สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 17 - 23 ส.ค. 61
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62
(1) ด้านการผลิต* ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) 2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง 4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming) 5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ 6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร และ 7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง
(2) ด้านการตลาด มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว
2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และ 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,182 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,191 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.06
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,478 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,533 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.72
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,250 บาท ราคาลดลงจากตันละ 34,400 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.44
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,810 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,850 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.34
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,138 ดอลลาร์สหรัฐฯ (37,187 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,116 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,879 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.97 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 308 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,398 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 402 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,284 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.99 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 114 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 397 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,973 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 389 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,855 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.06 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 118 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 407 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,300 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 399 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,185 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.01 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 115 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.6771
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2561/62 ประจำเดือนสิงหาคม 2561 ว่าจะมีผลผลิต 487.565 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 488.540 ล้านตันข้าวสาร หรือลดลงร้อยละ 0.20 จากปี 2560/61
บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2561/62 ณ เดือนสิงหาคม 2561 ว่าผลผลิต ปี 2561/62 จะมี 487.565 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2560/61 ร้อยละ 0.20 การใช้ในประเทศจะมี 487.809 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.31 การส่งออก/นำเข้าจะมี 49.449 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.20 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 143.574 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.17 โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา เมียนมาร์ กัมพูชา จีน ไทย และสหรัฐอเมริกาส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ บราซิล อินเดีย และอุรุกวัย
สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เบนิน บราซิล เบอร์กินา คาเมรูน ไอเวอรี่โคสต์ อียู กินี อิหร่าน อิรัก เคนย่า มาเลเซีย เม็กซิโก โมแซมบิค ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล และสหรัฐอาหรับเอมิเรส ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บังคลาเทศ กานา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังคลาเทศ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย และญี่ปุ่น
2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
แม้ปีนี้เป็นปีที่สดใสยิ่งสำหรับข้าวไทยซึ่งตลาดโลกมีความต้องการซื้อสูง โดยเฉพาะ "ข้าวหอมมะลิ" ที่เป็นข้าวพรีเมียมที่มีปริมาณการส่งออกเกือบ 20% ของสินค้าข้าวไทยทุกชนิด ทำให้ราคาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลดีต่อราคาข้าวในประเทศ แต่จากการที่สหรัฐอเมริกาได้พัฒนา "ข้าวหอมสายพันธุ์ใหม่" ถึง 3 สายพันธุ์ คือ จัสมิน "Aroma17, จัสมิน "CLJ 01" และจัสมิน "Calaroma 201" ที่มีคุณภาพเยี่ยม ความนุ่มหอมอร่อยทัดเทียมข้าวหอมมะลิไทย แต่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าถึงไร่ละ 1,600 กก. และเริ่มให้ชาวนาปลูกแล้ว จึงส่งผลให้ปริมาณส่งออกข้าวไทยไปสหรัฐลดลงทุกปี ในอนาคต "ข้าวหอมสหรัฐ" ที่ผลิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาจกลายเป็นคู่แข่งสำคัญยิ่งของหอมมะลิไทยในตลาดสำคัญๆ ทั่วโลกได้
ส่วนตลาดข้าวไทยในประเทศจีน กระทรวงพาณิชย์ได้ลงพื้นที่ ระหว่างวันที่ 14-16 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ เมืองหางโจว และเมืองหนิงโป ในมณฑลเจ้อเจียงตอนเหนือของจีน เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านการตลาด ตลอดจนปัญหาอุปสรรค และแสวงหาโอกาสส่งเสริมข้าวไทยในตลาดจีน พบว่าตลาดข้าวไทยในจีนตอนเหนือโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ เริ่มมีความต้องการลดลง และมีแนวโน้มจะต่อเนื่องไปยังจีนตอนใต้ที่ปัจจุบันข้าวไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากหลายประการ เช่น ระบบปกป้องข้าวในประเทศของจีนด้วยการให้โควตาและการคุมเข้มข้าวที่นำเข้าการที่คนจีนเริ่มคลายความนิยมต่อข้าวหอมมะลิไทย เนื่องจากระยะหลังๆ ข้าวมีความ "หอมน้อยลง" หรือ "ไม่หอมเลย" ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องคุณภาพหรือการควบคุมมาตรฐานความหอมของข้าวไทย และการที่จีนสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ชื่อ "อู๋ ชาง (Wu Chang Rice)" ขึ้น เพื่อตอบสนองรสนิยมคนจีนแทนข้าวหอมมะลิไทยได้เป็นอย่างดี โดยเป็นข้าวแบบ "4 ดี" คือ นิ่มดี, เหนียวดี, กลิ่นหอมดี และ มี GI ดี (Geographical Indications สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง) คือ เป็นข้าวที่ผลิตที่เมือง "อู๋ ชาง" ในมณฑลเฮย์หลงเจียง (เหมือนข้าวหอมมะลิไทยที่ได้ GI อย่างหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้หรือหอมมะลิสุรินทร์) นับเป็นความภาคภูมิใจของจีน นอกจากคุณภาพสูงแล้ว ข้าว"อู๋ ชาง" ยังให้ผลผลิตสูงมากถึงไร่ละ 1.8 ตัน หรือ 1,800 กก. และสามารถเพาะปลูกในพื้นที่มณฑลเฮย์หลงเจียงที่มีสภาพอากาศหนาวมากและดินเค็มได้ โดยข้าวอู๋ ชาง มีราคาใกล้เคียงหรือถูกกว่าข้าวหอมมะลิไทยที่ขายในจีน ทำให้กำลังเป็นที่นิยมแทนหอมมะลิไทยอย่างรวดเร็ว และจีนกำลังขยายพื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์นี้ รวมถึงได้นำเอาเทคโนโลยีการผลิตข้าวพันธุ์นี้เข้าไปร่วมพัฒนาปลูกในประเทศต่างๆ เช่น ในกัมพูชาเพื่อส่งกลับไปขายจีน หรือส่งขายตลาดโลกด้วย ดังนั้น ในอนาคตนอกจากไทยอาจจะเสียตลาดข้าวหอมในจีนแล้ว ข้าวชนิดนี้อาจจะแย่งตลาดข้าวจากประเทศอื่นๆ อีกด้วย
ทั้งนี้ ทั้งสหรัฐและจีนล้วนเคยเป็นตลาดสำคัญที่ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิปริมาณมาก แต่ตอนนี้ไม่เพียงส่งไปได้น้อยลง ในอนาคตยังมีแนวโน้มที่ข้าวหอมจาก 2 ประเทศนี้ จะขึ้นมาเป็นคู่แข่งรายใหญ่ข้าวหอมจากไทยในตลาดโลกได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
สหพันธ์ข้าวแห่งเมียนมาร์ (Myanmar Rice Federation) รายงานว่า ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนถึงวันที่ 2 สิงหาคม ของปีงบประมาณปัจจุบัน 2561/62 (1 เมษายน 2018-31 มีนาคม 2019) เมียนมาร์ส่งออกข้าวแล้วประมาณ 833,663.82 ตัน มูลค่า 288.986 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการส่งออกข้าวสารและข้าวหักผ่านทางทะเลประมาณ 363,878.42 ตัน มูลค่า 121.121 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และส่งผ่านทางแนวชายแดนประมาณ 469,785 ตัน มูลค่า 167.865 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2555/56 มีการส่งออกข้าวประมาณ 1.423 ล้านตัน มูลค่า 551 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปีงบประมาณ 2556/67 มีการส่งออกข้าวประมาณ 1.262 ล้านตัน มูลค่า 475 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปีงบประมาณ 2014/15 มีการส่งออกข้าวประมาณ 1.84 ล้านตัน มูลค่า 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปีงบประมาณ 2558/59 มีการ ส่งออกข้าวประมาณ 1.493 ล้านตัน มูลค่า 526 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปีงบประมาณ 2559/60 มีการส่งออกข้าว ประมาณ 1.75 ล้านตัน มูลค่า 553 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปีงบประมาณ 2560/61 มีการส่งออกข้าวประมาณ 3.576 ล้านตัน มูลค่า 1,136 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสมาพันธ์ข้าวแห่งเมียนมาร์ (Myanmar Rice Federation) คาดว่า ภายในระยะเวลา 3 ปี เมียนมาร์จะส่งออกข้าวได้ถึง 4 ล้านตัน มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในปีงบประมาณ 2555/56 มีการส่งออกข้าวผ่านทางชายแดนคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของการ ส่งออกทั้งหมด ปีงบประมาณ 2556/67 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 72 ปีงบประมาณ 2557/58 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 77 ปีงบประมาณ 2558/59 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 82 และปีงบประมาณ 2559/60 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 72
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร