สศก. ร่วมกับคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจ เปิดตัวเลขผลผลิต ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง เตรียมออกตลาดครึ่งปีหลัง เผย ส่วนใหญ่เป็นแหล่งผลิตภาคใต้ ชวนผู้บริโภคเตรียมลิ้มลองรสชาติ อุดหนุนเกษตรกร มั่นใจ ปีนี้ทุกจังหวัดเตรียมแผนพร้อมบริหารจัดการพร้อมในพื้นที่อย่างรอบด้าน
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การไม้ผล 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง ปี 2561 โดย สศก. ร่วมกับคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจ (ข้อมูล ณ 12 มิถุนายน 2561) ภาพรวมทั้งประเทศ (รวมทุกจังหวัดที่มีเนื้อที่ให้ผลแล้ว) พบว่า ทุเรียนมีผลผลิตรวม 726,809 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 91,778 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.45) เงาะมีผลผลิตรวม 275,366 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 26,253 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.54) มังคุดมีผลผลิตรวม 167,156 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 42,724 ตัน (ลดลงร้อยละ 20.36) และลองกองมีผลผลิตรวม 103,145 ตัน เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายเดือนมิถุนายน 2561 พบว่า ทุเรียนออกสู่ตลาดแล้ว 435,368 ตัน หรือร้อยละ 60 เงาะออกสู่ตลาดแล้ว 159,715 ตัน หรือร้อยละ 58 มังคุดออกสู่ตลาดแล้ว 55,800 ตัน หรือร้อยละ 33 และลองกองออกสู่ตลาดแล้ว 4,424 ตัน หรือร้อยละ 4 โดยมีแหล่งผลิตจากภาคตะวันออกขณะที่ผลไม้ภาคใต้กำลังเริ่มทะยอยให้ผลผลิต
สำหรับสถานการณ์การผลผลิตผลไม้ 4 ชนิดในช่วงครึ่งปีหลัง (กรกฎาคม-ธันวาคม) ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจากภาคใต้ พบว่า ทุเรียน จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดอีกร้อยละ 40 รวมประมาณ 291,441 ตัน ซึ่งจะออกสู่ตลาดมากช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน แต่จะออกมากสุดในช่วงเดือนสิงหาคม เงาะจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดอีกร้อยละ 42 รวมประมาณ 115,651 ตัน และจะออกสู่ตลาดมากในช่วงสิงหาคมถึงกันยายน มังคุด จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดอีกร้อยละ 64 รวมประมาณ 111,356 ตัน และจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน แต่จะออกมากสุดในช่วงเดือนสิงหาคม และลองกองจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดอีกร้อยละ 96 รวมประมาณ 98,721 ตัน ซึ่งจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมแต่ออกมากสุดในเดือนกันยายน
แม้ทุเรียนและมังคุดของภาคตะวันออก ได้ออกสู่ตลาดไปแล้ว แต่ผู้บริโภคสามารถรอผลผลิตจากภาคใต้ที่จะออกมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมได้เช่นกัน ส่วนลองกอง โดยเฉพาะลองกองตันหยงมัส ผลผลิตจะออกสู่ตลาดในเดือนสิงหาคม เป็นต้นไป จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคที่ชื่นชอบรับประทานช่วยกันสนับสนุนผลผลิตจากเกษตรกรในช่วงเวลาดังกล่าว และหากท่านที่ต้องการอุดหนุนหรือสั่งจองในปริมาณมาก สามารถติดต่อโดยตรงไปยังเกษตรจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด หรือสหกรณ์จังหวัดในพื้นที่
ทั้งนี้ปี 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง เน้นหลักการบริหารจัดการผลไม้ให้มีข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดผู้ซื้อได้อย่างเหมาะสม โดยให้จังหวัดมีการบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง จัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ ซึ่งมีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลัก เชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เน้นบริหารจัดการเชิงปริมาณจัดสมดุลอุปสงค์ อุปทาน ด้วยการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้รวมกลุ่มเพื่อผลิตไม้ผลคุณภาพตามระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตไม้ผลคุณภาพนอกฤดู พร้อมเชื่อมโยงและหาตลาดรองรับผลผลิตอย่างต่อเนื่อง
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : ศูนย์สารสนเทศการเกษตร
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร