สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 29 มิ.ย. - 5 ก.ค. 61
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2560/61
มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 13 โครงการ ดังนี้
- โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี
- โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่)
- โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์
- โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561
- โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561
- โครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561
- โครงการขยายการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561
- โครงการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ ฤดูนาปรัง ปี 2561
- โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร
- โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
- โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี
- โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
3) ด้านการเงิน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,928 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,874 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.34
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,898 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,981 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.04
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 36,290 บาท ราคาลดลงจากตันละ 36,850 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.52
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,930 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,190 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.13
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,143 ดอลลาร์สหรัฐฯ (37,407 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,185 ดอลลาร์สหรัฐฯ (38,419 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.54 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 1,012 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,418 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 414 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,423 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.97 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 5 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 401 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,124 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 404 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,098 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.74 แต่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 26 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 407 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,320 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 417 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,520 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.40 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 200 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.7270
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
กัมพูชาเตรียมเปิดใช้โกดังพร้อมเครื่องอบข้าวสำหรับการจัดเก็บข้าวเปลือกในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยว จำนวน 3 แห่ง ในจังหวัดกัมปงธม ไปรเวง และตาแก้ว ซึ่งโกดังแต่ละแห่งสามารถจัดเก็บข้าวได้ปริมาณสูงสุด 500,000 ตัน และอบข้าวได้ 1,500 ตันต่อวัน
เมื่อปี 2560 ธนาคารเพื่อการพัฒนาชนบทของรัฐบาล ได้ให้สินเชื่อรวมจำนวน 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่ 2 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท Khmer Food และ Amru Rice สำหรับก่อสร้างโกดังในการจัดเก็บข้าวเปลือก เพื่อเป็นการแก้ปัญหาข้าวเปลือกล้นสต็อกให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดย บริษัท Khmer Food ได้รับสินเชื่อจำนวน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อก่อสร้างโกดังในจังหวัดไปรเวง และตาแก้ว ขณะที่บริษัท Amru Rice ได้รับสินเชื่อจำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อก่อสร้างโกดังในจังหวัดกัมปงธม และบริษัทยังได้ลงทุนเพิ่มเองอีก 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโกดังสำหรับจัดเก็บข้าวอีก 6 โกดัง ในบริเวณเดียวกัน ปัจจุบันทั้งสองบริษัทอยู่ระหว่างการตรวจสอบระบบการทำงานของโกดังและเครื่องอบข้าว โดยยืนยันว่าโกดังพร้อมเครื่องอบข้าวจะพร้อมใช้งานสำหรับฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่กำลังจะมาถึงนี้
นอกจากนั้น ธนาคารเพื่อการพัฒนาชนบท ยังได้มอบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ Thanakea Srov (Kampuchea) ซึ่งทำหน้าที่บริหารธนาคารข้าวของกัมพูชา (Cambodian Rice Bank) เพื่อขยายโกดังจัดเก็บข้าวในจังหวัดพระตะบอง โดยโกดังแห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางจัดเก็บข้าวแห่งแรกของภาคเอกชนในกัมพูชาที่สามารถจัดเก็บข้าวเปลือกได้สูงสุด 200,000 ตัน และแปรรูปข้าวเปลือกได้ 3,000 ตันต่อวัน
ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการเปิดใช้โกดังจัดเก็บข้าว ที่อำเภอบาเตีย จังหวัดกัมปงจาม ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนในการก่อสร้างจากรัฐบาลเกาหลีใต้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยโกดังแห่งนี้สามารถ จัดเก็บข้าวได้ปริมาณสูงสุด 600 ตัน และอบข้าวได้ 80 ตันต่อวัน
แม้ว่ากัมพูชาได้เร่งก่อสร้างโกดังสำหรับจัดเก็บข้าวและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เพื่อแก้ไขปัญหาข้าวล้นสต็อก อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอุตสาหกรรมการผลิตข้าว รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านราคาข้าวกับผู้ผลิตชาติอื่นๆ ในตลาดโลก อย่างไรก็ตามกัมพูชายังต้องการโกดัง จัดเก็บข้าวและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าวอีกจำนวนมาก เพื่อให้เพียงพอกับความ ต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตข้าวในประเทศกัมพูชา
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทม์ส รายงานโดยอ้างบทความ Lao Economic Monitor ของธนาคารโลกที่ระบุว่า ผู้บริโภคชาวลาวถือเป็นหนึ่งในผู้บริโภคที่ต้องจ่ายราคาข้าวสูงที่สุดในภูมิภาค ถึงแม้ว่าลาวจะเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวก็ตาม
ข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่ประเทศลาวผลิตมากที่สุด และเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงนิยมการทำนา โดยการเพาะปลูกข้าวครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกถึงร้อยละ 75 จากทั้งหมด และชนิดของข้าวที่ปลูกร้อยละ 90 เป็นข้าวเหนียว อย่างไรก็ดีข้าวของลาวไม่สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ เนื่องจากการส่งออกต่างประเทศมีเพียงร้อยละ 5 โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศจีนและเวียดนาม
สำหรับราคาขายปลีกของผลิตภัณฑ์ข้าวเกรด 2 ในกรุงเวียงจันทน์อยู่ที่ประมาณ 0.85 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่ามีราคาสูงสุดเมื่อเทียบกับราคาข้าวของประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ระบุว่า เกษตรกรชาวลาวไม่ค่อยมีกำไรจากการปลูกข้าว ในขณะที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินซื้อข้าวในราคาที่แพงที่สุดประเทศหนึ่งของภูมิภาค
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
มีรายงานว่า หลังจากที่ทางการสหรัฐฯ ได้ประกาศใช้นโยบายเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตราร้อยละ 25 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มไฮเทคนั้น ทางการจีนได้ตอบโต้สหรัฐฯโดยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นเดียวกัน เช่น สินค้าในกลุ่มถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวสาลี ฝ้าย เนื้อวัว แครนเบอรี่ น้ำส้ม ยาสูบ วิสกี้ รวมทั้งข้าวด้วย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคมเป็นต้นไป
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
รัฐบาลกลางระบุว่าจะปิดพรมแดนระหว่างไนจีเรียกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดการลักลอบนำเข้าข้าวจาก ต่างประเทศ โดยเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2558 รัฐบาลกลางได้สั่งห้ามนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ผ่านชายแดนของประเทศ หลังจากที่ไนจีเรียได้มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าข้าว โดยเก็บภาษีพิเศษสำหรับข้าวนึ่ง (the special levy on imported parboiled rice) จาก 40% เป็น 100% นอกเหนือจากภาษีปกติที่ท่าเรือ (statutory duty at the port) ในอัตรา 10%
ในช่วงรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี Olusegun Obasanjo เคยปิดพรมแดนด้าน Seme ที่ติดกับประเทศเบนินในปี 2556 โดยอ้างถึงปัญหาด้านอาชญากรรมข้ามพรมแดน รวมถึงการลักลอบนำเข้าสินค้าจeนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ข้าวจะถูกลักลอบนำเข้าผ่านพรมแดนประเทศเบนิน
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร