กนป. ระบุ ปี 2561 น้ำมันปาล์มดิบรวม 3.15 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ภายในประเทศอยู่ที่ 2.34 ล้านตัน สูงกว่าระดับสต็อกที่เหมาะสมอยู่ 0.56 ล้านตัน ย้ำ ต้องผลักดันส่งออกอย่างต่อเนื่อง แก้ปัญหาราคาให้มีเสถียรภาพเป็นธรรมทั้งระบบ ด้าน สศก. เตรียมสรุปรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กนป.ชุดใหม่ ที่หมดวาระลงภายใน 26 มีนาคมนี้
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ถึงผลการประชุม กนป. ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 ณ ห้องประชุมตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน
ที่ประชุมได้มีมติรับทราบสถานการณ์การผลิตและการตลาดปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม โดยในปี 2561 มีผลผลิตปาล์มน้ำมัน 15.18 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 14.24 ล้านตัน ในปี 2560 หรือร้อยละ 7 เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมารายได้จากการปลูกปาล์มสูงกว่าพืชทางเลือกอื่น ส่งผลให้เกษตรกรหันมาปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตต่อไร่ เฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 2.67ล้านตัน และเมื่อรวมกับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในปี 2560 จำนวน 0.48 ล้านตัน ส่งผลให้ปี 2561 มีน้ำมันปาล์มดิบรวมทั้งสิ้น 3.15 ล้านตัน และจากการคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงาน พบว่า ความต้องการใช้ภายในประเทศอยู่ 2.34 ล้านตัน ส่งผลทำให้ ณ สิ้นปี 2561 จะมีสต็อกส่วนเกินความต้องการใช้ในประเทศ 0.82 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าระดับสต็อกที่กำหนดไว้ 0.56 ล้านตัน (กำหนดระดับที่เหมาะสม 0.25 ล้านตัน) ดังนั้น เพื่อให้ปริมาณสต็อกอยู่ในระดับที่เหมาะสม และระบบราคามีเสถียรภาพ จำเป็นต้องผลักดันส่งออกอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณเดือนละ 46,600 ตัน ขณะที่ราคาปาล์มน้ำมัน (ณ 12 มีนาคม 2561) พบว่า ราคาผลปาล์มน้ำมัน อัตราน้ำมัน 18% เฉลี่ย กก.ละ 4.00 บาท และราคาน้ำมันปาล์มดิบ เฉลี่ย กก.ละ 21.25 บาท
สำหรับการแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ตามมติ กนป. เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 โดยให้ลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ ผลการดำเนินงาน พบว่า ณ เดือนธันวาคม 2560 สามารถส่งออกได้ 88,304 ตัน ส่วนเดือนมกราคม 2561 ส่งออกได้ 86,432 ตัน และจากการรายงานจากผู้ประกอบการส่งออก คาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2561 จะมีการส่งออกได้ 66,000 ตัน และ 39,000 ตัน ตามลำดับ ในขณะที่ใช้น้ำมันปาล์มดิบไปผลิตเป็นไบโอดีเซลเพื่อสต็อกนั้น จากการประสานงานกับผู้ค้าน้ำมัน ตามมาตรา 7 พบว่า สามารถจัดเก็บน้ำมันปาล์มดิบได้สูงสุด 60,256 ตัน ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 สามารถจัดเก็บได้รวมทั้งสิ้น 54,169 ตัน หรือประมาณร้อยละ 90 ของความสามารถที่จัดเก็บได้ ส่วนที่ยังไม่ครบนั้น อยู่ระหว่างดำเนินการจัดเก็บต่อไป การช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ไขและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในลักษณะบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) และมอบหมายให้คณะกรรมการบูรณาการกองอำนวยการความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กบข.กอ.รมน.) เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการดำเนินการ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันหารือแนวทางในการบริหารจัดการสต็อกน้ำมันปาล์มดิบเพื่อให้ปริมาณการผลิตและการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศเกิดดุลยภาพและราคามีเสถียรภาพ รวมถึงการกำหนดโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมทั้งระบบ พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการหาแนวทางความร่วมมือในการรณรงค์การใช้น้ำมันปาล์มภายในประเทศ และส่งเสริมการผลิตปาล์มคุณภาพตามมาตรฐานสากล (RSPO) ตลอดจนการรณรงค์ให้เกษตรกรตัดปาล์มสุกเพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ยกระดับราคาปาล์มน้ำมันในประเทศให้สูงขึ้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าการจัดทำร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดวัตถุดิบและคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม พ.ศ. .... ซึ่งอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน พ.ศ. .... ของ สศก. ซึ่งได้สรุปผลการแสดงความคิดเห็นทั้งหมดส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว พร้อมนี้ ที่ประชุมได้ทำการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติชุดใหม่ทดแทนชุดเดิมที่หมดวาระลง จำนวน 10 ท่าน โดยต้องมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้ประกอบการสวนปาล์มน้ำมัน (เกษตรกร) ไม่น้อยกว่า 3 ท่าน และคณะกรรมการโดยตำแหน่งจะส่งรายชื่อที่คัดเลือกมายัง สศก. รวบรวมภายใน 26 มีนาคม 2561 เพื่อสรุปรายชื่อ 10 อันดับ เสนอประธาน กนป. เสนอนายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งแต่งตั้งต่อไป
*********************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร