สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 1, 2018 15:22 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 20 - 26 ก.ค. 61

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด 10 โครงการ และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 เห็นชอบในรายละเอียดโครงการด้านการตลาดจากโครงการเดิม จำนวน 3 โครงการ ดั้งนั้นรวมมีจำนวนโครงการฯ ทั้งสิ้น 10 โครงการ ดังนี้

(1) ด้านการผลิต ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) 2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง 4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming) 5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ 6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร และ 7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง

(2) ด้านการตลาด ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว 2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และ 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,998 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,987 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.07

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,422 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,576 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.03

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 35,650 บาท ราคาเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,750 บาท ราคาเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,115 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,924 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,117 ดอลลาร์สหรัฐฯ (37,128 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.18 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 204 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 396 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,114 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 397 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,196 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 82 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 387 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,816 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 389 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,930 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.51 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 114 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 390 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,915 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 394 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,096 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.02 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 181 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.1161

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2561/62 ประจำเดือนกรกฎาคม 2561 ว่าจะมีผลผลิต 487.798 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 488.604 ล้านตันข้าวสาร หรือลดลงร้อยละ 0.16 จาก

ปี 2560/61

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2561/62 ณ เดือนกรกฎาคม 2561 ว่าผลผลิต ปี 2561/62 จะมี 487.798 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2560/61 ร้อยละ 0.16 การใช้ในประเทศจะมี 487.058 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.22 การส่งออก/นำเข้าจะมี 49.379 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.80 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 143.754 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.08 โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กัมพูชา จีน กายานา ปารากวัย แอฟริกาใต้ ไทย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล อินเดีย และอุรุกวัย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เบนิน บราซิล เบอร์กินา คาเมรูน ไอเวอรี่โคสต์ อียู กินี อิหร่าน อิรัก เคนย่า มาเลเซีย เม็กซิโก โมแซมบิค ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล และสหรัฐอาหรับเอมิเรส ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บังคลาเทศ กานา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังคลาเทศ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย และญี่ปุ่น

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม – จีน

ตามสถิติของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม (Ministry of Agriculture and Rural Development: MARD) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2061 เวียดนามส่งออกข้าวไปยังจีนรวม 884,000 ตัน ลดลงร้อยละ 21.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 มีมูลค่า 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.6

นาย Nguyen Dinh Bich นักวิเคราะห์การตลาดข้าวเปิดเผยว่า ในเดือนมิถุนายน 2561 จีนนำเข้าข้าวเวียดนามเพียง 48,000 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณต่ำที่สุดของเวียดนามที่ส่งออกข้าวไปยังจีนตั้งแต่ปี 2559 และลดลง 112,000 ตันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560

แม้ว่าปริมาณข้าวที่ส่งออกไปยังจีนลดลง แต่จีนยังเป็นประเทศนำเข้าข้าวอันดับ 1 ของเวียดนาม โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 เวียดนามส่งออกข้าวไปยังจีน 3.6 ล้านตัน มูลค่า 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ผู้ค้าข้าวเวียดนามเปิดเผยว่า ปริมาณข้าวของเวียดนามที่ส่งออกข้าวไปยังจีนลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากจีนควบคุมการนำเข้าข้าวอย่างเข้มงวด โดยเมื่อปลายปี 2560 จีนได้ปรับนโยบายการนำเข้าข้าว ส่งผลให้เหลือผู้ส่งออกข้าวในเวียดนามที่ได้รับอนุญาตส่งออกข้าวไปจีนเพียง 22 ราย จาก 150 ราย และเมื่อต้นปี 2561 จีนระงับการนำเข้าจากบริษัทเวียดนาม 3 ราย จาก 22 ราย ดังกล่าว เนื่องจากข้าวหักมีการปะปนของเมล็ดวัชพืชสูงกว่ามาตรฐานที่จีนกำหนด

นาง Luu Thi Lan รองผู้อำนวยการบริษัท Gentraco JSC. เปิดเผยว่า ในปี 2560 เวียดนามส่งออกข้าวหักไปยังจีนเพื่อใช้ในการผลิตขนมและไวน์ 700,000 ตัน แต่ในช่วงปลายปี 2560 จีนควบคุมการนำเข้าข้าว ทำให้การส่งออกข้าวเวียดนามหยุดชะงักลงและส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 นอกจากนั้นยังกล่าวเพิ่มว่า การส่งออกข้าวที่ลดลงยังเป็นผลมาจากสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2018 จีนได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าข้าวเหนียวจากร้อยละ 45 เป็นร้อยละ 50 ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงปี 2559 – 2560 เวียดนามส่งออกข้าวเหนียวไปจีนมากกว่า 1 ล้านตัน

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ฟิลิปปินส์

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งฟิลิปปินส์ (หรือ PSA) พบว่า ปริมาณการเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกภายในประเทศในไตรมาสที่สองของปีนี้ลดลงร้อยละ 1.8 ซึ่งมีปริมาณ 4.05 ล้านตัน จาก 4.15 ล้านตันในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้พื้นที่ ปลูกข้าวยังลดลงเหลือเพียง 932,000 เฮกตาร์ จากปีที่แล้วที่มีพื้นที่ 947,000 เฮกตาร์

อย่างไรก็ตาม PSA คาดว่าจะมีการเก็บเกี่ยวเพิ่มเติมใน Isabela, Nueva Ecija , Laguna, Quezon, Mindoro Oriental และ Surigao Sur โดยจะมีการควบคุมดูแลโรคที่เกิดจากศัตรูพืช และปริมาณน้ำใช้อย่างเพียงพอในระยะเวลาการเพาะปลูก จากข้อมูลขององค์กรอาหารแห่งชาติ (หรือ NFA) พบว่า การเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกและการผลิตข้าวทั้งหมดในปีนี้น่าจะมีเพียง 12.26 ล้านตัน ในขณะที่การบริโภคข้าวในอาจมีมากถึง 14.1 ล้านตัน ดังนั้น ฟิลิปปินส์อาจต้องใช้มาตรการการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นจากต่างชาติเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนข้าวเพื่อการบริโภคจำนวน 1.8 ล้านตัน

ที่ผ่านมา NFA กล่าวว่า ทางองค์กรกำลังเสนอให้คณะกรรมการนำเข้าข้าวเพิ่มอีก 500,000 ตัน เพื่อเพิ่มสต็อกบัฟเฟอร์และจัดจำหน่ายในตลาด ซึ่งจะทำให้การนำเข้าข้าวของหน่วยงาน NFA จนถึงขณะนี้มีมากถึง 1 ล้านตันMr. Emmanuel Pinol รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรคาดว่า ในปีนี้ผลิตผลข้าวเปลือกจะสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากเพาะปลูกข้าวมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากราคาซื้อข้าวเปลือกที่สูงขึ้น

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ