สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 14, 2018 14:02 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 7 - 13 ก.ย. 61

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด 10 โครงการ ดังนี้

(1) ด้านการผลิต* ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) 2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง 4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming) 5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ 6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร และ 7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง

(2) ด้านการตลาด มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และ 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,243 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,186 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.37

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,490 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,500 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.13

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,090 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,750 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,135 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,915 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,136 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,937 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.08 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 22 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,107 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 3 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 391 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,717 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 3 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,107 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 3 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.5242

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวขาว 5% ในสัปดาห์ที่ผ่านปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ตันละ 397-403 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากตันละ 395-400 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่อุปทานข้าวในตลาดอยู่ในภาวะค่อนข้างตึงตัวจากการเกิด น้ำท่วมและฝนตกในพื้นที่เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง (the Mekong Delta) ประกอบกับมีข่าวว่า ฟิลิปปินส์จะประมูลซื้อข้าวอีก 250,000 ตัน และข่าวที่ประเทศอียิปต์สนใจจะซื้อข้าวจากเวียดนามเมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่วงการค้าคาดว่าการเพาะปลูกในฤดูถัดไปคือฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาว (the autumn-winter crop) ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงมีพื้นที่ลดลง เหลือเพียงครึ่งหนึ่งของพื้นที่เพาะปลูกในฤดูการผลิตฤดูร้อน (The summer-autumn crop) ที่เพิ่งมีการเก็บเกี่ยวไป เนื่องจากประสบกับภาวะน้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูก

สำนักงานศุลกากร (General Department of Vietnam Customs) รายงานว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้(มกราคม-สิงหาคม) เวียดนามส่งออกข้าวแล้วประมาณ 4.5 ล้านตัน โดยปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วง 8 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการส่งออกข้าวประมาณ 606,500 ตัน ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับจำนวน 646,239 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the General Statistics Office; GSO) รายงานว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-สิงหาคม) เวียดนามส่งออกข้าวแล้วประมาณ 4.43 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 2.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 และร้อยละ 23.6 เมื่อเทียบกับในช่วง 8 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา โดยในเดือนสิงหาคมมีการส่งออกข้าวประมาณ 500,000 ตัน มูลค่าประมาณ 236 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงเกษตร (the Ministry of Agriculture and Rural Development) คาดว่าสถานการณ์ส่งออกข้าวในช่วงที่เหลือของปีนี้จะยังคงสดใสจากการที่คาดว่าหลายประเทศจะมีความต้องการนำเข้าข้าวมากขึ้น เช่น ประเทศจีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อิรัก รวมทั้งประเทศในแถบแอฟริกา โดยในส่วนของประเทศฟิลิปปินส์คาดว่าจะนำเข้าประมาณ 500,000-800,000 ตัน เพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง

ขณะเดียวกันผู้ส่งออกกำลังมองหาตลาดส่งออกข้าวเหนียวแห่งใหม่เพื่อลดการพึ่งพาตลาดจีน เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งการที่เวียดนามส่งออกข้าวเหนียวไปยังตลาดอื่นได้ส่งผลให้ราคาข้าวเหนียวขยับสูงขึ้นจากตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตันละ 440 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มีรายงานว่าเพื่อสนับสนุนการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ สถานประกอบการส่งออกข้าวของเวียดนามจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าประเภทอาหาร รวมถึงการดำเนินการค้าอย่างเป็นทางการแทนการค้าตามแถบชายแดน

ตามที่กรมการแปรรูปสินค้าเกษตรและการพัฒนาตลาด กล่าวว่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2560

การส่งออกข้าวของเวียดนามในช่วง 7 เดือนแรกของปี2561 มีปริมาณประมาณ 3.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 และมีมูลค่าการส่งออกข้าวประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2

ทั้งนี้ ประเทศจีนเป็นผู้นำเข้าข้าวจากเวียดนามรายใหญ่ที่สุด (ประมาณ 891,000 ตัน โดยส่วนใหญ่เป็นข้าวเหนียว) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.85 รองลงมา ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซียร้อยละ 18.2 และประเทศฟิลิปปินส์ร้อยละ 10.4 อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนมีปริมาณลดลงร้อยละ 27.7 และมูลค่าการส่งออกข้าวลดลงร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2560 โดยในเดือนกรกฎาคม 2561 ประเทศจีนได้ปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าข้าวจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงข้าวเหนียวเป็นร้อยละ 50 จากเดิมร้อยละ 5 ซึ่งส่งผลให้การส่งออกข้าวของเวียดนามลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้เหตุผลอีกประการหนึ่ง คือ การควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น โดยหน่วยงานของประเทศจีนซึ่งได้เพิ่มมาตรฐานการกักกันสินค้าทางการเกษตรสำหรับผู้ส่งออก

นาง Nguyen Thi Mai Linh อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามเผยว่า ผู้ส่งออกข้าวกำลังพบกับปัญหาใหญ่ หลังจากที่จีนปรับขึ้นอัตราภาษีการนำเข้าข้าวจากประเทศสมาชิกอาเซียน

ขณะที่ผู้ประกอบการ กล่าวว่า ไม่มียอดการสั่งซื้อข้าวเหนียวใหม่มีเพียงการส่งออกตามการสั่งซื้อเดิมโดยเรียกร้องให้เกษตรกรลดการเพาะปลูกข้าวเหนียวและเปลี่ยนไปเพาะปลูกข้าวพันธุ์อื่นแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาประเทศจีนมากเกินไป เนื่องจากในปัจจุบันข้าวเหนียวมากกว่าร้อยละ 80 ถูกส่งออกไปยังประเทศจีน

ผู้ส่งออกข้าวรายหนึ่ง กล่าวว่า ประเทศเวียดนามและจีนมีชายแดนติดต่อกันยาว และมีการส่งออกข้าวจำนวนมากผ่านชายแดนมาเป็นเวลานาน แต่ในขณะนี้ประเทศจีนต้องการที่จะควบคุมการค้าแถบชายแดน เพื่อจัดการด้านคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการขจัดสินค้าเลี่ยงภาษีและให้ผู้นำเข้าสินค้าทำการนำเข้าสินค้าตามรูปแบบอย่างเป็นทางการ ดังนั้น เพื่อรักษาตลาดการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีน ผู้ประกอบการส่งออกข้าวของเวียดนามจึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับของจีน แต่ในขณะเดียวกัน ควรที่จะกระจายการส่งออกข้าวไปยังตลาดอื่นๆ ด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาตลาดการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนมากเกินไป

ทั้งนี้ เพื่อช่วยส่งเสริมการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้เชิญผู้นำเข้าข้าวจากประเทศจีน 15 ราย มาหารือเกี่ยวกับการส่งออกข้าวโดยตรงในเร็วๆน

องค์การเกษตรและอาหารแห่งชาติ (The UN's Food and Agriculture Organization; FAO) พยากรณ์ว่าในปี 2561 นี้เวียดนามจะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 44.15 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับจำนวน 42.839 ล้านตัน ในปี 2560 โดยในฤดูการผลิตหลัก (winter/spring season paddy crop) (มีผลผลิตประมาณร้อยละ 45 ของผลผลิตทั้งหมด) ได้มีการเก็บเกี่ยวไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่ามีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 20.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย และมีน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ส่วนในฤดูการผลิตรอง (summer/autumn paddy crop) (มีผลผลิตประมาณร้อยละ 35 ของผลผลิตทั้งหมด) มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 11.875 ล้านไร่ ซึ่งแล้วเสร็จไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และฤดูการผลิตรอง(the minor winter (10th month) crop) (มีผลผลิตประมาณร้อยละ 20 ของผลผลิตทั้งหมด) กำลังอยู่ในช่วงเพาะปลูก ซึ่งเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 8.125 ล้านไร่

ทั้งนี้ FAO คาดว่าในปี 2561 นี้ เวียดนามจะส่งออกข้าวประมาณ 7.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า บริษัท Vietnam Southern Food Corporation (Vinafood 2) กำลังขอการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นเพื่อจำกัดสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติเป็นร้อยละ 23 ขณะที่การถือครองหุ้นของรัฐบาลเวียดนามลดลงเหลือร้อยละ 51.43 หลังจากที่บริษัทได้ขายหุ้นจำนวนร้อยละ 23.57 ให้กับประชาชนและ พนักงาน และได้ออกหุ้นเสนอขายในสัดส่วนร้อยละ 25 ให้แก่นักลงทุนที่ไม่มีชื่อในประเทศ

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า การประมูลขายข้าวจากสต็อกของรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ศูนย์การค้าธัญพืชแห่งชาติ (the National Grain Trade Center) สามารถระบายข้าวได้ 23,832 ตัน (คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 3.35 จากที่นำมาประมูลทั้งหมดประมาณ 0.711 ล้านตัน) โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,669 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 389.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ศูนย์การค้าธัญพืชแห่งชาติสามารถระบายข้าวได้ 30,798 ตัน (คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 3.13 จากที่นำมาประมูลทั้งหมดประมาณ 0.984 ล้านตัน) โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,009 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 305.79 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ญี่ปุ่น

กระทรวงเกษตร (Ministry of Agriculture, Forests and Fisheries; MAFF) ประกาศเปิดประมูลนำเข้าข้าวแบบ MA (ordinary international tender) ในวันที่ 14 กันยายน 2561 นี้ มีกำหนดส่งมอบระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม-10 ธันวาคม 2561 โดยชนิดข้าวที่ประมูลประกอบด้วย ข้าวสารเมล็ดยาว (non-glutinous long grain) จากประเทศใด

ก็ได้ (Global tender) จำนวน 4 ล็อตๆ ละ 7,000 ตัน กำหนดส่งมอบระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม- 25 พฤศจิกายน 2561 และระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน-10 ธันวาคม 2561 และข้าวเมล็ดกลางของสหรัฐฯ (non-glutinous medium grain) จำนวน 12,000 ตัน ส่งมอบระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม-20 พฤศจิกายน 2561

นอกจากนี้ยังได้ประกาศเปิดประมูลนำเข้าข้าวแบบ SBS (Simultaneous Buy and Sell) ครั้งแรกของ ปีงบประมาณ 2562 (เมษายน 2561-มีนาคม 2562) ในวันที่ 26 กันยายน 2561 นี้จำนวน 25,000 ตัน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ