สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 28, 2018 15:21 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 18 - 24 พ.ค. 61

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 13 โครงการ ดังนี้มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 13 โครงการ ดังนี้

1) ด้านการผลิต มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560และวันที่ 12ธันวาคม 2560 เห็นชอบโครงการฯ ได้แก่
  • โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี
  • โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่)
  • โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์
  • โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561
  • โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561
  • โครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561
  • โครงการขยายการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561และ
  • โครงการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ ฤดูนาปรัง ปี 2561
2) ด้านการตลาด มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 และเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 เห็นชอบโครงการฯ ได้แก่
  • โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร
  • โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
  • โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี และ
  • โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

3) ด้านการเงิน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,531 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,541 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.06

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,094 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,003 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.14

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 35,870 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 34,850 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.93

ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,225 ดอลลาร์สหรัฐฯ (39,040 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,191 ดอลลาร์สหรัฐฯ (37,765 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.85 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,275 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,341 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 449 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,237 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.22 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 104 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 436 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,895 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 435 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,793 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 102 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 434 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,831 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 69 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.8695

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2561/62 ประจำเดือนพฤษภาคม 2561 ว่าจะมีผลผลิต 489.500 ล้านตันข้าวสาร สูงขึ้นจาก 488.229 ล้านตันข้าวสาร หรือสูงขึ้นร้อยละ 0.32 จากปี 2560/61

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2561/62 ณ เดือนพฤษภาคม 2561 ผลผลิต ปี 2561/62 มีปริมาณ 489.500 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2560/61 ร้อยละ 0.32 การใช้ในประเทศจะมี 488.630 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.30 การส่งออก/นำเข้าจะมี 49.506 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.70 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 144.684 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 5.15

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กัมพูชา จีน กายานา ปารากวัย รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ บราซิล อินเดีย และอุรุกวัย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เบนิน บราซิล เบอร์กินา คาเมรูน ไอเวอรี่โคสต์ อียู กินี อิหร่าน อิรัก เคนย่า มาเลเซีย เม็กซิโก โมแซมบิค ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล และสหรัฐอาหรับเอมิเรส ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บังคลาเทศ กานา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังกลาเทศ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย และญี่ปุ่น

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวสูงใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 4 ปีท่ามกลางภาวะความต้องการข้าวจากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากข่าวที่อินโดนีเซียเตรียมจะซื้อข้าวเพิ่มอีก 500,000 ตัน ในเร็วๆ นี้ ขณะที่อุปทานข้าวในตลาดภายในประเทศมีจำกัด โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ 460-465 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เพิ่มขึ้นจาก 455-460 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งถือเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557

ขณะเดียวกันวงการค้าข้าวติดตามความคืบหน้าของการประมูลซื้อข้าวของรัฐบาลฟิลิปปินส์จำนวน 250,000 ตัน ที่จะจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งคาดว่าบริษัทเวียดนามจะประมูลได้จำนวนมาก ส่วนอินโดนีเซีย คาดว่าจะใช้วิธีซื้อตรงจากบริษัท Vietnam Southern Food Corp และ Vietnam Northern Food Corp มากกว่าที่จะใช้วิธีเปิดประมูลซื้อ

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินโดนีเซีย

อินโดนีเซีย กระทรวงการค้า (The Trade Ministry) ได้ออกใบอนุญาตให้หน่วยงาน BULOG (State Logistics Agency) นำเข้าข้าวเพิ่มได้อีก 500,000 ตัน ในปีนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ออกใบอนุญาตให้นำเข้าปริมาณที่เท่ากันเมื่อช่วงต้นที่ผ่านมา โดยคากว่าจะนำเข้าจากประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และเมียนมาร์ ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าราคาเพดานที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 9,400 รูเปียห์ต่อกิโลกรัม ในหลายพื้นที่ เช่น Java, Lampung, South Sumatra, Bali. West Nusa Tenggara และ Sulawesi

ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หน่วยงาน BULOG ได้ซื้อข้าวขาว 5% จากบริษัทเอกชนของไทย จำนวน 200,000 ตัน ในราคา 473.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน C&F และข้าวขาว 15% จากเวียดนาม จำนวน 300,000 ตัน ในราคา 465.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน C&F

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

กระทรวงเกษตร ระบุว่า ทางการจีนมีแผนที่จะลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวและข้าวโพดในปีนี้ แต่จะเพิ่มพื้นที่ เพาะปลูกถั่วเหลืองและธัญพืชชนิดอื่นๆ โดยคาดว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวจะลดลงประมาณ 10 ล้าน Mu (1 Mu เท่ากับประมาณ 0.06667 เฮคตาร์ หรือประมาณ 4.17 ล้านไร่) จากปกติเมื่อปีที่แล้วมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 440 ล้าน Mu หรือประมาณ 183.3 ล้านไร่

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า การประมูลขายข้าวจากสต็อกของรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์การค้าธัญพืชแห่งชาติ (the National Grain Trade Center) สามารถระบายข้าวได้ประมาณ 260,464 ตัน(จากที่นำมาประมูลทั้งหมดประมาณ 2.37 ล้านตัน) โดยราคาเฉลี่ยที่ขายได้อยู่ที่ประมาณ 2,297 หยวนต่อตัน หรือ ประมาณ 361.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่การประมูลขายข้าว เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์การค้าธัญพืชแห่งชาติสามารถระบายข้าวได้ประมาณ 71,074 ตัน (จากที่นำมาประมูลทั้งหมดประมาณ 1.019 ล้านตัน) โดยราคาเฉลี่ยที่ขายได้อยู่ที่ประมาณ 2,701 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 423.23 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ