1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2560/61
มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 13 โครงการ ดังนี้
- โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี
- โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่)
- โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์
- โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561
- โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561
- โครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561
- โครงการขยายการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561และ
- โครงการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ ฤดูนาปรัง ปี 2561
- โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร
- โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
- โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี และ
- โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
3) ด้านการเงิน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบ โครงการประกันภัยข้าวนาปี
ปีการผลิต 2560
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,541 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,421 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.78
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,003 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,836 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.13
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,850 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 34,290 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.63
ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,191 ดอลลาร์สหรัฐฯ (37,765 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,161 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,740 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.58 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,025 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 449 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,237 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,240 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.22 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 3 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 435 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,793 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 27 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 434 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,762 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 28 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.7088
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
นายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังชี้แจงเงื่อนไขการประมูลข้าวสารสต็อกรัฐบาลเป็นการทั่วไป ครั้งที่ 1/2561 ว่า จะเปิดประมูลขายข้าวกลุ่ม 1 (ข้าวเพื่อการบริโภค) 43,700 ตัน ลอตสุดท้ายของกลุ่มนี้ เป็นข้าวขาว 5% ปริมาณ 24,000 ตัน ข้าวหอมมะลิ 100% ปริมาณ 7,000 ตัน ข้าวหอมจังหวัด 6,000 ตัน เป็นต้น ซึ่งเก็บอยู่ใน 20 คลังสินค้า 15 จังหวัด ในความรับผิดชอบขององค์การคลังสินค้า (อคส.) โดยจะเปิดให้ผู้สนใจดูสภาพข้าววันที่ 8-15 พฤษภาคม 2561 ก่อนเปิดให้ยื่นซองคุณสมบัติเพื่อเสนอซื้อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ซึ่งกำหนดให้ซื้อแบบเหมาคลัง
สำหรับราคาข้าวปัจจุบัน พบว่า ข้าวเปลือก 5% ตันละ 8,000-8,200 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 15,500-16,000 บาท ส่วนราคาส่งออกข้าวขาว 5% ตันละ 452 ดอลลาร์สหรัฐฯ ข้าวหอมมะลิ 100% ตันละ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นอีกจากการที่ไทยชนะการประมูลนำเข้าข้าวของรัฐบาลฟิลิปปินส์ 120,000 ตัน ส่วนข้าวที่เหลือในสต็อกรัฐบาลกลุ่ม 2 หรือข้าวเข้าอุตสาหกรรมที่มิใช่การบริโภคของคน ปริมาณ 1.48 ล้านตัน และข้าวกลุ่ม 3 หรือข้าวเข้าอุตสาหกรรมที่มิใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ปริมาณ 540,000 ตัน จะนำมาเปิดประมูลเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2557-5 เมษายน 2561 กรมการค้าต่างประเทศระบายข้าวสารสต็อกแล้ว 14.84 ล้านตัน มูลค่า 135,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การระบายสต็อกข้าวรัฐบาล 14.84 ล้านตัน มูลค่า 135,000 ล้านบาท พบว่า ขายได้เฉลี่ยตันละ 9,097 บาท ขณะที่ราคารับจำนำข้าวเปลือกปี 2554/55 ปี 2555/56 และปี 2556/57 อยู่ที่ตันละ 15,000 บาท สำหรับข้าวขาว เมื่อคิดเป็นข้าวสารจะมีต้นทุนตันละประมาณ 24,000 บาท หรือขาดทุนตันละ 15,000 บาท รวมขายข้าว 14.84 ล้านตัน ขาดทุนจากต้นทุนรับจำนำรวม 220,000 ล้านบาท ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวสูงใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี ท่ามกลางภาวะความต้องการข้าวจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อุปทานข้าวในตลาดภายในประเทศมีจำกัด โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่455-460 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เพิ่มขึ้นจาก 445-450 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เมื่อสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ วงการค้าข้าวกำลังรอการประมูลซื้อข้าวแบบ G to P ของรัฐบาลฟิลิปปินส์ จำนวน 250,000 ตัน ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ซึ่งคาดว่าบริษัทเวียดนามจะประมูลได้จำนวนมาก
กรมศุลกากร (the General Department of Vietnam Customs) รายงานว่า ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวจำนวน 721,379 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาร้อยละ 9 และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 35 ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าวแล้วประมาณ 2.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 24 ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
จีนเริ่มออกกฎเข้มงวดข้าวที่นำเข้าจากญี่ปุ่น หลังเกิดหายนะภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เมื่อปี 2554 แต่เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ทั้ง 2 ประเทศ ทำข้อตกลงอำนวยความสะดวกให้ญี่ปุ่นส่งข้าวได้มากขึ้น ทำให้คาดว่าจีนจะกลายเป็นตลาดข้าวญี่ปุ่นรายใหญ่ แม้ขณะนี้ยังคิดเป็นเพียงร้อยละ 3 ของการส่งออกทั้งหมด โดยมีฮ่องกงและสิงคโปร์เป็นตลาดส่งออกรายใหญ่สุดที่ญี่ปุ่นส่งข้าวมาขาย ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 60 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด
กระทรวงเกษตรญี่ปุ่นมองว่า จีนเป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมายส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง ให้ได้ปีละ 100,000 ตัน ในปี 2560 ญี่ปุ่นส่งออกข้าว 11,800 ตัน แต่ในจำนวนนี้ส่งมาจีนเพียง 298 ตันเท่านั้น ทั้งๆ ที่จีนบริโภคข้าวมากกว่าญี่ปุ่นรวม 20 เท่า
แม้ 2 มหาอำนาจเศรษฐกิจเอเชียทำข้อตกลงกันแล้ว แต่กฎระเบียบและราคาที่สูงยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับ ผู้ส่งออกญี่ปุ่น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่กล่าวว่า การส่งออกข้าวญี่ปุ่นยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่าง 2 ประเทศ
สำหรับการส่งออกนั้น ข้าวเปลือกจะต้องสีและรมควันในโรงงานที่จีนอนุมัติว่าปลอดภัย ซึ่งข้อตกลงใหม่จะเพิ่มจำนวนโรงสีและโรงรมที่ผ่านการอนุมัติ จากปัจจุบันที่มีเพียงแห่งเดียวดำเนินการโดยสมาคมสมาพันธุ์สหกรณ์การเกษตรแห่งชาติ ในจังหวัดคานากาวะ ทางใต้ของกรุงโตเกียว และต่อไปจะเปิดโรงสีเพิ่มอีก 2 แห่ง ที่เมืองอิชิคาริทางตอนเหนือของเกาะฮอกไกโด ดำเนินการโดยสมาพันธ์สหกรณ์การเกษตรโฮคูเรน และที่เมืองนิชิโนมิยาทางตะวันตกของจังหวัดเฮียวโงะ บริหารงานโดยชินไม บริษัทค้าส่งข้าวรายใหญ่สุดของประเทศ ทั้งนี้ ผู้บริหารรายหนึ่งของชินไมตอบรับข้อตกลงดังกล่าวที่ช่วยให้บริษัทตอบสนองความต้องการในจีนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ตามข้อตกลงใหม่กระทรวงเกษตรญี่ปุ่นจะจดทะเบียนโรงรมเพื่อส่งออกข้าวไปจีนเพิ่มอีก 5 แห่ง รวมทั้งในฮอกไกโดยและเฮียวโงะ ส่วนชินไมไม่ได้รับอนุญาตให้สีข้าวและรมข้าวในโรงงานของตนที่โกเบเพื่อส่งออกจากท่าเรือโกเบ
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ข้าวญี่ปุ่นราคาสูงมากในจีน เนื่องจากต้นทุนการขนส่งและกำไรของตัวแทนจำหน่าย การลดต้นทุนจึงเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับผู้ส่งออกข้าวญี่ปุ่น
ประธานนันบุ บิจิน บริษัทผลิตเหล้าสาเกในเมืองนิโนเฮ จังหวัดอิวาเตะ กล่าวว่า หายนะภัยนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เมื่อปี 2554 ทำให้จีนต้องเข้มงวดการนำเข้าข้าวจากญี่ปุ่น รวมถึงอาหารทุกอย่างจาก 10 จังหวัด เช่น ฟุกุชิมะ มิยากิ และนิงาตะ ส่งผลกระทบหนักต่ออุตสาหกรรมข้าว
เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรรายหนึ่งเผยว่า รัฐบาลโตเกียวและปักกิ่งตั้งคณะทำงานหารือขั้นตอนผ่อนคลายข้อจำกัด แต่ก็ยังหวังผลมากไม่ได้
ด้านประธานสหภาพสหกรณ์การเกษตรกลาง ยังระมัดระวังเรื่องอนาคตการส่งออกข้าวไปจีน ระบุ “เราไม่ได้หวังจะคืบหน้าอย่างรวดเร็ว แต่เราก็ยังดีใจที่ได้เดินหน้า”
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 11 – 17 พ.ค. 61 --