สศก. แจงสินค้าเกษตร ข้าว ยางพารา และ สับปะรด ในช่วง 5 เดือนแรก ระบุ ราคาข้าวสดใส ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาพุ่งกว่า ปีก่อนถึงร้อยละ 60 ด้านยางพารา และสับปะรด ราคาปรับตัวลง แต่ครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการในประเทศยังคงมีความต้องการใช้ยางพารา บวกกับปริมาณสต๊อกยางของจีน (ชิงเต่า) ปรับตัวลง และผลผลิตสับปะรดออกตลาดไปแล้วกว่าร้อยละ 60
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงถึงสถานการณ์ราคาสินค้าข้าว ยางพารา และสับปะรด ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม – พฤษภาคม 2561) พบว่า ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ ปี 2561 มีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 2560 โดยในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม–พฤษภาคม 2561) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาเฉลี่ยตันละ 14,743 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่เฉลี่ยตันละ 9,207 บาท หรือสูงขึ้นร้อยละ 60.13 เนื่องจากปริมาณข้าวหอมมะลิออกสู่ตลาดลดลงจากผลกระทบของอุทกภัยในช่วงกลางปี 2560 ในขณะที่ข้าวเปลือกเจ้า ราคาเฉลี่ยตันละ 7,781 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่เฉลี่ยตันละ 7,514 บาท หรือสูงขึ้นร้อยละ 3.55 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น แอฟริกา อินโดนีเซีย และมาเลเชีย เป็นต้น
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2560/61 รัฐบาลได้ดำเนินการภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร แบ่งเป็น 3 ด้าน จำนวน 13 โครงการ ดังนี้ ประกอบด้วย ด้านการผลิต รวม 8 โครงการ ด้านการตลาด รวม 4 โครงการ และด้านการเงิน 1 โครงการ
ยางพารา ราคาเกษตรกรขายได้ปี 2561 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่จะมีทิศทางดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดย 5 เดือนแรก (มกราคม – พฤษภาคม) ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 กิโลกรัมละ 43.56 บาท ราคาน้ำยางสด กิโลกรัมละ 41.46 บาท และยางก้อนถ้วยคละ กิโลกรัมละ 20.28 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 38.61 ร้อยละ 36.42 และร้อยละ 39.15 ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของปริมาณสต๊อกยางในประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่อย่างจีน การแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางที่นำเข้ายางพาราจากไทย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มราคายางช่วงครึ่งหลังของ ปี 2561 มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการในประเทศยังคงมีความต้องการใช้ยางพารา ประกอบการมาตรการ/โครงการภาครัฐที่สนับสนุนทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปริมาณสต๊อกยางของจีน (ชิงเต่า) ปรับตัวลดลง
แนวทางและมาตรการแก้ไขสินค้ายางพารา ภาครัฐได้ดำเนินการอย่างรอบด้าน ดังนี้ 1) ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางประกอบอาชีพเสริมควบคู่กับการทำสวนยาง 2) ควบคุมและลดพื้นที่ปลูกยางพาราให้เหมาะสม โดยส่งเสริมให้มีการปลูกแทนยางพาราที่มีอายุมากด้วยยางพันธุ์ดี 3) ส่งเสริมให้มีการใช้ยางพาราเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศให้มากขึ้น 4) สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ให้แก่สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการ 5) มีความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ผ่านสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) โดยในระยะยาวมีมาตรการควบคุมอุปทานยางพื่อให้การผลิตยางพาราของแต่ละประเทศมีปริมาณที่เหมาะสม และในระยะสั้นกำหนดมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออก (มาตรการ Agreed Export Tonnage Scheme : AETS) 6) สนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราในเชิงพาณิชย์มากขึ้น และ 7) สร้างบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมยางพารา ทั้งในส่วนของบุคลากรทางด้านการผลิตและบุคลากรทางด้านการวิจัยและพัฒนา
สับปะรด ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 5 เดือนแรก (มกราคม – พฤษภาคม) สับปะรดโรงงานกิโลกรัมละ 3.14 บาท ลดลงจาก 6.29 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 50.07 สับปะรดบริโภคกิโลกรัมละ 3.14 บาท ลดลงจาก 12.28 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 35.26 เนื่องจาก ผลผลิตออกกระจุกตัวในช่วง พ.ค. – มิ.ย. และตลาดส่งออกชะลอการสั่งซื้อ ทำให้โรงงานแปรรูปต้องลดกำลังการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้มีสับปะรดส่วนเกินความต้องการของโรงงานแปรรูปส่วนราคาสับปะรดหน้าโรงงาน (ม.ค. – พ.ค. 61) ภาคตะวันตก (ประจวบคีรีขันธ์) กิโลกรัมละ 3.63 - 3.85 บาท ภาคตะวันออก (ระยอง ชลบุรี) กิโลกรัมละ 3.49 – 3.66 บาท ทั้งนี้ ครึ่งปีหลัง 2561 สถานการณ์ราคาจะกระเตื้องขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดไปแล้วกว่าร้อยละ 60
ด้านมาตรการดำเนินการช่วยเหลือ มติคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2561 วันที่ 10 เมษายน 2561 ได้เห็นชอบ 1) มาตรการนำสับปะรดส่วนเกินออกนอกระบบ โดยกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต (โดย พาณิชย์จังหวัด+ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) 2) มาตรการผลักดันการส่งออกและขยายตลาดต่างประเทศ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทำ (MOU) รูปแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ในรัสเซีย อิหร่าน และเชื่อมโยงการค้า ขยายตลาดใหม่ USA EU และอาเซียน และ 3) มาตรการรณรงค์การบริโภคสับปะรดผลสดเพิ่มขึ้น (กรมการค้าภายในส่งเสริมการบริโภคสับปะรดสดในประเทศ)
นอกจากนี้ มีมาตรการสนับสนุนมติคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ของกระทรวงเกษตรฯ โดย อ.ต.ก. จัดงานส่งเสริมการบริโภคสับปะรด ช่วงพฤษภาคม – มิถุนายน (วันที่ 1-10 พฤษภาคม จำหน่ายได้ 9.6 ตัน) สนับสนุนการการกระจายผลผลิตผ่านเครือข่ายสหกรณ์ (ข้อมูล ณ วันที่ 12 มิ.ย.61 ลำปาง 163 ตัน ระยอง 109 ตัน) โดยแต่ละจังหวัดได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงานส่งเสริมการบริโภคสับปะรดผลสดในจังหวัด รณรงค์การบริโภคสับปะรด ทั่วประเทศ และขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ เช่น สถานประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม สถานศึกษา สถานพยาบาล เรือนจำ นำผลผลิตสับปะรดมาใช้ในการประกอบการทำอาหาร อีกทั้งกรมปศุสัตว์ ยังได้พิจารณานำสับปะรดไปผลิตเป็นอาหารสัตว์เพิ่มเติม ทำอาหารหมักเลี้ยงโคเนื้อและโคนม การทำ Feed Center ที่ใช้สับปะรดผลสดเป็นวัตถุดิบด้วย
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร