ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 11, 2018 14:40 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 13 โครงการ ดังนี้

(1) ด้านการผลิต มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 และวันที่ 12ธันวาคม 2560 เห็นชอบโครงการฯ ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี 2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) 3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์4) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 5) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 25616) โครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 7) โครงการขยายการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561และ 8) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ ฤดูนาปรัง ปี 2561

(2) ด้านการตลาด มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 และเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 เห็นชอบโครงการฯ ได้แก่ 1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร 2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี และ 4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

(3) ด้านการเงิน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ปีการผลิต 2560

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด จากการที่ผู้ประกอบการส่งออกมีความต้องการข้าวเพื่อส่งมอบตามคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาเพิ่มขึ้นจากประเทศคู่ค้า รวมทั้งมีการส่งมอบข้าวภายใต้สัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับรัฐบาลจีน

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,197 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,109 บาท บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.58

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,724 ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,679 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.58

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 33,850 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,370 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,970 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.34

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,143 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,372 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,144 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,409 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.09 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 37 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 446 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,802 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 437 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,526 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.06 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 276 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 431 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,338 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 424 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,124 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.65 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 214 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 443 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,709 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 433 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,402 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.31 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 307 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.9464

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้น เพราะเกษตรกรคาดว่าราคาข้าวมีแนวโน้มขยับสูงขึ้นอีก เนื่องจากมีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศเข้ามา ประกอบกับมีข่าวเกี่ยวกับการทำสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ เช่น ฟิลิปปินส์ เกษตรกรจึงชะลอการขายข้าวเพื่อรอราคาข้าวปรับขึ้น ส่งผลให้อุปทานข้าวในตลาดมีจำกัด โดยราคาเอฟโอบีข้าวขาว 5% ประมาณ 410-428 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เพิ่มขึ้นจาก 405-415 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทางด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติ (General Statistics Office; GSO) รายงานว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 1.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในเดือน มีนาคมคาดว่าจะส่งออกได้ประมาณ 520,000 ตัน มูลค่าประมาณ 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือน กุมภาพันธ์ที่ส่งออกประมาณ 340,000 ตัน มูลค่า 169 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ราคาส่งออกข้าวของอินเดียปรับตัวสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดจำกัดในขณะที่ความต้องการข้าวสูงขึ้น โดยราคาส่งออกข้าวนึ่ง 5% ของอินเดียปรับตัวสูงขึ้น 6 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 425-429 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน สาเหตุจากปริมาณผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับความต้องการจากตลาดแอฟริกาและเอเชียมีเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า

สำหรับบังคลาเทศ จากสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2560 ผลผลิตข้าวได้รับความเสียหาย จึงมีการนำเข้าข้าวในช่วงเดือนกรกฎาคม 2560 – มีนาคม 2561 ไม่น้อยกว่า 3.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นการนำเข้าที่มีปริมาณสูงที่สุดจากที่ผ่านมา ทั้งนี้ กระทรวงอาหารของบังคลาเทศได้เผยว่า อาจมีการนำเข้าข้าวเพิ่มในเวลาอันใกล้ เนื่องจากราคาข้าวในประเทศสูงขึ้น

ทั้งนี้ ราคาข้าวในประเทศเวียดนามปรับสูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามสูงขึ้นจาก 405-415 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เป็น 410-428 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากสัปดาห์ก่อน โดยผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามให้เหตุผลว่า เกษตรกรและพ่อค้าข้าวในประเทศยังชะลอการขายข้าว เพราะรอฟังข่าวการนำเข้าข้าวแบบ G to G จากตลาดต่างประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 1.35 ล้านตัน ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการส่งออกข้าวของเวียดนามช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม สูงขึ้นร้อยละ 23.80 คิดเป็นมูลค่า 668 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณการส่งออกของเดือนมีนาคม รวม 520,000 ตัน มูลค่า 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 340,000 ตันมูลค่าการส่งออก 169 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : รอยเตอร์, บังคาลอร์

กัมพูชา

เอฟเอโอ คาดการณ์ว่า การลักลอบนำข้าวจากกัมพูชาไปขายในต่างแดนผ่านช่องทางไม่ปกติในปีนี้สูงถึงร้อยละ 44 ซึ่งส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมค้าข้าวโดยรวม ทั้งยังบั่นทอนความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศ

องค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) คาดการณ์การส่งออกข้าวของกัมพูชา ในปี 2561 จะมีการลักลอบผ่านช่องทางไม่ปกติถึงร้อยละ 44 เป็นการตอกย้ำปัญหาการลักลอบการนำข้าวออกไปขายในต่างแดน ที่ส่งผลโดยตรงต่อความพยายามทำกำไรในอุตสาหกรรมค้าข้าว และบั่นทอนการเติบโตของอุตสาหกรรมข้าวโดยรวม

รายงานคาดการณ์ของเอฟเอโอจัดทำโดย เซอร์ลีย์ มุสตาฟา นักเศรษฐศาสตร์ประจำเอฟเอโอ คาดการณ์ว่า ปริมาณข้าวส่งออกของกัมพูชาในปี 2561 อยู่ที่ 1.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปีที่แล้ว แต่มีข้าวเพียง 7.5 แสนตันเท่านั้นที่ถูกส่งออกไปขายในช่องทางปกติ ส่วนข้าวที่เหลืออีกประมาณ 6 แสนตัน ถูกส่งข้ามพรมแดนผ่านช่องทางพิเศษ และไม่มีการบันทึกเพื่อไปขายในประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย และเวียดนาม

“การลักลอบค้าข้าวทำลายอุตสาหกรรมค้าข้าวของกัมพูชาโดยตรง ขณะที่กัมพูชาส่งออกข้าวไปขายในต่างประเทศปริมาณ 6.357 แสนตัน เมื่อปีที่แล้ว” มุสตาฟา ระบุพร้อมประเมินว่า ปริมาณข้าว 6.5 แสนตัน ถูกขายโดยไม่มีการบันทึกข้อมูล

ด้านนายฮึน วันฮัน ผู้อำนวยการกรมเกษตรกรรมซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรกัมพูชา กล่าวว่า การดำเนินมาตรการปราบปรามการค้าข้าวอย่างผิดกฎหมายจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เนื่องจากในฤดูเก็บเกี่ยวโรงสีไม่สามารถรับซื้อข้าวจากชาวนาทั้งประเทศได้หมด ชาวนาจึงต้องขายข้าวให้แก่นายหน้าที่มาติดต่อขอซื้อตามแนวชายแดน หากชาวนาได้เงินกู้เพื่อนำมาสร้างยุ้งฉางสำหรับเก็บข้าวจะช่วยบรรเทาปัญหานี้ไปได้มาก

อย่างไรก็ตามรัฐบาลกัมพูชาดำเนินการหลายด้านเพื่อปรับปรุงระบบจัดเก็บข้าว ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึง การปล่อยกู้ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้นำไปใช้สร้างไซโลเก็บข้าว 3 แห่ง ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ แต่ไซโลทั้ง 3 แห่ง กลับเก็บข้าวได้เพียง 3 แสนตันเท่านั้น ต่ำกว่าเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้ว่าจะส่งออกข้าวไปขายในต่างประเทศ 1 ล้านตัน

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 30 มี.ค. - 5 เม.ย. 61 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ