สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 21 - 27 ก.ย. 61
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด 10 โครงการ ดังนี้
(1) ด้านการผลิต* ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) 2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง 4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming) 5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ 6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร และ 7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ
- มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว
2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และ 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
- มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการ นบข. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก
(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น
(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,161 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,268 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.70
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,550 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,556 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.08
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,090 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,750 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,117 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,952 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,142 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,892 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.18 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 940 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 408 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,132 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 406 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,116 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.49 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 16 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 396 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,746 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 394 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,728 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.50 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 14 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 408 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,132 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 406 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,116 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.49 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 16 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.1865
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า กรมการค้าต่างประเทศสามารถตกลงราคาขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ปี 2558 งวดที่ 6 ปริมาณ 1 แสนตัน กับ COFCO ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนได้แล้ว หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ชะลอการนำเข้าข้าวในช่วงกลางปีที่ผ่านมา เนื่องจากจีนมีผลผลิตข้าวปริมาณมาก ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าข้าวในตลาดจีนมีน้อย ซึ่งการส่งมอบข้าวงวดที่ 6 เป็นชนิดข้าว 5% ฤดูกาลผลิตใหม่มีกำหนดส่งมอบปลายเดือนกันยายน – ตุลาคมนี้
ทั้งนี้ ถือเป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรชาวนาและตลาดข้าวไทย ที่มีคำสั่งซื้อปริมาณมากรองรับผลผลิตตั้งแต่ช่วงต้นฤดูนาปีที่ข้าวไทยเริ่มทยอยออกสู่ตลาด เนื่องจากผู้ส่งออกจะต้องไปรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา เพื่อส่งมอบภายใต้สัญญาดังกล่าว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การตกลงซื้อข้าวดังกล่าว ยังเป็นสัญญาณเชิงบวกที่แสดงให้เห็นว่า ตลาดจีนมีความต้องการนำเข้าข้าวไทย และอาจมีคำสั่งซื้อเพิ่มเติมอีกภายในปี 2561 โดยในช่วงที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศได้ส่งมอบข้าวให้ COFCO ภายใต้สัญญาดังกล่าวแล้ว 5 งวด ปริมาณรวม 5 แสนตัน และจะเร่งเจรจาให้รัฐบาลจีนตกลงราคาและนำเข้าข้าวที่เหลืออีก 4 แสนตัน เพื่อให้ครบปริมาณ 1 ล้านตัน ตามสัญญาโดยเร็ว
สำหรับการหาตลาดรองรับผลผลิตข้าวนาปีที่กำลังออกสู่ตลาดนั้น ได้เร่งเดินหน้าผลักดันการส่งออกข้าวไทยในช่วงต้นฤดูอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้าวคุณภาพดีของไทยในออสเตรเลีย เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าว กข 43 รวมถึงผลิตภัณฑ์นวัตกรรมข้าว และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า China – ASEAN Expo ครั้งที่ 15 ที่เมืองหนานหนิงของจีน กระทรวงมั่นใจว่าการส่งออกข้าวของไทยในปีนี้จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 11 ล้านตัน ได้อย่างแน่นอน ซึ่งดูได้จากสถิติการส่งออกข้าวล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 21 กันยายน 2561 ที่ส่งออกแล้ว 8.22 ล้านตัน มูลค่า 134,840 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.93 และร้อยละ 13.57 ตามลำดับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจระบุว่า รัฐบาลอินโดนีเซียได้ยกเลิกการนำเข้าข้าวจำนวน 600,000 ตันที่เหลือ หลังจากเมื่อเดือนสิงหาคมมีการนำเข้าแล้วประมาณ 1.4 ล้านตัน จากแผนที่วางไว้ว่าจะนำเข้า 2 ล้านตัน ในปีนี้ เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกข้าวไม่สามารถที่จะส่งมอบข้าวได้ตามตารางเวลาที่กำหนดไว้
ก่อนหน้านี้มีการโต้แย้งกันระหว่างผู้บริหารของหน่วยงาน Bulog (state-owned logistics company) กับรัฐมนตรีกระทรวงการค้าเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการนำเข้าข้าว ซึ่ง Bulog ระบุว่า อินโดนีเซียไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าข้าวไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2562 โดยก่อนหน้านี้ Bulog รายงานว่า ขณะนี้ Bulog มีสต็อกข้าวประมาณ 2.4 ล้านตัน โดยข้าวประมาณ 400,000 ตัน จะส่งมอบประมาณเดือนตุลาคม ซึ่งจะทำให้ในช่วงสิ้นปีนี้ Bulog มีสต็อกข้าวที่ต้องบริหารจัดการรวมประมาณ 3 ล้านตัน เนื่องจากในแต่ละวัน Bulog ดำเนินการจัดหาข้าวเปลือกจากเกษตรกรในประเทศ วันละประมาณ 4,000 ตันด้วย
เมื่อสัปดาห์ก่อน กรมการค้าต่างประเทศของอินโดนีเซียระบุว่า การนำเข้าข้าวจากอินเดียและปากีสถานประสบปัญหาล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากสภาพอากาศเลวร้ายที่ประเทศต้นทาง ทำให้การส่งมอบข้าวประมาณ 440,000 ตัน จากสองประเทศล่าช้ากว่ากำหนด จึงจำเป็นต้องมีการเสนอให้ขยายระยะเวลาการรับมอบออกไปจากเดิมที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ไนจีเรียคาดว่าปี 2561 ผลผลิตข้าวจะลดลง เนื่องจากได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญ โดยสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า สมาคมชาวนาไนจีเรีย (the Rice Farmers Association of Nigeria) เปิดเผยว่า มีพื้นที่ได้รับผลกระทบประมาณ 131,250 ไร่ คาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกในรัฐ the Kebbi state เสียหายประมาณ 168,000 ตัน ขณะที่รัฐอื่นๆ เช่น Niger, Kano และ Katsina ก็คาดว่าได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้วไนจีเรียมีผลผลิตข้าวประมาณ 3.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่าน มา ผลผลิตข้าวในประเทศเพียงพอกับความต้องการบริโภคมากกว่าครึ่งหนึ่งในแต่ละปี ซึ่งในปี 2560/61 มีการประเมินว่าความต้องการบริโภคข้าวอยู่ที่ประมาณ 6.7 ล้านตัน
สำหรับปีการผลิต 2561/62 นี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดว่า ไนจีเรียจะนำเข้าข้าวประมาณ 2.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560/61 ที่คาดว่าจะนำเข้าประมาณ 2.6 ล้านตัน
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร