1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
1) ด้านการผลิต มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560และวันที่ 12ธันวาคม 2560 เห็นชอบโครงการฯ ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี 2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) 3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 4) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 5) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 6) โครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 7) โครงการขยายการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561และ 8) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ ฤดูนาปรัง ปี 2561
2) ด้านการตลาด มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 และเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 เห็นชอบโครงการฯ ได้แก่ 1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร 2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี และ 4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
3) ด้านการเงิน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,421 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,322 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.65
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,836 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,936 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.26
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,290 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 34,250 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.12
ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,950 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,670 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.21
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,161 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,740 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,158 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,331 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.26 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 409 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,240 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 456 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,306 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.32 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 66 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 435 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,766 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 440 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,804 บาท/ตัน)ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.14 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 38 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 434 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,734 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 442 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,867 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.81 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 133 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.6449
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม – เมษายน) ประเทศไทยส่งออกข้าวสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ปริมาณ 3.31 ล้านตัน มูลค่า 1,826 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำอินเดียที่ส่งออกได้ปริมาณ 3.21 ล้านตัน เวียดนาม 1.61 ล้านตัน และปากีสถาน 1.28 ล้านตัน ไทยจึงได้ปรับเป้าหมายการส่งออกข้าวปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านตัน มูลค่า 4,525 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเดิมคาดการณ์ที่ 9.00-9.50 ล้านตัน เนื่องจากมีข้าวอยู่ในคลังเป็นจำนวนมาก จึงมั่นใจว่าช่วง 8 เดือนที่เหลือ จะสามารถส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น โดยชนิดข้าวที่ส่งออกมากที่สุดคือ ข้าวขาว ร้อยละ 48.74 รองลงมาข้าวนึ่ง ร้อยละ 27.70 และข้าวหอมมะลิไทย ร้อยละ 16.19 โดยราคาส่งออกข้าวของไทยเกือบทุกชนิดในเดือนเมษายน 2561 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ราคาข้าวหอมมะลิไทยอยู่ในระดับคงที่จากเดือนมีนาคม 2561 ที่ราคาตันละ 1,150 เหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกข้าวในช่วงไตรมาที่ 2/2561 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้นำเข้าข้าวในหลายประเทศยังมีความต้องการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่อง เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ไทยส่งออกข้าวในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ให้รัฐวิสาหกิจที่ค้าขายสินค้าธัญพืชและน้ำมันพืช (COFCO) จากที่เคยทำสัญญากันก่อนหน้านี้ที่จะส่งมอบข้าว 1 ล้านตัน โดยขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการส่งมอบข้าวงวดที่ 5 ปริมาณ 1 แสนตัน และคาดว่าจะส่งมอบแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2561 ขณะเดียวกันได้มีการยื่นหนังสือกับผู้เกี่ยวข้องในการทำสัญญาส่งมอบข้าวครั้งที่สองอีก 1 ล้านตัน ส่วนกรณีที่ฟิลิปินส์มีหนังสือเชิญชวนให้ไทยร่วมประมูลข้าวแบบ G to G โดยหน่วยงาน National Food Authority (NFA) ปริมาณรวม 250,000 ตัน แบ่งเป็นข้าวขาว 15% ปริมาณ 50,000 ตัน และข้าวขาว 25% ปริมาณ 200,000 ตัน กำหนดส่งมอบในเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2561 นั้นทางไทยก็สนใจเข้าร่วมเช่นกัน
นายอดุลย์ กล่าวว่า “แนวโน้มการส่งออกข้าวน่าจะยังดีอยู่ เพราะตลาดต่างๆ มีความต้องการข้าวสูง และตลาดในปีนี้น่าจะเป็นของผู้ขาย จึงทำให้มีแต่คนที่ต้องการข้าว ซึ่งนานๆ ทีจะอยู่ในสภาวะที่หล่อเลือกได้” ขณะที่ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2561 มีมติเห็นชอบอนุมัติให้ระบายข้าวกลุ่มที่ 1 ที่เหลืออยู่ 4.4 หมื่นตัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำข้อกำหนดผู้ว่าจ้าง (TOR) โดยจะชี้แจงในวันที่ 7 พฤษภาคม ส่วนข้าวในกลุ่ม 2 และกลุ่ม 3 ทาง นบข. ได้อนุมัติให้ระบายได้แล้วประมาณ 2 ล้านตัน โดยแบ่งเป็นกลุ่ม 2 ที่เป็นกลุ่มอาหารสัตว์ ที่สามารถเอาไปใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหาหารสัตว์ มีข้าวค้างอยู่ 1.5 ล้านตัน และในกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่บริโภคไม่ได้อีก 5 แสนตัน คาดว่าจะสามารถระบายได้หมดภายในเดือนหน้า
ที่มา: matichon.co.th
ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ในระดับทรงตัวท่ามกลางข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับการทำประมูลข้าวของฟิลิปปินส์ ซึ่งคาดว่าเวียดนามจะประมูลได้บางส่วนโดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ระดับ 445-450 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เท่ากับเมื่อสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ กระทรวงการค้า (The Ministry of Industry and Trade) ได้มอบหมายให้บริษัทNorthern Food Corp (Vinafood I) เข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้ และมีรายงานว่าบริษัทของเวียดนามได้เสนอข้าวขาว 15% จำนวน 50,000 ตัน ที่ราคาตันละ 526.5 เหรียญสหรัฐฯ และข้าวขาว 25% จำนวน 80,000 ตัน ที่ราคาตันละ 517.5 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งปรากฏว่าเวียดนามประมูลได้รวม 130,000 ตัน ตามที่ได้ยื่นเสนอราคาไป โดยคาดว่าจะเริ่มมีการส่งมอบข้าวขาว 25% ล็อตแรกจำนวน 40,000 ตัน ภายในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ และส่วนที่เหลือจะส่งมอบภายในวันที่ 15 มิถุนายน ส่วนข้าวขาว 15% จำนวน 50,000 ตัน จะส่งมอบภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม (the Ministry of Agriculture and Rural Development; MARD) รายงานว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 2.16 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 1.10 พันล้านเหรียญ โดยที่ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 และร้อยละ 35.7 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ของเวียดนามยังคงเป็นประเทศจีนคิดเป็นร้อยละ 29.1 ของปริมาณส่งออกข้าวทั้งหมดของเวียดนาม ขณะที่ราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณตันละ 501 เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 15 ทั้งนี้ ข้าวที่เวียดนามส่งออกประมาณร้อยละ 81 เป็นข้าวคุณภาพสูง ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ข้าวของเวียดนาม ในช่วงปี ค.ศ. 2017-2020 ที่ต้องการจะลดการส่งออกข้าวคุณภาพต่ำและเปลี่ยนไปเป็นการส่งออกข้าวคุณภาพสูงเพิ่มมากขึ้น กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Industry and Trade; MoIT) ได้พิจารณาที่จะปรับลดขั้นตอนการส่งออกข้าวลงจากเดิมที่มีถึง 54 ขั้นตอนจาก 10 หน่วยงาน โดยจะลดระยะเวลาสำหรับการทำเอกสารต่างๆ จากเดิมที่ต้องใช้เวลาประมาณ 15 วัน ลงเหลือประมาณ 10 วันทำการ
ที่มา: thairiceexporters.or.th
ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะความต้องการข้าวจากผู้ซื้อในแอฟริกาที่เพิ่มขึ้น โดยราคาข้าวนึ่ง 5% อยู่ที่ระดับ 412-416 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เพิ่มขึ้น 3 เหรียญสหรัฐฯ จากระดับ 409-413 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่ต่ำสุดในรอบกว่า 4 เดือนครึ่ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ค่าเงินรูปีอ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 14 เดือน ทำให้ผู้ส่งออกเสนอราคาข้าวลดลงด้วย) องค์การอาหารแห่งชาติ (The Food Corporation of India; FCI) รายงานว่า การจัดหาข้าวตามโครงการ จัดหาข้าวของรัฐบาลในปีการตลาด 2560/61 (ตุลาคม 2560-กันยายน 2561) สำหรับฤดูการผลิตหลัก (Kharif marketing season) ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 สามารถจัดหาข้าวได้แล้วประมาณ 32.43 ล้านตัน โดยจัดหาจากแค้วน Punjab และ Haryana มากที่สุดประมาณ 11.83 และ 3.97 ล้านตัน ตามลำดับ ทั้งนี้ ในปี 2560/61 รัฐบาลตั้งเป้าจัดหาข้าวไว้ที่ 37.5 ล้านตัน โดยได้กำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำ (the minimum support price; MSP) สำหรับข้าวเปลือกเกรดธรรมดา (common grade rice) ไว้ที่1,550 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม หรือประมาณ 236 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน และข้าวเปลือกเกรด A (Grade ‘A’ paddy) กำหนดไว้ที่ 1,590 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม หรือประมาณ 242 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2559/60 รัฐบาลจัดหาข้าวได้ประมาณ 38.7 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 33 ล้านตัน
ที่มา: thairiceexporters.or.th
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 4 – 10 พ.ค. 61 --