1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
(1) ด้านการผลิต มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 และวันที่ 12ธันวาคม 2560 เห็นชอบโครงการฯ ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี 2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) 3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์4) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 5) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 25616) โครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 7) โครงการขยายการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561และ 8) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ ฤดูนาปรัง ปี 2561
(2) ด้านการตลาด มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 และเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 เห็นชอบโครงการฯ ได้แก่ 1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร 2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี และ 4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
(3) ด้านการเงิน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบ โครงการประกันภัยข้าวนาปีปีการผลิต 2560
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาด และผู้ประกอบการมีความต้องการข้าวเพื่อส่งมอบตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้า
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,109 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,168 บาท บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.39
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,679 ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,615 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.84
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 33,850 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,970 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,850 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.01
100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,144 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,409 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 4.00 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 437 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,526 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 430 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,307 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.62 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 219 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 424 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,124 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 419 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,967 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.19 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 157 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 433 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,402 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 427 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,214 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.40 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 188 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.9520
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนตัวลงเนื่องจากผลผลิตข้าวฤดูการผลิตฤดูหนาว (the winter spring crop) กำลังออกสู่ตลาดจำนวนมาก โดยราคาเอฟโอบีข้าวขาว 5% อยู่ที่ประมาณ 405-415 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ลดลงจากระดับ 410-415 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่วงการค้าคาดว่าราคาข้าวยังคงมีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากการที่คาดว่าอุปทานข้าวในตลาดจะเพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่กำลังเก็บเกี่ยวอยู่จะออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะเดียวกันวงการค้ากำลังจับตาการทำข้อตกลงซื้อข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลระหว่างเวียดนาม กับอินโดนีเซียและมาเลเซีย
สมาคมอาหารเวียดนาม (the Vietnam Food Association) รายงานว่า การส่งออกข้าวในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีประมาณ 443,000 ตัน มูลค่า 214.042 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.76 และร้อยละ 48.91 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่ผ่านมาที่ส่งออก 341,398 ตัน มูลค่า 143.737 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กุมภาพันธ์) เวียดนามส่งออกข้าวไปแล้วประมาณ 811,000 ตัน มูลค่า 389.428 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.39 และร้อยละ 36.3 เมื่อเทียบกับในช่วง 2 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา ที่ส่งออก 673,624 ตัน มูลค่า 285.704 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
กระทรวงพาณิชย์ (Ministry of Commerce) รายงานว่าในช่วง 11 เดือนแรก (เมษายน-กุมภาพันธ์) ของ ปีงบประมาณ 2560/61 (เมษายน-มีนาคม) ณ วันที่ 9 มีนาคม เมียนมาร์ส่งออกข้าวไปแล้วประมาณ 3.38 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแบ่งเป็นการส่งออกข้าวสารประมาณ 2.8 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 905 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปยัง 55 ประเทศ และปลายข้าวประมาณ 0.58 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 151 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปยัง 33 ประเทศ
ทั้งนี้หากแบ่งตามมูลค่าส่งออก จะเป็นการส่งออกตามแนวชายแดนประมาณ 578 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และส่งออกทางเรือประมาณ 477 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตลาดหลักได้แก่ ประเทศในแถบแอฟริกาคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด และประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญประกอบด้วย China, Bangladesh, Ivory Coast, Belgium, Ghana, Madagascar, Sri Lanka, Afghanistan, Senegal และ Poland
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
รัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดสรรโควตานำเข้าข้าวให้แก่ปากีสถานซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงทางการค้าของสองประเทศ (the Preferential Trade Agreement; PTA) โดยอินโดนีเซียได้อนุมัติการนำเข้าข้าวจากผู้ส่งออกข้าวของปากีสถาน จำนวน 8 ราย รายละ 6,250 ตัน รวมเป็น 50,000 ตัน มูลค่าประมาณ 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา หน่วยงาน BULOG ของอินโดนีเซีย ได้จัดประมูลซื้อข้าวจากปากีสถาน จำนวน 50,000 ตัน โดยตกลงซื้อข้าวขาว 5% จำนวน 12,500 ตัน ที่ราคา 460 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (c&f) และข้าวขาว 15% จำนวน 37,500 ตัน ที่ราคา 450 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (c&f) โดยซื้อจากบริษัทเอกชนของปากีสถาน จำนวน 8 ราย ในปริมาณที่เท่าๆ กัน มีกำหนดส่งมอบภายในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหน่วยงาน BULOG ได้ขยายระยะเวลาของแผนการนำเข้าข้าวจำนวน 500,000 ตัน จากเดิมคือเดือนกุมภาพันธ์ออกไปจนถึงเดือนมิถุนายนนี้ และคาดว่าจะมีการส่งมอบข้าวที่ได้มีการประมูลซื้อจากเวียดนาม ไทย และอินเดีย รวมประมาณ 420,000 ตัน ภายในเดือนมีนาคมนี้ขณะที่สต็อกข้าวของ BULOG ในขณะ นี้มีประมาณ 600,000 ตัน
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศได้บรรลุข้อตกลงทางการค้าซึ่งเริ่มเจรจามาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อขยายมูลค่าทางการค้าระหว่างสองประเทศ ซึ่งภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ปากีสถานจะสามารถส่งสินค้าเข้าไปยังตลาดอินโดนีเซียได้มากขึ้น รวมทั้งการให้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับการนำเข้าจากปากีสถานด้วย
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 23 - 29 มี.ค. 61 --