สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 15 - 21 มิ.ย. 61
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2560/61
มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 13 โครงการ ดังนี้
- โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี
- โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่)
- โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์
- โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561
- โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561
- โครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561
- โครงการขยายการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561และ
- โครงการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ ฤดูนาปรัง ปี 2561
- โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร
- โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
- โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี
- โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
3) ด้านการเงิน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,874 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,844 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.19
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,981 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,035 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.67
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 36,850 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,190 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,610 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.33
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,185 ดอลลาร์สหรัฐฯ (38,419 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,240 ดอลลาร์สหรัฐฯ (39,457 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.44 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 1,038 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 414 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,423 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 437 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,905 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.26 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 482 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 404 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,098 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 424 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,492 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.72 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 394 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 417 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,520 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 413 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,714 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.97 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 194 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.4215
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2561/62 ประจำเดือนมิถุนายน 2561 ว่าจะมีผลผลิต 489.500 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 488.313 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.24 จากปี 2560/61
บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2561/62 ณ เดือนมิถุนายน 2561 ว่าผลผลิต ปี 2561/62 จะมี 489.500 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2560/61 ร้อยละ 0.24 การใช้ในประเทศจะมี 488.630 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.55 การส่งออก/นำเข้าจะมี 49.506 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.73 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 144.684 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.55 โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กัมพูชา จีน กายานา อินเดีย ปารากวัย รัสเซีย ไทย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล และอุรุกวัย
สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เบนิน บราซิล เบอร์กินา คาเมรูน ไอเวอรี่โคสต์ อียู กินี อิหร่าน อิรัก เคนย่า มาเลเซีย เม็กซิโก โมแซมบิค ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล และสหรัฐอาหรับเอมิเรส ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บังคลาเทศ กานา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังคลาเทศ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
สำนักงานบริการด้านการส่งออกข้าวของกัมพูชา (Secretariat of One Window Service for Rice Export Formality; SOWS-REF) รายงานปริมาณส่งออกข้าวในเดือนพฤษภาคม 2561 มีปริมาณ 42,865 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.28 เมื่อเทียบกับจำนวน 36,239 ตัน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ลดลงร้อยละ 5.26 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 ที่มีการส่งออกจำนวน 45,243 ตัน โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม-พฤษภาคม) กัมพูชาส่งออกข้าวรวม 240,219 ตัน ลดลงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับจำนวน 257,637 ตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2560
ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 กัมพูชาส่งออกข้าวหอมเกรด Premium (Premium Fragrant Rice) เช่น Phka Rumduol/Malis จำนวน 118,418 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560) ข้าวหอมชนิดอื่นๆ (Fragrant Rice) จำนวน 56,375 ตัน (ลดลงร้อยละ 12.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560) ข้าวขาวเมล็ดยาว (Long Grain White Rice) จำนวน 50,733 ตัน (ลดลงร้อยละ 45.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560) และข้าวนึ่งเมล็ดยาว (Long Grain Parboiled Rice) จำนวน 14,693 ตัน (ลดลงร้อยละ 49.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560) โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา กัมพูชาส่งออกข้าวหอมเกรด Premium จำนวน 224,552 ตัน ข้าวหอมชนิดอื่นๆ จำนวน 169,475 ตัน ข้าวขาว จำนวน 156,654 ตัน และข้าวนึ่ง จำนวน 84,998 ตัน โดยส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนมากเป็นอันดับ 1 จำนวนประมาณ 61,578 ตัน (ลดลงร้อยละ 30.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559) รองลงมาคือ ประเทศฝรั่งเศส 33,077 ตัน (ลดลงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559) มาเลเซีย 17,120 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 149.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559) โปแลนด์ 13,194 ตัน (ลดลงร้อยละ 42.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559) เนเธอร์แลนด์ 11,490 ตัน (ลดลงร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559) สหราชอาณาจักร 9,232 ตัน (ลดลงร้อยละ 55.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559) เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2560 กัมพูชาส่งออกข้าวปริมาณรวม 635,679 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 เมื่อเทียบกับจำนวน 542,144 ตัน ในปี 2559 ซึ่งถือเป็นสถิติส่งออกข้าวสูงสุดของกัมพูชา โดยส่งไปยังประเทศจีนมากเป็นอันดับหนึ่งที่ ปริมาณ 199,857 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.8 เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่มีปริมาณ 127,460 ตัน อันดับที่ 2 คือฝรั่งเศส ปริมาณ 77,363 ตัน ลดลงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่มีปริมาณ 78,329 ตัน อันดับที่ 3 คือ โปแลนด์ ปริมาณ 44,023 ตัน ลดลงร้อยละ 31.2 เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่มีปริมาณ 64,035 ตัน อันดับที่ 4 คือ มาเลเซีย ปริมาณ 38,360 ตัน ลดลงร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่มีปริมาณ 38,877 ตัน อันดับที่ 5 คือ เนเธอร์แลนด์ปริมาณ 27,175 ตัน ลดลงร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่มีปริมาณ 28,690 ตัน อันดับที่ 6 คือ สหราชอาณาจักร ปริมาณ 26,775 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.5 เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่มีปริมาณ 17,673 ตัน
Amru Rice บริษัทผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของกัมพูชา ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายข้าวกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ออร์แกนิคในจังหวัดพระวิหารกว่า 4,000 ราย โดยบริษัทได้ทำสัญญาตกลงจะซื้อข้าวจากเกษตรกร จำนวน 30,000 ตัน ที่มูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมกันนี้บริษัทได้ลงนามในสัญญารับซื้อมันสำปะหลังแห่งจากเกษตรกรในจังหวัดดังกล่าว รวมปริมาณ 10,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นาย Song Saran ประธานกรรมการบริหารบริษัท Amru Rice กล่าวว่า บริษัทได้ทำสัญญารับซื้อข้าวออร์แกนิคจากเกษตรกรในจังหวัดพระวิหารมาอย่างต่อเนื่องโดยปีนี้เป็นปีที่ 5 สำหรับมันสำปะหลังแห่งเพิ่งเริ่มทำสัญญารับซื้อปีนี้เป็นปีแรก โดยคาดว่าจะมีผลผลิตออกสู้ตลาดช่วงต้นปีหน้า ทั้งนี้ นาย Song Saran กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทจะดำเนินการทำสัญญารับซื้อข้าวออร์แกนิคจากเกษตรกรในจังหวัดพระวิหารอย่างต่อเนื่อง โดยจะรับซื้อในราคาสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป และจะสนับสนุนให้เกษตรกรในจังหวัดหันมาทำการเกษตรแบบออร์แกนิค ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาที่สูงขึ้นและส่งผลให้เกษตรกรในจังหวัดมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น สำหรับมันสำปะหลังปริมาณการรับซื้อยังไม่มากนัก เนื่องจากบริษัทต้องการจะทดลองตลาดก่อน หากได้รับการตอบรับที่ดีจะเพิ่มปริมาณการรับซื้อในอนาคต
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กรมศุลกากรฟิลิปปินส์เข้าตรวจค้นรถตู้คอนเทนเนอร์ 200 คัน พบว่าภายในมีข้าวไทยที่ถูกลักลอบนำเข้ามา 100,000 กระสอบ และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 250 ล้านเปโซ โดยสถานที่ปลายทางที่นำข้าวไปส่งมอบคือ บริษัท ซานต้าโรซ่าผลิตภัณฑ์การเกษตร จำกัด (Sta. Rosa Farm Products Corp.)
จากการตรวจสอบปรากฏว่า การขนส่งข้าวไทยในครั้งนี้ไม่ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารแห่งชาติฟิลิปปินส์ (National Food Authority: NFA) รวมถึงมิได้มีการชำระภาษีศุลกากรในการนำเข้าสินค้าด้วย สำหรับข้าวที่ยึดมาได้ จะถูกนำออกประมูลภายใน 5-10 วันทำการ
นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้ทำลายสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ลักลอบนำเข้าและไม่เสียภาษี เช่น บุหรี่ปลอม อุปกรณ์สำนักงาน เสื้อผ้า และรองเท้าฯลฯ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 22 ล้านเปโซ
ทั้งนี้ ระบบการค้าข้าวของรัฐบาลฟิลิปปินส์จะมีองค์การอาหารแห่งชาติ (National Food Authority: NFA) กำกับดูแลระบบการค้าข้าว ตั้งแต่การให้ใบอนุญาตร้านค้าปลีกที่ขายข้าวสาร การให้ใบอนุญาตนำเข้าข้าว การนำเข้าข้าวแบบ G to P ดังนั้น จึงควรประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการไทยเจรจาธุรกิจกับผู้นำเข้าที่มีใบอนุญาตจาก NFA ด้วย
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร