวียดนาม ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา เมียนมาร์ อียู รัสเซีย อุรุกวัย สหรัฐอเมริกา และไทย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แองโกลา คาเมรูน ไอเวอรี่โคสต์ คิวบา อียู กานา กินี อิรัก เคนย่า เนปลาล ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล และสหรัฐอาหรับเอมิเรส ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บังคลาเทศ เบนิน บราซิล จีน อิหร่าน มาเลเซีย เม็กซิโก โมแซมบิค ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ แองโกลา คาเมรูน ไอเวอรี่โคสต์ คิวบา อียู กินี อิรัก เคนย่า เนปาล ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ บังคลาเทศ บราซิล จีน อิหร่าน มาเลเซีย เม็กซิโก โมแซมบิค และแอฟริกาใต้

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ข้าวขาวจากประเทศเวียดนาม ได้พัฒนาจนมีคุณภาพแซงหน้าข้าวขาวไทยแล้ว เห็นได้จากการตั้งราคาข้าวขาวสายพันธุ์ใหม่ของเวียดนามที่สูงกว่าข้าวขาว 5% ไทย 60-80 ดอลลาร์/ตัน และที่สำคัญข้าวเวียดนามสายพันธุ์ใหม่สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวขาวไทยได้ในหลายตลาด โดยเฉพาะตลาดจีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น เนื่องจากเป็นข้าวที่นิ่มมาก จึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคข้าวราคาไม่แพง "ทราบว่าเป็นข้าวพันธุ์ใหม่ที่เวียดนามได้คิดค้นและพัฒนาขึ้นมา โดยเป็นข้าวขาวที่นิ่มมากและเริ่มทำตลาดได้ในหลายๆ ประเทศ ที่สำคัญราคาแพงกว่าข้าวขาวของไทยอีก ซึ่งราคาอยู่ที่ 460-480 ดอลลาร์/ตัน ส่วนข้าวขาว 5% ไทย อยู่ที่ 400 ดอลลาร์/ตัน จากปกติที่ข้าวขาวไทยจะแพงกว่าเวียดนามเฉลี่ย 40-50 ดอลลาร์/ตัน" นายชูเกียรติ กล่าว

ที่ผ่านมาหลายๆ รัฐบาลหันไปสนใจเกี่ยวกับโครงการเพื่อหาเสียงทางการเมือง ขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันใช้เวลาในการระบายข้าวจากโครงการรับจำนำของรัฐบาลชุดก่อนเกือบ 20 ล้านตัน จึงไม่มีเวลาเพียงพอที่จะพัฒนาสายพันธุ์ข้าว โดยเฉพาะข้าวขาวที่ราคาไม่แพง เพราะคนในประเทศและอีกหลายๆ ประเทศยังบริโภคข้าวขาวที่มีราคาถูก

อย่างไรก็ตาม การทำงานด้านข้าวของรัฐบาลชุดปัจจุบันถือว่าบริหารงานถูกทางแล้ว ที่เน้นการสร้างความยั่งยืนแก่เกษตรกรในระยะยาว แต่ภาคเอกชนต้องการเสนอให้รัฐบาลเร่งพัฒนาเพิ่มสายพันธุ์ข้าวใหม่ และต้องมีผลผลิตต่อไร่สูงด้วย เพื่อจูงใจให้ชาวนาปลูกและเพื่อหนีคู่แข่ง ไม่อย่างนั้นอาจทำให้เพื่อนบ้านพัฒนาข้าวจนแซงหน้าประเทศไทยในบางประเภท เบื้องต้นแม้ว่ารัฐบาลจะยืนยันว่าปัจจุบันมีข้าวขาวคุณภาพดีหลายสายพันธุ์ที่ออกมาใหม่ๆเช่น ข้าวขาวพันธุ์

กข.43 ที่มีน้ำตาลน้อยเหมาะกับคนที่เป็นโรคเบาหวาน แต่ผลผลิตต่อไร่ที่ออกมายังไม่มากนัก จึงไม่จูงใจชาวนาเท่าที่ควร

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ราคาส่งออกข้าวในปัจจุบัน พบว่าราคาข้าวขาว 5% ของไทยส่งออก อยู่ที่ 395 ดอลลาร์/ตัน ข้าวขาวชนิดเดียวกันที่เวียดนามส่งออกอยู่ที่ 390 ดอลลาร์/ตัน ขณะที่ข้าวขาวของกัมพูชาส่งออกที่ 445 ดอลลาร์/ตัน ข้าวขาวอินเดียส่งออกที่ 390 ดอลลาร์/ตัน และข้าวขาวปากีสถานส่งออกที่ 380 ดอลลาร์/ตัน

ขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิ 100% ของไทยอยู่ที่ราคา 975 ดอลลาร์/ตัน ข้าวหอม Phka Malis Rumduol 5% ของกัมพูชาส่งออกที่ 740 ดอลลาร์/ตัน ส่วนราคาขายส่งข้าวสารในประเทศ พบว่า ข้าวขาว 5% ราคาอยู่ที่ 1.25 หมื่นบาท/ตัน ข้าวสารหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ฤดูกาลผลิต 2560/2561 อยู่ที่ 3-3.15 หมื่นบาท/ตัน โดยราคาข้าวเปลือก 5% ความชื้น 15% จ.พระนครศรีอยุธยา ราคาอยู่ที่ 8,000 บาท/ตัน และราคาข้าวเปลือกหอมมะลิความชื้น 15% อยู่ที่ 1.53-1.6 หมื่นบาท/ตัน โดยปี 2561 กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าส่งออกข้าวไทยไว้ที่ 9.5 ล้านตัน มูลค่า 4,700 ล้าน ดอลลาร์

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

สิงคโปร์

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์ ว่า ชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพกันมากขึ้น และสนใจบริโภคอาหารที่ไม่มีน้ำตาล ประกอบกับรัฐบาลสิงคโปร์ได้มีนโยบายในการต่อสู้กับโรคเบาหวาน ส่งผลให้ชาวสิงคโปร์หันมาบริโภคข้าวกล้องมากขึ้น เพราะไม่ต้องการเป็นโรคเบาหวาน และในร้านอาหารมีทางเลือกระหว่างข้าวขาวกับข้าวกล้องให้กับผู้บริโภค

ขณะเดียวกันร้านอาหารในสิงคโปร์มีการใช้เมนูข้าวกล้อง และใช้ข้าวกล้องเสิร์ฟให้กับลูกค้า รวมถึงใน ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำมีข้าวกล้องและสินค้าเพื่อสุขภาพวางจำหน่ายมากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกข้าวของไทยที่จะ ผลักดันและเพิ่มการส่งออกข้าวกล้องเข้าสู่ตลาดสิงคโปร์

สำหรับการทำตลาดข้าวกล้องในสิงคโปร์ อยากแนะนำให้ผู้ส่งออกติดตามคู่แข่งสำคัญอย่างประเทศเวียดนามและกัมพูชา ได้มีการผลิตข้าวกล้องมาจำหน่ายในสิงคโปร์เช่นกัน รวมถึงมีผู้ประกอบการด้านอาหารนำมาใช้ เนื่องจากราคาถูกกว่าข้าวกล้องของไทย ซึ่งผู้ส่งออกต้องแสดงให้ผู้นำเข้าและร้านอาหารเห็นว่าข้าวไทยมีคุณภาพดีกว่า เพื่อให้ข้าวกล้องไทยเป็นที่ต้องการของตลาด และควรเจรจากับผู้นำเข้าข้าวของสิงคโปร์ที่เป็นลูกค้าของผู้ส่งออกไทยในการขอใช้ตราสัญลักษณ์ Healthier Choice ของรัฐบาลสิงคโปร์ เพราะผู้บริโภคสิงคโปร์จะพิจารณาตรานี้เป็นคู่มือในการซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพ

อีกทั้งต้องมีการติดตามการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของศูนย์วิจัย "Temasek Life Sciences Laboratory" ที่ได้พัฒนาข้าวกล้องสายพันธุ์หอมมะลิเป็นพันธุ์แรกของสิงคโปร์ ชื่อว่า "Temasek Rice" โดยใช้เวลาในการพัฒนากว่า 8 ปี

มีคุณสมบัติทั้งความทนทานต่อความแล้ง น้ำท่วม หรือศัตรูพืช และให้ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยไร่ละ 1 ตัน ซึ่งมากกว่าข้าวทั่วไป 4 เท่า โดยอาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าข้าวกล้องของไทยในอนาคต

อย่างไรก็ตาม อยากแนะนำให้ผู้ส่งออกของประเทศไทยทำการประกันความเสี่ยงค่าเงิน เพื่อลดผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า และจะทำให้ข้าวไทยแข่งขันได้ดีขึ้น รวมถึงจะช่วยลดความผันผวนด้านราคาส่งออกข้าว ส่วนเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้น กรมฯ ได้มีการติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการส่งออกข้าว หรือไม่ เพราะในอุตสาหกรรมข้าวมีแรงงานภาคเกษตร แรงงานขนย้ายข้าวเป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้ส่งออกน่าจะ บริหารจัดการต้นทุนได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการส่งออกข้าวของไทยเรียกได้ว่าตลาดข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวกล้องยังมีโอกาสและมีอนาคตเสมอ หากผู้ประกอบการพร้อมปรับตัวก็จะ สามารถหาตลาดใหม่ได้อย่างแน่นอน

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ฟิลิปปินส์

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ (สคต.) ที่รับผิดชอบพื้นที่ ประเทศฟิลิปปินส์ได้คาดการณ์ตลาดข้าวฟิลิปปินส์ โดยพบว่าในปี 2561 ตลาดข้าวฟิลิปปินส์ยังเป็นโอกาสของผู้ส่งออก ข้าวไทยที่จะส่งออกข้าวไปฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น เพราะแม้ผลผลิตข้าวของประเทศฟิลิปปินส์ปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่

ความต้องการบริโภคก็เพิ่มสูงเช่นเดียวกัน อีกทั้งฟิลิปปินส์ที่ตั้งอยู่ในเขตพายุไต้ฝุ่นอาจได้รับผลกระทบทำให้ผลผลิตเสียหาย

ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ผลผลิตข้าวของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจะสามารถผลิตได้สูงถึง 12 ล้านตัน ในปี 2561 โดย กระทรวงเกษตรของสหรัฐ (ยูเอสดีเอ) ได้คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวของฟิลิปปินส์จะสูงขึ้นร้อยละ 2.69 เทียบจากผลผลิตในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 11.69 พันล้านตัน

ยูเอสดีเอได้ประมาณการผลผลิตข้าวของฟิลิปปินส์ ปี 2560/2561 อยู่ที่ 12 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8 แสนตัน หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากเฉลี่ยทั้งปี 2559 ซึ่งเป็นผลจากการจำกัดปริมาณนำเข้าข้าวส่งผลต่อแรงจูงใจของเกษตรกรให้ยังคงปลูกข้าวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยูเอสดีเอ ระบุว่า การใช้พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยจะช่วยเพิ่มผลผลิต ข้าวสารในปีนี้ ประกอบกับพายุที่จะเข้ามาสร้างความเสียหายน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวในปี 2561 มีถึง 4.8 ล้านเฮกเตอร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.69

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวจาก 1.7 ล้านตัน เป็น 1.3 ล้านตัน แต่ตัวเลขการนำเข้า ข้าวยังคงสูงกว่าการนำเข้าในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.18 ที่มีการนำเข้าข้าว 1.1 ล้านตัน เพราะคาดว่าสต็อกข้าว เริ่มต้นของฟิลิปปินส์ในปี 2561 อยู่ที่ 1.99 ล้านตัน แต่มีความต้องการข้าวทั้งหมดอยู่ที่ 12.9 ล้านตัน หรืออาจจะมีความต้องการสูงถึง 15.27 ล้านตัน

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

อินโดนีเซีย

ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของ BULOG รายงานว่า อินโดนิเชียสามารถนำเข้าข้าวจากต่างประเทศได้เพียง 346,000 ตัน หรือร้อยละ 69.2 ของข้าว 500,000 ตัน ที่ตั้งเป้าว่าจะนำเข้าในต้นปีนี้ เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านเวลาในการส่งมอบ โดยการประมูลข้าวครั้งที่ผ่านมามีผู้ชนะการประมูลทั้งสิ้น 8 บริษัท ได้แก่ Vinafood I และ II จากเวียดนาม พงศ์ลาภ, Capital Cereal และAsia Golden จากไทย Amir Chand จากอินเดีย Al Buhks และSind Agro จากปากีสถาน โดยบริษัท Vinafood II และบริษัทที่ชนะการประมูลจากไทยจะมาเซ็นสัญญาก่อน ทั้งนี้ BULOG ได้กำหนดเส้นตายวันส่งมอบข้าวภายใน 28 กุมภาพันธ์ 2561 โดยที่ข้าวจากประเทศเวียดนาม และไทย จะใช้เวลาในการขนส่ง 5 วัน ส่วนข้าวจากประเทศอินเดีย และปากีสถาน จะใช้เวลา 14-16 วัน จากข้อมูลของธนาคารกลางอินโดนิเชีย พบว่าราคาข้าวสารที่ขายในกรุงจากาตาร์สูงขึ้นถึงร้อยละ 17.7 จากช่วงกันยายนของปีที่ผ่านมา

ที่มา : JAKARTA POST

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 19 – 25 มกราคม 61 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ