1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2560/61
(1) ด้านการผลิต มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 และวันที่ 12ธันวาคม 2560 เห็นชอบโครงการฯ ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี 2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) 3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์4) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 5) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 25616) โครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 7) โครงการขยายการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561และ 8) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ ฤดูนาปรัง ปี 2561
(2) ด้านการตลาด มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 และเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 เห็นชอบโครงการฯ ได้แก่ 1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร 2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี และ 4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
(3) ด้านการเงิน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,103 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,952 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.08
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,674 ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,660 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 32,850 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 31,970 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.75
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,510 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,810 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.34
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,135 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,503 บาท/ตัน)
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 443 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,857 บาท/ตัน)
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 424 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,263 บาท/ตัน)
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 446 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,951 บาท/ตัน)
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.2800 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยว่า ในปีนี้นอกจากปัจจัยลบจากเงินบาทที่แข็งค่าซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงมากที่สุดต่อการส่งออกข้าวของไทยแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่น่ากังวล และน่าจับตา ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความเข้มงวดเกี่ยวกับสารตกค้างในข้าว ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐฯ โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่นที่มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับสารตกค้างคือ สารฟอสอีทิล ซึ่งเป็นสารตกค้างในข้างจากการใช้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช จากเดิมกำหนดตรวจพบได้ไม่เกิน 0.5 mgต่อกิโลกรัม เป็น 0.01 mgต่อกิโลกรัม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคมนี้
ทั้งนี้ สารดังกล่าวมีการตรวจพบในข้าวไทยช่วงปี 2558-2559 สูงกว่า 0.01 mgต่อกิโลกรัมในข้าวที่มีการนำเข้าปกติ จากที่ญี่ปุ่นมีการนำเข้าข้าวไทยภายใต้โควตาการนำเข้าข้าวขององค์การการค้าโลก (WTO) ระหว่างปี 2558-2560 เฉลี่ย 3 แสนตัน หรือมีมูลค่า 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ตลาดญี่ปุ่นอาจถูกคู่แข่งชิงตลาดไปหากไทยไม่มีมาตรการคุมเข้มการใช้สารฟอสอีทิลอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังมีเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ รวมถึงประเทศผู้นำเข้าต่างมีนโยบายพึ่งผลผลิตในประเทศ และมีมาตรการอุดหนุนภาคเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตอาจจะทำให้การนำเข้าลดลง เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไนจีเรีย เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ณ เวลานี้ไทยขาดแคลนข้าวที่กำลังเป็นที่นิยมของประเทศผู้ซื้อ เช่น ข้าวขาวพื้นนิ่ม (นิ่มกว่าข้าวหอมมะลิ) ที่ประเทศคู่แข่งมีการพัฒนาไปแล้ว โดยเฉพาะเวียดนามที่มีการส่งออกข้าวพื้นนิ่มเพิ่มมากขึ้น เพราะตลาดตลาดมีความต้องการซื้อสูงและมีราคาสูง ดังนั้น ไทยเองต้องมีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อแข่งขัน
นอกจากนี้ตลาดข้าวเก่าในปีนี้น่าจะหายไปมาก โดยเฉพาะตลาดแอฟริกา ซึ่งไทยอาจจะเสียตลาดนี้ให้กับจีน เพราะจีนมีสต็อกข้าวเก่าอยู่จำนวนมาก ดังนั้น ผู้ส่งออกต้องหาตลาดอื่นทดแทนตลาดที่คาดว่าจะถูกแย่งส่วนแบ่งไป
(ปี 2560 ไทยมีการส่งออกข้าว 11.6 ล้านตัน ปีนี้ตั้งเป้าที่ 9.5 ล้านตัน)
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามในปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 400,000 ตัน นับจากปี 2560 โดยจะมีปริมาณรวม 6 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการข้าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศจีนยังคงเป็นตลาดข้าวที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม
สมาคมอาหารเวียดนาม (The Vietnam Food Association : VFA) รายงานว่า ช่วงเดือนมกราคมมีหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการนำเข้าข้าวจากเวียดนามเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการจำหน่ายข้าวในปีนี้ให้เพิ่มขึ้น
ทังนี้ VFA ยังกล่าวว่าในปี 2561 อินโดนีเซียจะกลับมานำเข้าข้าวจากเวียดนามและไทยอีกครั้ง เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวสำรอง เนื่องจากราคาข้าวของอินโดนีเซียมีการปรับตัวสูงขึ้นเกือบเท่าตัว เช่นเดียวกับทางคณะกรรมการอาหารแห่งชาติฟิลิปปินส์ที่ได้มีการอนุมัติการนำเข้าข้าวรวม 250,000 ตัน เพื่อชดเชยสินค้าคงคลังที่ลดลง เนื่องจากประสบปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศจากปี 2560 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวช่วยส่งเสริมตลาดส่งออกข้าวของเวียดนาม ทำให้ราคาการส่งออกข้าวหักเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จาก 390 เหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็น 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน
นอกจากนี้ ราคาข้าวภายในประเทศยังมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาเฉลี่ยในช่วงสิ้นเดือนมกราคมอยู่ระหว่าง 267–293 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 13-15 เหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดือนธันวาคม 2560
สมาคมอาหารเวียดนามเผยว่า ตลอดปี 2560 ประเทศเวียดนามส่งออกข้าวจำนวนรวม 5.7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2,540 ล้านเหรียญสหรัฐ
กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) คาดการณ์การผลิตข้าวของโลกประจำปี 2561 ไว้เมื่อปลายปี 2560 ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การค้าข้าวขยายตัวเพิ่มขึ้น มาจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นของประเทศเวียดนาม ปากีสถาน และเมียนมาร์ ซึ่งเป็น 3 ใน 6 ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก
อีกทั้งยังระบุว่า ผลผลิตข้าวทั่วโลกของปี 2560 ลดลงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี 2559 ซึ่งเป็นผลมาจากเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ ฝนตกหนัก น้ำท่วม และภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ อาจเป็นสัญญาณที่ดีต่อการนำเข้าข้าวในตลาดดั้งเดิมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงต้นปี 2561
ในปีนี้ ประเทศบังคลาเทศและศรีลังกาต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากข้าวในประเทศได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน ทั้งยังได้รับการสนับสนุนกำลังซื้อจากแอฟริกาและตะวันออกกลาง ยิ่งทำให้ความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศจีนยังคงเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวจากภูมิภาคใกล้เคียง ดังนั้น เวียดนามจึงเห็นช่องทางการเพิ่มรายได้จากการส่งออกข้าวไปยังตลาดรายใหญ่อีกหลายแห่ง
กรมผลผลิตการเกษตร (Department of Crop Production : DCP) สังกัดกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม รายงานว่า ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2561 กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยม ปากแม่น้ำโขงเก็บเกี่ยวข้าวในพื้นที่รวม 860,000 เฮกตาร์ ซึ่งมีผลผลิตเฉลี่ย 5.3 ตันต่อเฮกตาร์ อย่างไรก็ตาม การผลิตข้าวยังคงเป็นปัญหาระดับประเทศอยู่เช่นเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการขาดความรู้เฉพาะด้านของเกษตรกร
สำนักข่าวเวียดนามเผยว่า จากการประชุมทางการเกษตรในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ช่วงปลายปี 2560 นาย Vo Tong Xuan อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกิ่นเทอและผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวได้เน้นย้ำถึงการแข่งขันในตลาดข้าวโลก ทั้งยังแนะว่า หากต้องการให้การส่งออกบรรลุเป้าหมาย ควรหาวิธีทำให้การส่งออกข้าวเป็นที่โดดเด่น
สำหรับคุณภาพข้าวที่ส่งออกนั้น นาย Xuan เชื่อว่า พ่อค้าส่วนใหญ่มักผสมข้าวจากหลายแหล่งที่มา แล้วนำมารวมกันให้เป็นชุดเดียว เนื่องจากรับซื้อจากเกษตรกรหลายกลุ่มซึ่งแทบจะไม่มีทางติดตามแหล่งที่มาของข้าวแต่ละชุดได้ครบถ้วน
ในกรณีที่ไม่มีแหล่งกำเนิดที่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพข้าว และการที่เวียดนามไม่มีแบรนด์ข้าวซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ จึงเสนอให้มีการทำสัญญาระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและโรงงานแปรรูป เพื่อการผลิตอย่างยั่งยืนและจำหน่ายผ่านสหกรณ์การเกษตรแทนพ่อค้าคนกลาง
นอกจากนี้ยังคงมีข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่ตลาดข้าวของรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อีกทั้งการส่งออกข้าวที่มีคุณภาพต่ำและข้าวหอมที่ไม่มีชื่อตราสินค้าได้กลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นสำหรับเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาตลาดเฉพาะกลุ่มเพื่อจะขายข้าวหลายพันตัน
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 2 - 8 กุมภาพันธ์ 61 --